ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
เผยแพร่ |
คุณธนน อินต๊ะป้อ เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้ามีประสบการณ์ประกอบธุรกิจทำน้ำหมักชีวภาพจำหน่ายที่กรุงเทพฯ หลังจากน้าสาวหุ้นส่วนใหญ่ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง เขาเดินทางกลับพะเยา ลงหลักปักฐานทำเกษตรอินทรีย์ สร้างธุรกิจด้วยความแตกต่าง สร้างแบรนด์สินค้าให้หน่อไม้ กระทั่งหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง ภายใต้แบรนด์ “ธนน” ต่อยอดเป็นธุรกิจร้านอาหาร “กระทรวงการย่าง” มีเมนูหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเป็นเมนูดึงดูดลูกค้า (Signature) มีพืชผักอินทรีย์อันมีตรารับรองมาตรฐาน เป็นเมนูประกอบสร้างความรื่นรมย์ให้กับการรับประทาน
ปักหลักธุรกิจ ด้วยพันธุ์ไผ่บง
สมัยก่อนนั้น ธนน ทำงานอยู่กับน้าสาว ชื่อ ปรัชญาณีย์ โลหะสวัสดิ์ ที่กรุงเทพฯ พวกเขาทำน้ำหมักชีวภาพแบรนด์ “นวกุล” หลังจากนั้นเธอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ ธนน จึงหันเหชีวิตกลับคืนสู่บ้านเกิดที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีน้ำหมักชีวภาพเป็นต้นทุนทำการเกษตรจำนวนหนึ่ง คุณธนน เล่าว่า มีที่ดินจำนวน 5 ไร่ ให้คนเช่าทำไร่ข้าวโพด ธนนเริ่มวางแผนทำการเกษตรโดยศึกษาจาก Youtube เริ่มปลูกต้นมะพร้าวจำนวนกว่า 100 ต้น แต่ก็ประสบภัยแล้งจนต้นมะพร้าวที่ปลูกไว้ทั้งหมดตายเรียบ จึงหันมาศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์ มองพืชพันธุ์ที่ทนแล้งและเติบโตทำการตลาดได้ สุดท้ายจึงเลือก “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง”
คุณธนน ปลูกพืชบนที่ดิน 5 ไร่ โดยไม่ใช้สารเคมีเป็นเวลากว่า 3 ปี ต้นไผ่บงหวานเริ่มเติบโต ระหว่างนั้นได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องดินร่วมกับ ผศ.ดร. วาสนา วิรุญรัตน์ คณะปฐพีศาสตร์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยเก็บตัวอย่างดินนำมาศึกษาวิจัยอยู่เสมอ เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา ศึกษาวิจัยเรื่องเกษตรอินทรีย์ร่วมกับ ผศ.น.สพ. สมชาติ ธนะ, ผศ.ดร. วาสนา พิทักษ์พล, ผศ.ดร. บังอร สวัสดิ์สุข คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
ในการปลูกไผ่บงหวานนั้น ให้ปลูกระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 200 ต้น ที่เว้นให้ระยะระหว่างแถวให้กว้าง เพื่อให้เกษตรกรเข้าไปทำงานได้สะดวก เช่น นำขี้เถ้าแกลบไปใส่ได้ง่าย สำหรับการปลูกก็ไม่ยุ่งยาก ขุดหลุมปลูก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า หลังปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม เคล็ดลับในการปลูกไผ่บงหวาน ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนแนะนำให้ปลูกเสมอกับดินเดิม แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูแล้งจะต้องปลูกให้ต่ำกว่าดินเดิม หรือทำเป็นแอ่งกระทะ ระบบน้ำดี จะทำให้หน่อไผ่กอใหญ่และอวบ หลังจากปลูกไผ่บงหวานเสร็จ จะต้องหมั่นตัดหญ้า จะมีการให้ปุ๋ยและให้น้ำเฉลี่ย เดือนละ 1 ครั้ง ปุ๋ยคอกจะใช้ได้ทั้งขี้วัวเก่าหรือขี้ไก่ หรือแม้แต่เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรใช้ได้หมด เช่น ซังข้าวโพด กากอ้อย เปลือกถั่วต่างๆ กากยาสูบ ขี้เถ้าแกลบ สิ่งที่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือนคือ จะต้องมีการสางลำไผ่ขนาดเล็กที่แตกมาจากตาหน่อเก่า หรือแตกมาจากตาบนลำไผ่เดิมออก โดยใช้มีดพร้าสับออกเลย เพื่อให้ข้างล่างโล่ง ให้ใบไผ่อยู่ส่วนบนเท่านั้น
