ชาวนาพิจิตร ปลูกพืชอายุสั้นส่งโรงงาน เสริมรายได้ ปลดหนี้ มีเงินเก็บออม

จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ มีพื้นที่การทำนาประมาณ 1,812,121 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากมีแหล่งน้ำทางธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีน้ำใช้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี สามารถทำนาปรังได้ปีละ 3 ครั้ง โดยแหล่งปลูกข้าวสำคัญอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองพิจิตร บางมูลนาก โพทะเล สามง่าม ตะพานหิน จังหวัดพิจิตรสนับสนุนให้ชาวนาปลูกพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการและให้ผลตอบแทนสูง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวชัยนาท 1 และข้าวสุพรรณบุรี 60  

แต่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เพาะปลูกโดยอาศัยน้ำฝน สามารถทำนาปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มเพาะปลูกระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เก็บเกี่ยวข้าว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม หลังเสร็จสิ้นฤดูทำนาเกษตรกรมักออกไปรับจ้างทั่วไป รวมทั้งกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ที่ตนเองเป็นสมาชิกและกู้หนี้นอกระบบเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นทุนหมุนเวียนทางการเกษตร แต่เกษตรกรมีรายได้ไม่พอใช้หนี้ ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เพราะมีหนี้ค้างชำระของสมาชิกจำนวนมาก

สหกรณ์จังหวัดพิจิตร ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพริกซอสส่งโรงงาน

ขับเคลื่อนโมเดล “ตลาดนำการผลิต”

กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร รวมทั้งลดการเกิดปัญหาด้านหนี้สินให้กับเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร จึงได้ร่วมมือกับสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตรขับเคลื่อน โมเดล “ตลาดนำการผลิต” ส่งเสริมให้ชาวนาที่ปลูกข้าวเฉพาะช่วงฤดูกาลนาปี หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยและพืชระยะสั้น เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วแระญี่ปุ่น และพริกส่งโรงงานอุตสาหกรรม โดยประสานงานให้บริษัทเอกชนเข้ามารับซื้อสินค้าถึงแหล่งผลิต พร้อมประกันราคารับซื้อ เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ที่มั่นคงให้กับกลุ่มเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง สามารถปลดหนี้สหกรณ์และมีเงินเก็บออมในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

ข้าวโพดหวาน

ในช่วงปลายปี 2563 บริษัท ซันสวีท จำกัด ได้ร่วมมือกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตรส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด สหกรณ์โคนมการเกษตรพิจิตร จำกัด และสหกรณ์การเกษตรชุมชนตำบลวัดขวาง จำกัด คัดเลือกสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมปลูกข้าวโพดหวานเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 รวม 15 ราย พื้นที่ปลูกรวม 37 ไร่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย 3,300 กิโลกรัม ต่อไร่ ขายผลผลิตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีทองการเกษตรในราคาประกันที่ 4 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 13,200 บาท ต่อราย นอกจากขายฝักแล้ว เกษตรกรยังสามารถสับต้นข้าวโพดขายเป็นอาหารวัวได้อีกในราคาตันละ 1,000-1,200 บาท

คณะกรรมการบริหาร สหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด

ถั่วแระญี่ปุ่น

สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตรได้สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ของสหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด เข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกถั่วแระญี่ปุ่น ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) กับ บริษัท เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ จำกัด (มหาชน) โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรของบริษัทเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ และตรวจสอบแปลงผลิตของเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการของบริษัท

สมาชิกสหกรณ์ของสหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกถั่วแระจำนวน 21 ราย พื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น 481 ไร่ เกษตรกรเริ่มปลูกถั่วแระญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 อายุการเก็บเกี่ยว 65-70 วัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ย 1,400 กิโลกรัม ต่อไร่ ขายในราคาประกันที่กิโลกรัมละ 17 บาท หรือตันละ 17,000 บาท โดยมีต้นทุนผลิตประมาณ 7,000-8,000 บาท ต่อไร่ มีรายได้เฉลี่ย 20,400-23,800 บาท ต่อไร่

ผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ เยี่ยมชมแปลงปลูกพริกซอส
พริกสดที่โรงงานซื้อต้องได้มาตรฐานค่าความเผ็ด ความเข้มของสีพริก

ปลูกพริก รายได้ดีกว่าทำนา

อุตสาหกรรมการผลิตซอสพริก ต้องการพริกเป็นวัตถุดิบในการผลิตซอสพริกมากถึงปีละ 2 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น บริษัท ศราวุฒิการเกษตร ซึ่งเป็นเอกชนที่รับซื้อพริกซอสป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร จึงร่วมมือกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกพริกซอสเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวน 100 ราย ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด สหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด และกลุ่มเกษตรกรพอเพียงตำบลรังนก มีพื้นที่ปลูกพริกรวม 188 ไร่

ก่อนเริ่มโครงการ บริษัทผู้รับซื้อจัดส่งเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรเข้ามาให้ความรู้ขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูก การเพาะปลูกพริกระบบน้ำหยดโดยให้น้ำวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและช่วงเย็น การดูแลรักษาไปจนถึงการเก็บเกี่ยวเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยทั่วไป เกษตรกรสามารถปลูกพริกตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม ใน 1 ฤดูกาลผลิต สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ 2 รุ่น ตั้งแต่เดือนธันวาคม จนถึงเมษายนของทุกปี

คุณณรงค์ ทับทวี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกพริสซอสส่งโรงงาน

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ได้เริ่มปลูกพริกตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ทยอยเก็บเกี่ยวพริกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ขายพริกในราคาประกันที่ 14 บาท ต่อกิโลกรัม มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 25,000 บาท เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 63,000 บาท ต่อกิโลกรัม

โครงการส่งเสริมการปลูกพริก นอกเหนือจากเกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการปลูกพริกแล้ว ในฤดูเก็บเกี่ยวยังส่งเสริมการจ้างแรงงานในท้องถิ่นทำหน้าที่เก็บพริกและเด็ดขั้วพริก โดยให้ค่าจ้างกิโลกรัมละ 2 บาท แต่ละวันชาวบ้านจะมีรายได้จากการเก็บพริกเฉลี่ย 300-400 บาท อีกด้วย นับว่าโครงการนี้สามารถส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างดี ที่สำคัญการปลูกพริก 1 ไร่ สร้างรายได้ดีกว่าการทำนาหลายเท่าตัว

เกษตรกรสนใจปลูกพริกส่งโรงงานเพราะมีรายได้งามถึง 1-2 แสนบาท

สำหรับเกษตรกรที่สนใจปลูกพืชระยะสั้นเสริมรายได้ สามารถสอบถามรายละเอียดเรื่องการปลูกและการดูแลพืชได้ที่ สหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน จำกัด ที่ตั้งสำนักงาน เลขที่ 34 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทรายพูน อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร โทรศัพท์ 056-695-156, 056-030-102

 

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354