ผู้เขียน | จอมทอง ชัยภักดี |
---|---|
เผยแพร่ |
“ปลาเค็ม” เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาการแปรรูปสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยลักษณะของพื้นที่อำเภอสิเกา ที่มีอาณาเขตติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน ประชาชนบางส่วนจึงประกอบอาชีพประมง ซึ่งการออกหาปลาของชาวประมงในแต่ละครั้งจะได้ปลาจำนวนมาก โดยปลาบางส่วนจะส่งจำหน่ายไปยังแพปลาของชุมชน แล้วจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปจำหน่ายต่อ ส่วนปลาที่ราคาไม่ค่อยดี ชาวบ้านจะนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็มเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สำหรับไว้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายสร้างรายได้ เช่นเดียวกับ คุณศุภวรรณ อั้นเต้ง ประธานวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลแปรรูปปลาเค็มกางมุ้งอำเภอสิเกา ซึ่งยึดอาชีพการแปรรูปปลาเค็มกางมุ้งจำหน่ายสร้างรายได้จนเป็นที่รู้จักและเป็นสินค้าเด่นของจังหวัดตรัง
คุณศุภวรรณ เล่าย้อนให้ฟังว่า เดิมตนเองนั้นยึดอาชีพแม่ค้าขายอาหารทะเลอยู่ในตลาดสดเทศบาลสิเกา โดยรับซื้อมาจากชาวประมงในชุมชน ซึ่งเป็นอาหารทะเลสด จึงมีแนวคิดจะเพิ่มสินค้าจำหน่ายในร้านของตนเองจากวัตถุดิบที่มี และบวกกับความรู้ภูมิปัญญาในด้านของการทำปลาเค็ม จึงรวมกลุ่มกับสมาชิกเริ่มทดลองแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาเค็ม และกุ้งแห้ง แต่เป็นวิธีการผลิตแบบเดิมๆ โดยการตากแดดในที่โล่งแจ้ง ซึ่งมีปัญหาแมลงวันมาตอมและฝุ่น ทำให้ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย อีกทั้งไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน จึงเกิดแนวคิดปรับปรุงการผลิตแบบเดิมแล้วนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เกิดเป็น “ปลาเค็มกางมุ้ง” ที่มีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2542 ทดลองทำจากปลาตัวเล็กๆ ก่อน เช่น ปลาตาโต ปลาไส้ตัน ปลาจวด แล้วพัฒนานำปลาขนาดใหญ่มาแปรรูปเป็นปลาเค็มและปลาแดดเดียวเพิ่มเติม
ที่มาของปลาเค็มกางมุ้ง เกิดจากแนวคิดการใช้มุ้งหรือตาข่ายช่องขนาดเล็กมาคลุมแผงตากปลาเค็ม ต่อมาพัฒนาเป็นตู้ตากปลาเค็ม โดยปลาที่นำมาแปรรูปส่วนใหญ่จะใช้ปลาสีเสียด ปลาอินทรี ปลาตาโต ปลากุเลา ปลาจวด เป็นต้น ซึ่งรับซื้อมาจากชาวประมงในชุมชน มีน้ำหนักเฉลี่ย 2-14 กิโลกรัมต่อตัว โดยปลาเหล่านี้มีราคาค่อนข้างถูก แต่เมื่อนำมาแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
คุณศุภวรรณเผยถึงขั้นตอนพร้อมอธิบายรายละเอียดการผลิต โดยเริ่มจากการเตรียมส่วนผสมในอัตราส่วนปลาสด 10 กิโลกรัมต่อเกลือละเอียด 1 กิโลกรัม จากนั้นเริ่มล้างปลาสดด้วยน้ำให้สะอาด ขอดเกล็ดออกจนหมด แล้วควักเอาไส้พุงปลาออก นำไปล้างทำความสะอาดอีกครั้ง ก่อนที่จะกรีดเนื้อปลาเป็นแนวยาวตามลำตัว เพื่อให้สามารถคลุกกับเกลือได้เข้ากันดี แล้วนำไปหมักทิ้งไว้ในถังน้ำแข็งขนาดใหญ่ประมาณ 1-2 วัน ก่อนที่จะนำออกล้างด้วยน้ำเปล่า 3 น้ำ แล้วนำไปตากแดดในมุ้งขนาดใหญ่ กว้าง 2 เมตร ยาว 9 เมตร ซึ่งสามารถจุปลาได้ 200-300 กิโลกรัม เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงวันตอม ประมาณ 1-2 วัน แล้วแต่ความเข้มของแสงแดด
สำหรับการแปรรูปปลาเค็มกางมุ้งที่ผ่านมาของกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐมาโดยตลอด เช่น พัฒนาชุมชน สาธารณสุข พาณิชย์ และอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเกษตรอำเภอสิเกาได้เข้ามาส่งเสริมและแนะนำการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนชนในนาม “วิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลแปรรูปปลาเค็มกางมุ้งอำเภอสิเกา” ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 9 คน โดยมีคุณศุภวรรณเป็นประธานกลุ่ม ต่อมากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนตู้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยให้การตากปลาเค็มมีความสะดวกยิ่งขึ้นและทำได้ทุกฤดูกาลแม้กระทั่งฤดูฝน
ปลาเค็มกางมุ้งเป็นสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาว ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากองค์การอาหารและยา (อย.) และยังเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ที่สนใจ เป็นจุดเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในตำบลบ่อหิน วางจำหน่ายหน้าร้านออนไลน์ และออกงานจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทางกลุ่มเน้นการจำหน่ายออนไลน์ จัดส่งแบบแพ็กสุญญากาศ เก็บได้นาน 1-2 เดือน ในช่องแช่แข็ง โดยปลาเค็มตัวใหญ่ที่มีก้างติดเนื้อราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 250 บาท หากเป็นเนื้อล้วนกิโลกรัมละ 350-400 บาท หากเป็นปลาเค็มตัวเล็ก เช่น ปลาตาโต ปลาจวด เริ่มต้นกิโลกรัมละ 120 บาท นอกจากนั้น ยังมีกุ้งแห้งกิโลกรัมละ 1,000 บาท กะปิกิโลกรัมละ 100 บาท
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 084-293-9371 คุณศุภวรรณ อั้นเต้ง หรือเพจ “แม่จินต์ อาหารทะเลแปรรูป” และสำนักงานเกษตรอำเภอสิเกา โทร. 075-291-124
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564