หน่อไผ่บงหวานมีขนาดใหญ่ เกษตรกรที่ปลูกไผ่บงหวานใหม่ๆ จะมีหน่อเกิดขึ้นข้างใน ประมาณ 5-6 หน่อ ให้ขุดหน่อข้างในไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ ส่วนหน่อที่ออกมานอกกอก็สามารถเก็บขายได้ พอเมื่อเข้าฝนก็ต้องปล่อยให้หน่อนอกกอโตให้มันขึ้นเป็นลำไผ่
ส่วนความต้องการของตลาดโดยทั่วไปแล้ว ตลาดมีความต้องการหน่อไม้ไผ่บงหวานที่มีขนาดน้ำหนักของหน่อ 6-8 หน่อ ต่อกิโลกรัม เนื่องจากเมื่อซื้อเป็นของฝากแล้วจะดูน่าซื้อ คือขนาดไม่เล็กเกินไป จริงๆ แล้วหน่อไม้ไผ่บงหวานจะมีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด เมื่อนำมาบริโภคสดๆ และเร็วที่สุด ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายวันความหวานจะลดลงเช่นเดียวกับข้าวโพดหวาน ดังนั้น การเก็บหน่อไม้จะมีการขุดขายกันแบบวันต่อวัน ถึงแม้จะเก็บไว้ในตู้เย็น ความหวานก็จะลดลง แต่จะเก็บไว้บริโภคนานวันควรจะต้มให้สุก แล้วนำมาแช่แข็งจะดีกว่า
ให้ออกตลอดทั้งปี ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง
การที่เกษตรกรทั่วไปปลูกแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกไผ่บงหวานมักจะปลูกแบบฝากเทวดาเลี้ยง น้ำก็ไม่ให้ หญ้าก็ไม่กำจัด ไม่มีการสางกอ มีการจัดการสวนที่ดี และมีการปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือน อาทิ ภายในกอจะต้องโล่ง จะต้องขุดหน่อที่อยู่ภายในกอออกมาบริโภคหรือจำหน่าย สิ่งสำคัญในการผลิตไผ่บงหวานนอกฤดูก็คือ การจัดการเรื่องการให้น้ำ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นมาก
เมื่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งของคุณธนนเริ่มออกหน่อ ก็ได้รับใบรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จากสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา และได้รับตรารับรอง GAP หรือ Good Agriculture Practices จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณธนนศึกษาหาความรู้ต่อเนื่องด้วยการเข้าร่วมอบรม Young Smart Farmer (YSF) ศึกษาดูงานที่ morning farm ได้แนวคิดการทำเกษตรสมัยใหม่จาก ผศ. วิสูตร อาสนวิจิตร จึงมั่นใจว่าเราสามารถสร้างธุรกิจจากการสร้างแบรนด์ไผ่ได้
สร้างชื่อ “ธนน” เป็นแบรนด์สินค้า เริ่มสร้างแบรนด์สินค้า เพราะแบรนด์คือสิ่งสำคัญสำหรับการขาย หากคุณเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ มีความจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์สินค้า เพื่อให้กลุ่มผู้บริโภครับรู้ว่าสินค้าของเขาคือสินค้าเกษตรอินทรีย์ เขาพยายามนำเสนอคุณสมบัติและเรื่องราวของหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง คิดถึงอัตลักษณ์ของแบรนด์ สุดท้ายเขาเลือกใช้ชื่อ “ธนน” อันเป็นชื่อตัวเองเพื่อสร้างแบรนด์
คุณธนน เล่าต่อว่า พื้นฐานการประชาสัมพันธ์เราต้องสื่อสาร ต้องกล้าพูด กล้าทำ เพื่อให้คนอื่นรู้และเข้าใจว่าเรากำลังคิดอะไร ทำอะไร ปลูกอะไร สินค้าของเขาเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วเพราะความแปลกใหม่ เขานำเสนอความแตกต่างอย่างมีคุณค่า นำเสนอหน่อไม้ที่สามารถรับประทานดิบได้ รับประทานแล้วไม่เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น อาการปวดหัวเข่า เขาสามารถนำหน่อไผ่บงหวานประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เมื่อเริ่มต้นขายสินค้าผมกำหนดกลยุทธ์การขายหน่อไม้ป้องกันการแข่งขันด้านราคา ป้องกันการตีตลาด สร้างแนวคิดธุรกิจและการขายสินค้าที่โดดเด่น
