หนอนหัวดำ ศัตรูตัวร้ายทำลายสวนมะพร้าว ต้องกำจัด!!

หนอนหัวดำมะพร้าว เป็นศัตรูพืชต่างถิ่นที่เข้ามาระบาดในประเทศไทย พบการระบาดครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ที่สวนมะพร้าวเกษตรกรในตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะนั้นพบการระบาดประมาณ 500 ไร่ ต่อมาเมื่อปี 2551 พบการระบาดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในปัจจุบันพบพื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำกระจายอยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัด ประมาณ 78,954 ไร่ คิดเป็น 6.36% ของพื้นที่ที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด จังหวัดที่มีพื้นที่การระบาดอันดับต้นๆ 5 จังหวัด ในขณะนี้ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ประมาณ 62,410 ไร่, จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ประมาณ 5,536 ไร่, จังหวัดชลบุรี พื้นที่ประมาณ 4,024 ไร่, จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ประมาณ 2,669 ไร่ และจังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 953 ไร่ และในขณะนี้ในเขตภาคตะวันตกยังพบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว กระจายไปยังพื้นที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดนครปฐม อีกด้วย

นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า หนอนหัวดำมะพร้าวจะเข้าทำลายมะพร้าวเฉพาะระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยเฉพาะกินผิวใบบริเวณใต้ใบย่อย จากนั้นจะถักใยแล้วนำเอามูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น สร้างเป็นอุโมงค์เป็นทางยาวตามทางใบเพื่อหุ้มลำตัวไว้ ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ โดยทั่วๆ ไปหนอนหัวดำจะทำลายใบแก่ของต้นมะพร้าว แต่ถ้าหากมีการทำลายรุนแรงจะพบว่าหนอนหัวดำยังทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าวอีกด้วย และเมื่อหนอนโตเต็มที่จะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง เพื่อเข้าดักแด้ในอุโมงค์

สำหรับวิธีการป้องกันกำจัด แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีเพิ่งเริ่มระบาด ต้องตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลาย มากกว่า 50% ของทางใบไปเผาทำลาย โดยสุมเป็นกองเล็กๆ ระหว่างต้นมะพร้าวให้กระจายไปทั่วทั้งสวน เน้นการเผาในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นเท่านั้น ถ้าสามารถทำได้เราจะได้ประโยชน์การเผาทางใบในครั้งนี้ถึง 6 อย่างด้วยกัน คือ 1. สามารถกำจัดไข่ ตัวหนอน และดักแด้ที่ติดอยู่กับทางใบ 2. ควันไฟเป็นตัวไล่แม่ผีเสื้อ หนอนหัวดำ 3. ควันไฟเป็นตัวกระตุ้นให้มะพร้าวออกจั่นได้ดี 4. ขี้เถ้าถ่านที่ได้จากการเผาจะเป็นการเพิ่มธาตุโพแทสเซียมในดิน 5. สามารถทำลายแหล่งวางไข่ของตัวแรดมะพร้าว 6. ลดการระบาดของด้วงไฟหรือด้วงงวง

ส่วนกรณีระบาดรุนแรง หากเป็นต้นมะพร้าวสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล แนะนำให้ตัดทางใบและเผาทำลายเช่นเดียวกับกรณีแรก แนะนำให้ใช้สารเคมีฉีดพ่นทางใบ โดยเลือกใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น ประกอบด้วย 1. สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร 2. สารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร 3. สารสปินโนแชด 12% SC อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร 4. สารลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ การเลือกใช้สารเคมีพ่นทางใบ ควรเลือกใช้สารฟลูเบนไดอะไมด์ หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรลเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีพิษน้อยต่อผึ้ง ส่วนสารสปินโนแชด มีพิษสูงต่อผึ้งและสารลูเฟนนูรอน ไม่ควรใช้ในแหล่งที่มีการเลี้ยงกุ้งเนื่องจากมีพิษต่อกุ้ง สำหรับต้นมะพร้าวสูงกว่า 12 เมตร ให้ใช้สารเคมีอีมาเม็กตินเบนโซเอต 1.92% EC ฉีดเข้าต้น อัตรา 30 ซีซี ต่อต้น

ขั้นตอนการฉีดสารเคมีเข้ามะพร้าว ใช้สว่าน ขนาด 5 หุน เจาะเหนือพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร เอียงทำมุม 45 องศา ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จำนวน 2 รู ให้อยู่ตรงข้ามกันและใช้หลอดฉีดยาดูดสารเคมีแบบเข้มข้นไม่ต้องผสมน้ำ ฉีดเข้าไปในรูที่เจาะไว้ รูละ 15 ซีซี แล้วปิดด้วยดินน้ำมันให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีไหลย้อนออกมา แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนขึ้นในพื้นที่ที่พบการระบาดทั้ง 29 จังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนแล้ว สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาหรือต้องการคำแนะนำ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. (035) 481-126-7 หรือศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ที่อยู่ใกล้บ้านท่าน

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน