สระแก้ว ส่งเสริม “แปลงใหญ่อ้อยอัจฉริยะ” ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตอบโจทย์ตลาด

เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้จำนวนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยเกิดการรวมกลุ่มกันผลิตในลักษณะ “เกษตรแปลงใหญ่” เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มีการบริหารจัดการแปลงที่ดี พัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งยกระดับแปลงใหญ่ด้วยนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ พร้อมเชื่อมโยงตลาด เพิ่มศักยภาพแข่งขันทางการตลาดอย่างยั่งยืน

จังหวัดสระแก้ว จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีฤดูกาลผลิตใหม่ 2564

ปัจจุบัน โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงาน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมการข้าว

ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ดำเนินงานผ่านการประชุมเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ แก่เกษตรกร มอบปัจจัยการผลิต พัฒนาผู้จัดการแปลง ทำหน้าที่ติดตามและ ประเมินผลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ  โดยใช้ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก.)เป็นจุดเชื่อมโยงในการถ่ายทอดความรู้ ระหว่างกลุ่มเกษตรกร

อ้อยแปลงใหญ่ คือคำตอบในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

“อ้อย” พืชเศรษฐกิจของสระแก้ว

อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสระแก้ว มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 11,205 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 314,080ไร่ ผลผลิต 3,372,329 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 10,737 กิโลกรัม/ไร่ (กรกฎาคม 2564) พื้นที่ปลูกอ้อยครอบคลุมพื้นที่อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอเขาฉกรรจ์ และอำเภอวังน้ำเย็น

เกษตรกรชาวไร่อ้อยโรงงานในจังหวัดสระแก้วเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขายโรงงานน้ำตาล 2 แห่งในอำเภอวังสมบูรณ์ และ  อำเภอวัฒนานคร ในช่วงฤดูหีบอ้อย 4 เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคมของทุกปี ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตอ้อยโรงงานมักประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย รวมทั้งขาดแคลนเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัยในการตัดอ้อย จึงใช้วิธีเผาต้นอ้อยเพื่อให้แรงงานสามารถตัดอ้อยได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป

อ้อยแปลงใหญ่ให้ผลผลิตที่ดี เกษตรกรก็มีความสุข

การเผาต้นอ้อย เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรมในแหล่งปลูกอ้อย ทำให้เกษตรกรมีภาระต้นทุนการผลิตสูง แต่ได้ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้แรงงานคนในขั้นตอนการเตรียมดินและการเพาะปลูกพืชมักประสบปัญหาความล่าช้าในการปลูกไม่ทันฤดูกาล ขาดความแม่นยำในการเพาะปลูก ทำให้พืชเติบโตไม่สม่ำเสมอกัน มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูง

สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิตในระยะยาว จึงสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อยรวมตัวกันในรูปแบบการผลิตอ้อยแปลงใหญ่ และนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลมาใช้แก้ปัญหามลพิษ ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตั้งแต่การเตรียมดิน ปลูก บำรุงรักษาอ้อย การบำรุงตออ้อย เก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยรถตัดอ้อย เพื่อจัดการเศษวัสดุด้วยเครื่องม้วนใบอ้อย “Zero Waste” นำไปขายเป็นเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง

เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะสำหรับอ้อยแปลงใหญ่

เมื่อกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่อ้อยอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาใช้งานสามารถทุ่นแรงในการบริหารจัดการไร่อ้อย ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน จนถึงการเก็บเกี่ยว โดยใช้รถแทรกเตอร์ติดริปเปอร์ ทำการระเบิดดินดานลึกกว่า 40 เซนติเมตร เปิดช่องให้น้ำฝนเข้าไปกักเก็บใต้ดินได้สะดวก นอกจากนี้ การใช้ผานพรวน ไถกลบพืชปุ๋ยสดและวัชพืชให้อยู่ใต้ผิวดิน ช่วยเร่งอัตราย่อยสลายและปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย เมื่อใช้โรตารี่ ปั่นดินให้ละเอียด เพื่อปิดผิวหน้าดิน ช่วยลดการสูญเสียความชื้นใต้ดิน