“ยามเริ่มต้นทำการตลาด ผมนำหน่อไม้จำนวนหลายกิโลกรัมแจกในตลาด วันรุ่งขึ้นเขารับออเดอร์สั่งจองหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง สินค้าของเขาเป็นที่รู้จักเพราะการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก ไม่นานนักสวนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง “ธนน” ก็มีคนเข้ามาเยี่ยมเยือนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเจ้าหน้าที่เกษตรสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ใจ อาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา และผู้สื่อข่าวที่เข้ามาเยี่ยมเยือนเพื่อทำบทสัมภาษณ์เผยแพร่ในรายการโทรทัศน์” เจ้าของบอก
เปิด “กระทรวงการย่าง” ต่อยอดธุรกิจ
การเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา มีข้อดีคือ มีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำแนะนำ ทำให้แบรนด์ “ธนน” หน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเป็นที่รู้จัก เขาต่อยอดธุรกิจสร้างแบรนด์ “ธนน” ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าให้กับหน่อไผ่บงหวาน เปิดร้านอาหารชื่อ “กระทรวงการย่าง” บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา พิกัด 19.0742528,100.8074752 ทำอาหารเมนูหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เป็นเมนูดึงดูดลูกค้า (Signature) สร้างจุดเด่นให้ “กระทรวงการย่าง” เป็นความรื่นรมย์แห่งการรับประทาน ด้วยวัตถุดิบอะไรก็ได้ซึ่งสามารถนำมาย่างบนเตาให้เกิดเป็นความอร่อย ประเด็นสำคัญคือวัตถุดิบต้องปลอดภัย พืชผัก ผลไม้ ที่ใช้เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีตรารับรองมาตรฐานความปลอดภัย ลูกค้าหลายคนมักซื้อหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง “ธนน” ติดมือกลับบ้านเพื่อประกอบเมนูอาหาร
ยอดขายหน่อไผ่บงหวาน ภายใต้แบรนด์ “ธนน” มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 10,000-20,000 บาท หน่อไผ่แบรนด์ “ธนน” จะมียอดจำหน่ายสูงในช่วงเดือนเมษายน เดือนละ 30,000 บาท ส่วนต้นไผ่กล้าพันธุ์ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง จะมีการสั่งซื้อช่วงก่อนฤดูฝน เฉลี่ย 50,000-60,000 บาท รวมรายรับหักค่าใช้จ่ายจะมีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ถือเป็นรายได้พอเลี้ยงชีพในช่วงสถานการณ์โควิด
สำหรับแผนการในอนาคต คุณธนน เล่าว่า จะเริ่มเพาะกล้าพันธุ์หน่อไม้ชนิดอื่นเพื่อนำเสนอเป็นสินค้าตัวใหม่ ขยายช่องทางการตลาดโดยศึกษาวิจัยร่วมกับ อาจารย์ ดร. ปิยะพงษ์ สุปัญโญ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งออกหน่อไผ่หวานสู่ตลาดยุโรป นอกจากนี้ ผมยังศึกษาธุรกิจเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาชมสวนไผ่บงหวานเพื่อประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้า “ธนน”
ขอขอบคุณภาพและข้อมูล จาก ร.ต.อ. ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) ผศ.น.สพ. สมชาติ ธนะ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2564