ปลูกป่าในเมือง

บางทีการที่เราหลงใหลชื่นชมว่า บ้านเราในน้ำมีปลาในนามีข้าว อุดมสมบูรณ์หนักหนานี่แหละ มันเป็นตัวถ่วงเราเอง เรามองว่าบ้านเราดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว เราจึงมักจะไม่ขวนขวายทำอะไรให้มันดีขึ้น

อย่างหนึ่งที่เห็นชัดที่สุดคือ เราโอ่อวดว่าเราป่าเยอะ ข้าวเขียวขจีเต็มท้องทุ่ง น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แต่ที่จริงแล้วทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่เพาะปลูกเราลดลงเรื่อยๆ

ส่วนบ้านอื่นเมืองที่เราดูถูกเขานักหนาว่ามีแต่ตึกนั้น เขาเพียรมานะในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเขาอย่างอดทนและอย่างเอาเป็นเอาตาย

สิงคโปร์ เป็นตัวอย่างใกล้ๆ ที่พูดเมื่อไรก็ต้องยกมาทุกครั้ง จากเมืองเล็กๆ แออัด ที่ลุ่มน้ำเฉอะแฉะเมื่อ 50 กว่าปีก่อน มาเป็นเมืองสีเขียว ที่ทั้งเจริญและสวยงาม เขียวขจี

คนไทยชอบไปช็อปปิ้งที่ถนนออชาดแล้วก็บ่นพร่ำว่า สิงคโปร์ไม่เห็นมีอะไร ทั้งที่เขามีสวนพฤกษศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เขามีสวนสาธารณะน้อยใหญ่มากมาย ตึกเขาพยายามสร้างให้มีสีเขียวของต้นไม้แทรกเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เราไม่พยายามจะไปดูของเขาเอง

แนวการสร้างเมืองให้เป็นสีเขียวแบบสิงคโปร์ เรียกกันว่า ป่าในเมือง หรือ urban jungle เรื่องนี้เขาทำมานาน ป่าและเมืองอยู่ด้วยกันได้ อันนี้เขาเห็นพ้องกันแล้วทั่วโลก ขณะที่ไทยยังมองแยกส่วน เมืองก็เมือง ป่าก็ป่า คำว่า เมือง คือต้องโค่นต้นไม้สร้างตึกสถานเดียว แล้วเราก็อี๊อ๊ารังเกียจเมือง

แต่จะบอกให้นะคุณ ที่ลอนดอนเขาทำแบบนี้มาจะร้อยปีแล้ว เขามีสวนบนหลังคาอาคาร สวนหนึ่งขนาดใหญ่เกือบ 4 ไร่ เอเคอร์ แล้วเห็นลอนดอนเล็กอย่างนั้น เขามีป่าในเมืองรวม 1.3 ล้านตารางฟุต มากกว่าพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ทั้งหมดอีกกระมัง

หรืออย่างใครชอบนินทาว่า นิวยอร์ก มีแต่ตึก แสดงว่าไม่เคยรู้จักเซ็นทรัลปาร์คที่ใหญ่โตโอฬารเขียวชอุ่มตระหง่านใจกลางเมือง เขาไม่เคยคิดจะเอาสวนของเขาออกมาขายเป็นศูนย์การค้าสักหน่อย

และอย่าคิดว่าเรื่องพวกนี้มีแต่ประเทศตะวันตก จีนซึ่งเป็นขี้ปากชาวบ้านเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานหลายสิบปีก็ตื่นตัวเรื่องนี้มาก ทำท่าจะล้ำไปกว่าด้วยซ้ำ เขามีโครงการก่อสร้างป่าในเมืองมากมายหลายเมือง อย่าง Guizhou, เขาให้ Stefano Boeri สถาปนิกจากอิตาลีที่เคยออกแบบอาคารสีเขียวมามาก ไปออกแบบ

ตอนนี้มีโครงการหนึ่งที่ฮือฮาคือ Mountain Forest hotel ขนาด 250 ห้อง ที่สร้างเลียนแบบภูเขา คืออาคารไม่ได้ซับซ้อนอะไร สร้างเรียงๆ กันขึ้นไปให้ยอดเรียวลง แต่ที่เขาคิดหนักคือ การเอาต้นไม้ใส่เข้าไปจนเป็นภูเขาลูกย่อมๆ โรงแรมนี้ดังระเบิดเถิดเทิงตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือสร้างเลยทีเดียว

Vertical garden at the Anataeum Hotel in London.

จีนมีนโยบาย national forest city อย่างจริงจัง ตอนนี้มี 170 เมืองแล้ว โดยกำหนดให้มียอดของต้นไม้ ครอบคลุมพื้นที่ 40% ของเมือง นี่ไม่ใช่เรื่องทำง่ายๆ นะ ส่วนหนึ่งเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ส่วนใหญ่กว่านั้นคือ เขาจะดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ตามรอยของสิงคโปร์นั่นแหละ คือมีสิ่งแวดล้อมและสภาพชีวิตที่ดีรออยู่ ใครที่ไหนเขาก็อยากมาอยู่มาลงทุน สภาพแวดล้อมแบบนี้จะดึงดูดแรงงานระดับหัวกะทิได้มาก อย่างที่สิงคโปร์ทำสำเร็จมาแล้ว

มาดูว่าประเทศไหนเอาจริงเอาจังเรื่องป่าในเมืองนี้

พิสูจน์แบบมีตัวเลขทางวิชาการยืนยัน สูงสุดก็คือ สิงคโปร์ คือมีพื้นที่สีเขียว 29.3% ได้คะแนนนำประเทศอื่นลิ่วๆ ทั้งที่เป็นประเทศเล็ก มีประชากรหนาแน่นถึง 7,797 คน ต่อตารางกิโลเมตร ดัชนีความเขียวที่วัดโดย Massachusetts Institute of Technology (MIT), สูงถึง 29.3%

