สสก.9 พิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร รุกเกษตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมการผลิตกล้วยน้ำว้าเชิงการค้า

กล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพร้อมนำไปเป็นพันธุ์ปลูก

“กล้วยน้ำว้า” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหากย้อนดูสถิติราคาเฉลี่ยตลอดปี 2559 ที่ตลาดสี่มุมเมือง กล้วยน้ำว้าเบอร์เล็ก ราคาอยู่ที่ 16.80 บาท เบอร์กลาง 30.68 บาท และเบอร์ใหญ่ 48.22 บาท ต่อหวี โดยราคาพุ่งสูงสุดในเดือนสิงหาคม เท่ากับ 25.65 บาท 46.53 บาท และ 72.26 บาท ต่อหวี ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากโรคตายพรายและหนอนกอกล้วย ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยตากที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ราคาสูงขึ้นเป็นหวีละ 10-15 บาท ต่อหวี ปัจจุบัน เกษตรกรมีความต้องการต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าสำหรับปลูกขยายเป็นจำนวนมาก แต่กลับให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคตายพรายก่อนปลูกค่อนข้างน้อย และจะเห็นความสำคัญเมื่อกล้วยแสดงอาการของโรคแล้วซึ่งไม่ทันการณ์และแก้ไขได้ยาก

นายเกษม ไตรพิจารณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สสก.9 พิษณุโลก ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์ดีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดพิษณุโลกดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก ปี 2560 ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ทั้ง 9 อำเภอ พื้นที่รวม 209 ไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกล้วยน้ำว้าเชิงการค้า ผสมผสานตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ขับเคลื่อนในพื้นที่โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายและพื้นที่ส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (กล้วย) โดยใช้พันธุ์กล้าน้ำว้ามะลิอ่องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อมุ่งหวังแก้ปัญหาโรคตายพรายและหนอนกอกล้วยได้ในที่สุด ผลผลิตที่ได้ประมาณ 8,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

สำหรับการเตรียมการก่อนการปลูกกล้วยให้ได้ผลผลิตดีนั้น เกษตรกรจะต้องวางแผนการปลูกโดยต้องมีการคัดเลือกต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าจากต้นพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพราะเป็นต้นพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกเชิงการค้าและไม่มีโรคตายพรายและหนอนกอกล้วย จะได้ขนาดต้นและอายุที่สม่ำเสมอเจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับต้นพันธุ์ชนิดอื่น นอกจากนี้สามารถกำหนดช่วงเวลาการปลูกและกำหนดผลผลิตราคาได้ง่าย อย่างไรก็ดี เกษตรกรสามารถคัดเลือกหน่อพันธุ์ โดยขุดจากต้นแม่ที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไป หรือช่วงต้นแม่กำลังตกเครือให้ผลผลิตเพราะเป็นระยะที่กล้วยแสดงอาการของโรคตายพรายชัดเจนมากที่สุด รวมถึงต้องเตรียมวัสดุปลูกและสารชีวภัณฑ์ โดยเตรียมผลิตปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว จำนวน 1 ตัน ต่อไร่ ผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma) ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้ได้ทั้งแบบเชื้อสดผลิตโดยหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตร และสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ชอ

กรมพัฒนาที่ดิน เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตแข่งขัน ยับยั้ง และทำลายเชื้อราสาเหตุตายพรายได้ และยังเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุช่วยปรับโครงสร้างดินและส่งผลให้พืชสามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 4×4 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 100 ต้น รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อหลุม ต่อต้น และแบ่งทยอยใส่เพิ่มหลังปลูก 2-3 เดือน ต่อครั้ง อีกประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อต้น

นอกจากนี้ เกษตรกรต้องดูแลรักษาโดยการตัดแต่งหน่อและใบเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของด้วงศัตรูกล้วยในฤดูฝน ไม่ควรนำเศษซากของหน่อและใบที่ตัดแต่งแล้วสุมไว้บริเวณโคนต้นเพราะจะอับชื้นและเหมาะต่อการวางไข่ของด้วงดังกล่าว ส่วนในฤดูแล้งสามารถทำได้เพื่ออนุรักษ์น้ำในดิน แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนควรเอาออกจากกอด้วย  อุปกรณ์การเกษตรที่ใช้ในการตัดแต่งหน่อและใบสามารถกระจายเชื้อตายพรายจากต้นเป็นโรคสู่ต้นปกติได้ ส่วนการตัดแต่งใบนั้นในช่วงระยะเจริญเติบโตควรไว้ใบบนต้นอย่างน้อย 10-12 ใบ เพื่อให้กล้วยแทงปลีเร็วขึ้น เมื่อกล้วยตกเครือแล้วควรแต่งใบที่อาจเสียดสีกับผลกล้วยออกและเหลือไวเพียง 5-7 ใบก็พอ การกำจัดวัชพืช เลือกกำจัดวัชพืชโดยวิธีการพรวนดิน ควรทำภายใน 1-2 เดือนแรกหลังปลูกในขณะที่รากกล้วยยังขยายไปไม่มากนัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบรากเพราะจะทำให้กล้วยชะงักการเจริญเติบโต ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชนั้น เกษตรกรต้องคำนึงถึงชนิด อัตราความเข้มข้น และช่วงเวลาการใช้ที่ต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของสารเคมีและสารพิษตกค้างการให้ปุ๋ย หากต้องการกระตุ้นผลผลิตให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ อัตรา 100 กรัม ต่อต้น หลังปลูกติดต่อกันประมาณ 5 เดือน หรือจนกว่ากล้วยจะแทงหน่อลูก จากนั้นให้งดปุ๋ยไปจนกว่ากล้วยจะแทงปลีแล้วเปลี่ยนเป็นสูตรที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 13-13-21 เพื่อกระตุ้นการสะสมแป้งและน้ำตาลในอัตราเดียวกัน คือ 100 กรัม ต่อต้น ต่อเดือน ไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต

“จากนโยบายการทำการเกษตรด้วยการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ผลิตกล้วยน้ำว้า ที่มุ่งเน้นตั้งแต่การเตรียมการก่อนปลูก ตลอดจนการดูแลรักษาและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตกล้วยน้ำว้า เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดโรค-แมลง ที่ยั่งยืนตลอดไป” นายเกษม กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน