ม.วลัยลักษณ์ พัฒนา “ไก่ลิกอร์” ลูกผสมไก่พื้นเมือง 50% เลี้ยงง่าย โตเร็ว

เกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ และประมง แต่อาชีพเหล่านี้มีความผันผวนทางรายได้เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ฤดูกาล ราคาตลาด ปริมาณผลผลิต ทำให้เกษตรกรขาดรายได้บางช่วง ขณะที่ราคาไก่พื้นเมืองมีชีวิตมีความผันผวนต่ำ โดยราคาไก่พื้นเมืองน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม ประมาณ 70-120 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายไก่เนื้อประมาณ 35-40 บาทต่อกิโลกรัม

“ไก่” นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีแนวโน้มอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปริมาณความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ “ไก่พื้นเมือง” หรือ “ไก่พื้นบ้าน” จึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ ที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนและท้องถิ่นมาโดยตลอด โดยครัวเรือนส่วนใหญ่จะเลี้ยงไก่พื้นเมืองไว้เนื่องจากใช้เงินทุนน้อย ดูแลจัดการง่าย ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและทนต่อการเป็นโรคได้ดี ซึ่งการเลี้ยงไก่ไว้ทำให้ครัวเรือนมีความคล่องตัวในการขายหรือนำมาประกอบอาหารตามจังหวะโอกาสที่เหมาะสม

ไก่ลิกอร์ น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 1.2-1.5 กิโลกรัม

ดังนั้น หากส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่พื้นเมือง จะช่วยให้เกษตรกรภาคใต้มีรายได้ตลอดปี เพราะไก่พื้นเมืองเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายเมื่อเทียบกับปศุสัตว์ชนิดอื่น ใช้พื้นที่น้อยและให้เนื้อที่มีรสชาติดี โปรตีนสูง ไขมันต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพ อีกทั้งเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้นให้ผลตอบแทนเร็วโดย 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 2-3 รอบการผลิตต่อปี

มวล. พัฒนาต่อยอดไก่พื้นเมือง

เนื่องจากปริมาณการผลิตไก่พื้นเมืองก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพราะไก่พื้นเมืองมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตน้อย จึงใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าไก่เนื้อที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ เล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงได้นำผลการวิจัยเรื่องไก่พื้นเมืองมาต่อยอดผลิตเป็นไก่พื้นเมืองลูกผสมที่มีอัตลักษณ์ตรงกับวิถีการเลี้ยงของเกษตรกรและความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้รับทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563

ทีมนักวิจัย มวล. ผู้วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง “ไก่ลิกอร์”

รู้จักไก่ลิกอร์ (Ligor)

นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ได้นำผลการวิจัยเรื่องไก่พื้นเมืองมาต่อยอดผลิตเป็นไก่พื้นเมืองลูกผสม จากการผสมสายพันธุ์ระหว่างพ่อไก่แดงสุราษฎร์ธานี ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์โดยทีมวิจัยจากกรมปศุสัตว์ และไก่แม่พันธุ์ มทส. ที่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)

แม่ไก่สาวลิกอร์

โดยทีมนักวิจัย มวล. ได้คัดเลือกทั้งพ่อและแม่พันธุ์ไก่ที่นำมาใช้ปรับปรุงสายพันธุ์มาเป็นระยะเวลานานจนประสบความสำเร็จในการพัฒนาไก่พื้นเมืองลูกผสมพันธุ์ใหม่คือ “ไก่ลิกอร์ (LIGoR)” ซึ่งเป็นชื่อเก่าของจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว นอกจากนี้ ชื่อ “ไก่ลิกอร์” (Ligor) ยังมีที่มาจาก L= Low cholesteral, I = It’s delicious, Go = High growth rate, R = Rich vitamin and mineral

ไข่ไก่ลิกอร์

ไก่ลิกอร์ เป็นไก่พันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างไก่พันธุ์เนื้อและไก่พันธุ์ไข่นำมาเป็นแม่พันธุ์พื้นฐานเพื่อผสมกับไก่พ่อพันธุ์พื้นเมืองเพื่อให้ได้ไก่ลูกผสมที่เรียกว่าไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่ยังคงรสชาติของเนื้ออร่อย เนื้อแน่นนุ่ม ไขมันต่ำเช่นเดียวกับไก่พื้นเมือง แต่มีความเจริญเติบโตได้ดีกว่าไก่พื้นเมือง