ซิดนีย์ ของออสเตรเลีย แวนคูเวอร์ ของแคนาดา มีค่าดัชนีความเขียวตามมาอยู่ที่ 25.9% แวนคูเวอร์ ได้คะแนนเรื่องความหนาแน่นของประชากรดีกว่า คือมีประชากรแค่ 400 คน ต่อตารางกิโลเมตร ส่วน ซิดนีย์ มี 5,249 คน ต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งก็น้อยกว่าสิงคโปร์อยู่ดี

สิงคโปร์น่ะเขาได้รับยกย่องให้เป็น “Garden City of Asia” นี่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองของเขาอย่างหนึ่ง ทางหนึ่งคือ ดึงดูดนักลงทุน เขาเชื่อว่าถ้าบ้านเมืองมันน่าอยู่ ชีวิตมีคุณภาพ ใครๆ ก็อยากมาลงทุน ไม่จำเป็นต้องกดค่าแรงงานคนงานบ้านตัวเอง เอาใจเขาแต่ประการใด

คนเคยเห็น Garden by the bay หรือสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติของสิงคโปร์ หรือเอาแค่เดินเล่นตามสวนสาธารณะ หรือชายทะเลที่เขาสงวนไว้ให้คนได้พักผ่อน ก็จะรู้ว่าเขาเอาจริงเอาจังกับการสงวนพื้นที่ป่าเขาไว้แค่ไหน

แต่สิงคโปร์ไม่ใช่เมืองเดียวนะที่เป็นแบบนี้ กรุงโซลของเกาหลีใต้ก็เป็น ถ้าคุณไม่มัวแต่จ้องแต่จะช็อปปิ้งสถานเดียวน่ะนะ เกาหลีใต้นี่ขนาดทุบถนนทิ้งแล้วทำคลองทำสวนกลางเมือง ใครเคยไปกรุงโซลคงเคยเห็นคลองชองแจชองของเขาแล้ว นั่นละผลงานระดับมาสเตอร์พีซของโลกเชียว

ประเทศวุ่นวายคนร้อยล้านคนอย่าง ฟิลิปปินส์ ก็พยายามจะทำบ้าง ตอนนี้ในมะนิลามีสวนหย่อม มีสวนสาธารณะขนาดเล็ก และทางเท้าเขียวๆ กระจายไปทั่ว การสร้างสวนสาธารณะใหญ่ๆ อาจใช้เงินและเวลามาก แต่เขาเริ่มกันแบบเล็กๆ อย่างนี้ไปก่อนเลย ไม่รอ

แต่บางเมืองก็เข็นยาก อย่างกรุงปารีส ที่ดัชนีความเขียวอยู่ที่ 8.8% และตึกรามมีความชนะเลิศต้นไม้ไปอย่างไม่เห็นฝุ่น ปารีสยังเป็นเมืองที่มีคนอยู่หนาแน่นถึง 21,000 คน ต่อตารางกิโลเมตร เจอปัญหาเดียวกับนิวยอร์กที่มีดัชนีความเขียว 13.5% และมีคนหนาแน่น 10,831 คน ต่อตารางกิโลเมตร นี่ขนาดมีเซ็นทรัลปาร์คเขียวมหึมาอยู่ใจกลางแมนฮัตตันแล้วนะ

การจะทำเมืองให้เขียวนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างสวนสาธารณะ ยิ่งในเมืองที่มีพื้นที่น้อยและต้นทุนที่ดินสูง การเอาเมืองกับป่าผสมผสานกันมีวิธีการใหม่ คือไปพร้อมๆ กันทั้งตึกทั้งป่า ไม่มีใครต้องหลีกให้ใคร อันนี้เป็นแนวคิดที่จริง ไม่ต้องเสแสร้ง

เพราะเมืองมันหดตัวไม่ได้ หนีไปไหนไม่ได้ มันต้องไปกันอย่างนี้ ส่วนที่จะเถียงว่าป่าก็ต้องเป็นป่า ยกตัวไปต่างหาก นั่นก็เถียงไป ฉันไม่เถียงด้วย

เมืองใหญ่ๆ ที่เขาพัฒนาแล้วก็ใช่ว่าเขาจะไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมนะ อย่างแวนคูเวอร์นี่ของแคนาดาไม่กี่ปีก่อนเคยมีปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม เพราะฝนตกหนักแล้วชะเอาดินโคลนลงไปในแหล่งน้ำ จนคุณภาพของน้ำไม่อยู่ในระดับที่ดื่มได้

เมืองบริสเบน ในออสเตรเลียต้องสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นมาเพื่อป้องกันบรรดาโคอาล่าที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนเกรงว่าจะสูญพันธุ์

ต้นไม้ยังเก็บคาร์บอนและรักษาอุณหภูมิไม่ให้เปลี่ยนแปลงฉับพลันเกินไป ป่าในเมืองจึงเป็นเมืองที่ปลอดภัยกว่า

งบประมาณในการสร้างเมืองสีเขียวก็ไม่ได้มากไปกว่างบประมาณในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับประชาชน

มาดูตัวอย่างป่ากับเมืองที่ไปด้วยกันได้ดีกว่า เขาใช้สติปัญญามากกว่าใช้เงิน เพราะฉะนั้นที่เถียงข้างๆ คูๆ ว่าเพราะเขาเป็นประเทศร่ำรวยแล้วเขาถึงทำได้ ไม่จริง