ปศุสัตว์แพร่ปลื้มความสำเร็จ “ปศุสัตว์ OK” ดันเถ้าแก่เล็กตู้หมู-CP ต้นแบบสร้างอาหารปลอดภัยสู่ชุมชน

SONY DSC

(จังหวัดแพร่) ปศุสัตว์จังหวัดแพร่มอบตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK” แก่ผู้ประกอบการเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน-CP จำนวน 10 รายนำร่อง ที่ร่วมกันพัฒนาสถานที่จัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัยตามมาตรฐานขอกรมปศุสัตว์ พร้อมชื่นชมที่ร่วมกันยกระดับความปลอดภัยในอาหารให้กับประชาชนชาวแพร่อย่างเป็นรูปธรรม

นายราชันย์ ภุมมะภูติปศุสัตว์จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ตระหนักถึงความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภค จึงมุ่งดำเนินโครงการเนื้อสัตว์ปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค หรือ ปศุสัตว์ OK ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความอย่างยั่งยืน โดยกรมปศุสัตว์ได้ตั้งเป้ารับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปศุสัตว์ OK ให้ได้ 4,000 แห่งภายในสิ้นปี 2560 นี้ ปศุสัตว์จังหวัดแพร่รับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเร่งรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันระบบการผลิตเนื้อสัตว์ที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง พร้อมเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ทั้งในตลาดสด และผู้จำหน่ายในลักษณะตู้หมูชุมชน ได้หันมาร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาสถานที่จัดจำหน่ายของตนเองให้มีมาตรฐาน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เก็บเนื้อสัตว์รอจำหน่ายในตู้แช่เย็น เพื่อคงคุณค่าและความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์จนถึงมือผู้บริโภค เพราะจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะถือเป็นปลายน้ำก่อนไปสู่ผู้บริโภค เมื่อจุดจำหน่ายได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าว เท่ากับเป็นการการันตีว่าตลอดการผลิตจนกระทั่งได้เนื้อสัตว์มาจำหน่ายนั้น มีการการเฝ้าระวังสารตกค้าง อาทิ สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนเร่งโต อย่างเข้มงวด และมีการตรวจสอบจุลินทรีย์ที่จุดจำหน่ายเป็นประจำ

SONY DSC

“เนื้อสัตว์ปลอดภัยต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เลี้ยงในฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย และสถานที่จำหน่ายสะอาด ดังเช่นเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน-CP ที่ซีพีเอฟส่งเสริมให้ผู้ประกอบรายย่อยได้มีอาชีพมั่นคงและเป็นต้นแบบของการสนับสนุนการส่งมอบอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอยู่แล้ว เมื่อเข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเมื่อเลือกซื้อสินค้าจากร้านที่ได้รับการรับรอง จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัย ปลอดสาร ถือเป็นความร่วมมืออันดีของทุกฝ่ายเพื่อประชาชนชาวแพร่” นายราชันย์ กล่าว

ด้าน นายวิรัตน์ ตันหยงรองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสุกรภาคเหนือตอนบน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวเสริมว่า โครงการปศุสัตว์ OK มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อตรวจสอบ และรับรองกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการสร้างผู้ประกอบการเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน-CP ด้วยการสนับสนุนให้คนในชุมชนได้ร่วมกันสร้างช่องทางการจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย จากฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด มีการดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่สบายปลอดจากโรค และไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด จึงได้หมูที่มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

SONY DSC

ส่วน นายพยุงเกียร์ติ ปันศิล อายุ 60 ปี เถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ กล่าวว่า เดิมประกอบกิจการร้านขายของชำและเถ้าแก่เล็กไก่ย่างห้าดาว เมื่อเห็นโครงการเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน ก็มีความสนใจมากเพราะร้านมีมาตรฐาน ซึ่งตรงกับความต้องการของตนเองที่อยากขายสินค้าที่มีคุณภาพ จึงเข้าร่วมโครงการกับซีพีเอฟมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมาผู้บริโภคให้ความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดี เพราะมีความมั่นใจในสินค้า และสถานที่จำหน่ายและระบบการจัดจำหน่ายที่มีมาตรฐานทั้งของบริษัทและปศุสัตว์ OK ทำให้ผู้บริโภคยิ่งเข้ามาเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเก็บเนื้อสัตว์ในตู้แช่เย็นตลอดเวลา ทำให้เนื้อสัตว์มีความใหม่ สด สะอาด ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเพื่อนๆในชุมชนได้เลือกซื้อเนื้อสัตว์สะดวกขึ้นและสามารถเข้ามาเลือกซื้อได้ตลอดเวลาไม่ต้องซื้อจำนวนมากไปเก็บไว้ที่บ้านให้ยุ่งยากเหมือนในอดีต

ขณะที่ นางบังอร พรินทรากูล อายุ 52 ปี เถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ บอกว่า ก่อนนี้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ข้าวซอย และน้ำเงี้ยว รวมถึงเป็นเถ้าแก่เล็กไก่ย่างห้าดาวอยู่แล้ว แต่พบว่าในชุมชนที่มีประชากรอยู่หนาแน่นยังมีความต้องการเรื่องเนื้อสัตว์อีก เนื่องจากแหล่งจำหน่ายอยู่ห่างไกลจากชุมชน จึงมีแนวคิดหารายได้เสริมด้วยการจำหน่ายเนื้อสัตว์เพิ่มเติมเพราะยังมีพื้นที่ร้านที่ว่างอยู่ เมื่อได้รับคำแนะนำจากพนักงานของซีพีเอฟเรื่องตู้หมูชุมชน จึงตัดสินใจร่วมโครงการ จากการจำหน่ายมาประมาณ 5 เดือน สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น และร้านเป็นที่รู้จักว่า จำหน่ายเนื้อหมูชำแหละที่สด สะอาด ปลอดภัย และยังได้รับตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ด้วย ตนเองรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนสนับสนุนให้ผู้บริโภคในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงอาหารคุณภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น