ยกร่าง ‘มาตรฐานข้าวสี’ ใหม่ คุมคุณภาพ-สร้างมูลค่าเพิ่ม

พาณิชย์ผนึกเกษตรยกร่างคุมเข้ม ‘มาตรฐานข้าวสี’ ใหม่ เล็งประกาศเป็นมาตรฐานบังคับเร็วๆ นี้ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มด้านผู้ส่งออก เผยควรใช้มาตรฐานสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรข้าวสีไทยขึ้นมาใหม่ โดยมีการหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องไปหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ได้ปรับปรุงให้ครอบคลุมพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Oryza sativa L. วงศ์ Gramineae หรือ Poaceae พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้าที่เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีตามพันธุกรรม และเป็นข้าวที่ผลิตในประเทศไทยสำหรับบริโภค รวมทั้งข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ที่บรรจุหีบห่อ ยกเว้นข้าวเปลือกที่อาจไม่บรรจุหีบห่อได้ โดยยกเว้นไม่คลุมข้าวก. ที่ผ่านการแต่งสี เช่น ย้อมสีด้วยดอกอัญชัน และ ข. ข้าวเปลือกและข้าวกล้องที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000, มกษ.4001 มกษ. 4004

พร้อมกำหนดคำนิยามข้าวสี แบ่งตามสภาพ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวเปลือก แบ่งตามสีเยื่อหุ้มเมล็ด เป็นสีม่วง/สีดำ เช่น พันธุ์มะลินิลสุรินทร์ พันธุ์หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวเหนียวช่อไม้ไผ่ 49 ข้าวเหนียวดำ หมอ 37 และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เช่น สังข์หยดพัทลุง พันธุ์ทับทิมชุมแพ หรือ กข.69 พันธุ์หอมกุหลาบแดง พันธุ์หอมแดง พันธุ์หอมกระดังงา 59 พันธุ์โกเมนสุรินทร์ ทั้งนี้ นิยามแบ่งตามปริมาณแอมิโรส เป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่พวกข้าวเหนียวไม่มีแอมิโรสเลย ไปจนถึงข้าวที่มีปริมาณแอมิโรสเกิน 25% พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพ การบรรจุหีบห่อ การแสดงฉลากและเครื่องหมาย สารปนเปื้อน สารพิษตกค้าง สุขลักษณะ วิธีการวิเคราะห์และซักตัวอย่างข้าวด้วย

นางสาวณมาพร อัตถวิโรจน์ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การยกร่างนี้เป็นผลจากที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้เห็นชอบให้มีการทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับสินค้าข้าว เมื่อปี 2558 ยังไม่ครอบคลุมข้าวสีที่ปัจจุบันมีการผลิตและส่งออกมากขึ้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรให้ยกร่างมาตรฐานข้าวสีไทยขึ้นเพื่อยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวและกำหนดเกณฑ์อ้างอิงการค้า

โดย มกอช.ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ มีการสุ่มตัวอย่างกลุ่มข้าวสีแดง สีม่วง ต้องปลูกและผลิตในไทย ไม่มีกลิ่น ปลอดภัยต่อการบริโภค และได้นำร่องดังกล่าวหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ส่งออกข้าว รวมถึงเกษตรกร ตอนนี้อยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเห็นชอบและจะออกประกาศเป็นมาตรฐานบังคับเร็วๆ นี้

ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า มาตรฐานข้าวสีควรกำหนดเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจก่อน เพื่อให้ผู้ซื้อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงสำหรับตัดสินใจ โดยกระบวนการใช้ควรต้องมีการนำเสนอขายพร้อมกับสินค้าตัวอย่างประกอบ เพราะขณะนี้มีสายพันธุ์ข้าวสีจำนวนมาก และการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานเท่ากันในแต่ละฤดูกาลผลิตคือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีการสียังไม่สม่ำเสมอระหว่างฤดูนาปรัง และนาปี หากกำหนดมาตรฐานบังคับอาจกระทบการส่งออกได้

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวสีมีสัดส่วนเพียง 0.01% เทียบกับการส่งออกข้าวทั้งประเทศ โดยปี 2559 มีการส่งออกข้าวกล้องแดง ปริมาณ 8,710 ตัน ข้าวเหนียวดำ 2,187 ตัน ข้าวกล้องดำ 1,324 ตัน จากปี 2558 ที่ทุกชนิดส่งออก รวม 10,130 ตัน

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