นอกจากนี้ เมื่อนำรถแทรกเตอร์ติดอุปกรณ์เครื่องฝังปุ๋ยแทนการหว่านปุ๋ย สามารถลดการสูญเสียปุ๋ยจากความร้อนและการพัดพาของน้ำ ทำให้ต้นอ้อยได้รับปุ๋ยอย่างทั่วถึง และดูแลกำจัดวัชพืชในไร่อ้อยได้ง่ายขึ้นโดยใช้รถแทรกเตอร์ติดอุปกรณ์โรตารี่ ปั่นดินและกำจัดวัชพืชในช่องว่างระหว่างแถวอ้อย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรใช้เครื่องตัดอ้อย ทดแทนแรงงานตัดอ้อย ลดปัญหาการเผาตอซังไปพร้อมๆ กัน

ใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ ลดการเผา

ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว ได้จัดงานเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะเพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ถึงการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกิดความแม่นยำ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสูงตรงกับความต้องการของตลาด กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน ปลูก และบำรุงรักษาตออ้อย การตัดอ้อยสดด้วยรถตัดอ้อย รวมทั้งการจัดการเศษวัสดุด้วยเครื่องม้วนใบอ้อย การพ่นสารป้องกันและกำจัดวัชพืชด้วยโดรน

กลุ่มวิสาหกกิจชุมชนปลูกอ้อยแปลงบ้านวังรี ตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบของการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเพาะปลูก โดยได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดสระแก้ว สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในฤดูการเก็บเกี่ยวได้แล้ว ยังเพิ่มปริมาณการตัดอ้อยสด ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีการบริหารจัดการแปลงที่ดี ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะทำไร่อ้อยปลอดการเผา ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

เตือนภัย จักจั่นระบาดในไร่อ้อย

ราคาเฉลี่ยอ้อยโรงงานจังหวัดสระแก้ว (30 มิถุนายน 2564)

ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดของจักจั่นในไร่อ้อยโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกอ้อยต่อเนื่อง ทั้งนี้ วงจรชีวิตจักจั่น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข่ โดยตัวเมียจะเจาะเส้นกลางใบอ้อยเป็นรูเล็กๆ เพื่อวางไข่ มักพบที่ใบแก่สีเขียว ประมาณใบที่ 3-5 นับจากใบล่าง จากนั้นเส้นกลางใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อนทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน โดยไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 1-2 เดือน ระยะตัวอ่อนของจักจั่นในอ้อย มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัย ต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก เมื่อลอกคราบ ปีกจะค่อยๆ ยาวออกมา

สำหรับระยะตัวอ่อน เป็นระยะที่สร้างความเสียหายให้กับอ้อย โดยตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึง 2.5 เมตร คอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากอ้อย ตัวอ่อนจะมีขาคู่หน้าขนาดใหญ่สำหรับไว้ขุดดิน ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในดิน ใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและทำความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยได้มาก

ส่วนระยะตัวเต็มวัย เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่จะขุดรูโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินและจะไต่ขึ้นมาบนลำต้นอ้อยเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม โดยระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ดังนั้น วงจรชีวิตโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี หรืออาจมากกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

วงจรชีวิตจักจั่น
จักจั่นไต่ขึ้นมาบนลำต้นอ้อยเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำให้เกษตรกรดำเนินป้องกันกำจัดจักจั่นในอ้อย โดยหมั่นสำรวจแปลงอ้อย คอยสังเกตคราบของจักจั่นบนต้นอ้อยหรือบนพื้นดิน และตัวเต็มวัยที่เกาะบนต้นอ้อย ในพื้นที่ที่มีการระบาดให้ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การขุด หรือไถพรวนเพื่อจับตัวอ่อนในดิน หรือการเก็บตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน หรือใช้วิธีตัดใบอ้อยที่พบกลุ่มไข่ของจักจั่นไปทำลายนอกแปลง

นอกจากนี้ ยังชักชวนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรชีวิตของจักจั่นในแปลงเพาะปลูก เช่น ปลูกข้าวสลับกับอ้อยใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหางหนีบ โดยปล่อยแมลงหางหนีบ จำนวน 500 ตัว ต่อไร่ ก่อนการระบาดของจักจั่น 1 เดือน เพื่อกำจัดตัวอ่อนระยะฟักจากไข่ จับตัวเต็มวัยเพื่อนำไปทำลายหรือประกอบอาหาร เพื่อกำจัดจักจั่นตัวเต็มวัยที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณแมลงที่จะระบาดในฤดูกาลถัดไปได้

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว กรมส่งเสริมการเกษตร