เนื้อไก่ลิกอร์มีรสชาติอร่อย คอเลสเตอรอลต่ำ วิตามินและแร่ธาตุสูง เนื้อไก่ลิกอร์หนึบหนับ ไม่เหนียวเหมือนไก่บ้าน ไม่ยุ่ยเหมือนไก่กระทง ไขมันน้อย ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น เมนูไก่ลิกอร์อบโอ่ง เนื้ออร่อย ไม่เหนียว หนังกรุบกรอบ ตรงต่อความต้องการของเกษตรกรและตลาด ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชื่นชอบไก่ลิกอร์กินอร่อยเพราะมีไขมันน้อย โดยเฉพาะช่องท้อง ไขมันน้อย เนื้ออร่อย ไม่ยุ่ย ไม่เหนียว

ไก่ลิกอร์เนื้อหนึบหนับ ไม่เหนียวเหมือนไก่บ้าน ไม่ยุ่ยเหมือนไก่กระทง

ทีมนักวิจัย มลว. ยังพบว่า ไก่ลิกอร์ที่อายุ 90 วัน (12 สัปดาห์) มีน้ำหนักเฉลี่ย 1.50-2.00 กิโลกรัม อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อตัวต่อวัน = 22 กรัม และประสิทธิภาพการใช้อาหาร = 2.6 อายุดังกล่าวเป็นอายุที่ได้น้ำหนักตรงตามความต้องการของตลาด ราคาไก่ลิกอร์หน้าฟาร์มขึ้น-ลง ตามกลไกการตลาดเป็นสำคัญ โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70-90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาพันธุ์ไก่ลิกอร์ได้ดำเนินมาในทิศทางที่เหมาะสม เนื่องจากได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยง ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการไก่ลิกอร์ที่เพิ่มมากขึ้น

ไก่ลิกอร์ อายุ 2 สัปดาห์

ไก่ลิกอร์ มีอัตลักษณ์ตรงกับวิถีการเลี้ยงของเกษตรกรในพื้นที่และการบริโภคของผู้บริโภคทางภาคใต้ ข้อดีของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไทยคือ ลดการนำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศและยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีในครัวเรือนของเกษตรกร เพิ่มการใช้อาหารที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่ต้องจัดซื้อ เป็นพื้นฐานในการสร้างไข่ไก่ธรรมชาติและไข่ไก่อินทรีย์ เพื่อรองรับตลาดระดับสูงต่อไป นำไปสู่รายได้ที่มีความยั่งยืนในชนบทตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้นในอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ รวมทั้งลดปัญหาความยากจนของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ไก่ลิกอร์ อายุ 13 สัปดาห์ หนัก 2.6 กิโลกรัม

ทีมนักวิจัย มวล. วางเป้าหมายผลิตไก่ลิกอร์ ขยายฐานการเลี้ยงไก่ลิกอร์ให้เป็นอาชีพที่มั่นคงครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ รวมทั้ง พัฒนาสมาร์ทแพลตฟอร์มสำหรับห่วงโซ่อุปทานไก่ลิกอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการบริหารจัดการในเรื่องของการตลาดไก่ลิกอร์ให้อยู่ในรูปแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้บริโภค พ่อค้าขายไก่ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและข้อมูลมีความถูกต้อง เพื่อพัฒนายกระดับอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ให้สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ขยายตลาดได้กว้างขวาง ขจัดการผูกขาดและการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทรายใหญ่ที่ทำธุรกิจการเลี้ยงไก่และการจำหน่ายเนื้อไก่สด ฯลฯ การยกระดับการผลิตไก่ลิกอร์สู่การตลาดเชิงพาณิชย์ จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ลูกไก่ลิกอร์ อายุ 1 วัน

ไก่ลิกอร์เป็นไก่เนื้อลูกผสมเพื่อนำไปบริโภค เป็นไก่ลูกผสมพื้นเมือง 50% ไม่ใช่ไก่สามสาย ไก่ลิกอร์กินเก่ง โตไว ตายน้อย เนื้ออร่อย ไม่เหนียว ต้องยกให้ไก่ลิกอร์ ระยะเวลาการเลี้ยง 3 เดือน น้ำหนักเฉลี่ย 1.5-1.8 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเลี้ยงของเกษตรกรแต่ละราย

หากใครสนใจเลี้ยงไก่ลิกอร์เป็นอาชีพ ปัจจุบันทางทีมวิจัยไก่ลิกอร์ มวล.ได้ผลิตและจำหน่ายลูกไก่ลิกอร์อายุ 1 วัน ราคา 14 บาทต่อตัว พร้อมทำวัคซีนหลอดลมอักเสบและนิวคาสเซิลให้แก่เกษตรกรผู้สนใจและพร้อมเป็นผู้ร่วมวิจัยกับทางโครงการ ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพจ Facebook : ไก่ลิกอร์ / เว็บไซต์ https://ligor.wu.ac.th หรือ โทร. 095-049-2198

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)