เผยแพร่ |
---|
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ทราบจากเกษตรกรเครือข่ายผู้ปลูกสับปะรดว่าตอนนี้เดือดร้อน เนื่องจากต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ ทำให้โรงงานมีสต๊อคค้างเยอะสิ่งที่สภาฯจะเสนอเรียกร้องรัฐบาลคือการเรียกประชุมคณะกรรมการสับปะรดแห่งชาติโดยด่วน เพื่อที่จะพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาให้ทั้งระบบ ทั้งนี้ อยากเห็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างโรงงานและผู้ปลูกสับปะรด ซึ่งอาจจะใช้แผนพัฒนาสับปะรดอย่างยั่งยืนของคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อทำการวางแผนซื้อ-ขายล่วงหน้า เพื่อกำหนดราคาได้ โรงงานก็จะมีหลักประกันเรื่องวัตถุดิบไม่ผันแปรมากนัก และทั้ง 2 ฝ่ายสามารถวางแผนการผลิตร่วมกันได้ นอกจากนั้น สภาเกษตรกรฯก็อยากเห็นการผลักดันตลาดใหม่ๆเพื่อผลักดันออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ที่มีกำลังซื้อมากและต้องการผลสด โดยเฉพาะพันธุ์ MD2 ซึ่งเก็บรักษาความสดได้นานกว่า หากรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์จริงจังแล้วคุยกับเครือข่ายเกษตรกรจะผลักดันเข้าสู่ตลาดประเทศจีนได้ล็อตใหญ่ ซึ่งต้องรีบดำเนินการหากให้เกษตรกรดำเนินการเองเวลานี้ก็เกินกำลัง อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรแห่งชาติยังคงเดินหน้าผลักดันเรื่องของสับปะรดด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งจากเกษตรกร ,ผู้ประกอบการ และส่วนราชการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องประชุม 301 อาคารวชิรานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี
นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานเปิดเวที ในการประชุมได้มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยยืนยันถึงสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้น มีการแสดงความเห็นในการหาทางแก้ไขทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและในระยะยาว ซึ่งภาคเกษตรกรเห็นว่าผลผลิตที่อยู่ในข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงงานกับเกษตรกรจะไม่ประสบปัญหา แต่ปัญหาเฉพาะหน้าคือผลผลิตนอกข้อตกลงและจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงกลางปีกับปลายปีนี้ ขอให้ภาครัฐส่งเสริมให้คนไทยบริโภคสับปะรด ใช้เครือข่ายของรัฐในการช่วยกระจายสินค้า ในระยะยาวเกษตรกรกับโรงงานต้องทำข้อตกลงความร่วมมือกันเป็นการวางแผนซื้อ – ขายกันล่วงหน้า และเกษตรกรต้องไม่เพิ่มพื้นที่การผลิต ต้องผลิตให้ได้ GAP ด้าน ภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการเห็นว่าสถานการณ์ปัญหาเกิดจากราคาสับปะรดที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่การผลิต แต่เกษตรกรที่ผลิตตามข้อตกลงกับโรงงานไม่น่าห่วงเพราะโรงงานจะซื้อในราคาที่ตกลงกันแต่ขอให้ภาครัฐช่วยในด้านเงินทุนที่ต้องเก็บสต็อคสินค้าไว้ กับอาจจะขอยืดเวลาในการชำระเงินให้เกษตรกร ในส่วนของภาคราชการเห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการกระจายสับปะรดออกนอกพื้นที่ปลูกโดยใช้เครือข่ายของภาครัฐ
นายเติมศักดิ์ เปิดเผยว่า ในระยะยาวการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบตามยุทธศาสตร์สับปะรด จะมีอนุกรรมการ 3 คณะ คือด้านการตลาด ด้านการแปรรูป และด้านการผลิต ต้องวางระบบให้เกิดความยั่งยืน โดยการผลิตจะเข้าสู่เกษตรพันธสัญญา การพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพมีความสมดุลระหว่างตลาดกับผลผลิต มีการสร้างเอกลักษณ์ในผลผลิต การแปรรูปจะต้องลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ การตลาดจะแสวงหาตลาดเพิ่มขึ้น จะต้องเพิ่มตลาดส่งออกผลสด มีการพัฒนาระบบการขนส่งในการส่งออกโดยเฉพาะตลาดจีน และที่สำคัญคือจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายสับปะรดแห่งชาติเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์โดยเร็ว ผลการประชุมหารือกันในครั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติจะได้สรุปผลเสนอต่อภาครัฐ โดยเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันคือการเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาที่แต่ละโรงงานจะมีหลักประกันด้านวัตถุดิบเพื่อเข้าสู่การผลิต เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตให้ผลผลิตไม่ผันแปรจากความต้องการ นอกจากนั้นคือการตลาดที่ภาครัฐต้องรีบผลักดันให้เกิดตลาดใหม่