เทคนิคเพิ่มผลผลิตอ้อย 30 ตัน/ไร่

“อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ที่สร้างอาชีพและรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถาบันการศึกษา อาทิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี ร่วมกันแบ่งปันความรู้เรื่องการปลูกดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพตามความต้องการของโรงงาน การใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลทดแทนแรงงานคน เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เรียนรู้กระบวนการผลิตอ้อยที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่การเตรียมดิน การไถดิน การปลูกอ้อยโดยเครื่องปลูกอ้อย ชนิด 1 ร่อง 4 แถว ซึ่งเป็นการปลูกอ้อยระยะชิด และการปลูกระยะห่างแบบ 1 ร่อง 2 แถว ซึ่งทำให้การดูแลจัดการแปลงเป็นเรื่องง่าย เกษตรกรสามารถกำจัดวัชพืชด้วยรถไถระหว่างร่องและใส่ปุ๋ยในคราวเดียว ลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืช

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้รถตัดอ้อย ร่วมกับเครื่องอัดใบอ้อย ลดการเผาเศษใบอ้อยเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในรอบต่อไป สำหรับเกษตรกรที่ผ่านการอบรมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในแปลงเพาะปลูกของตัวเอง ก็ได้ผลผลิตอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น และเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

คุณเสถียร มาเจริญรุ่งเรือง ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2561

“เสถียร มาเจริญรุ่งเรือง”

ต้นแบบชาวไร่อ้อยมืออาชีพ

คุณเสถียร มาเจริญรุ่งเรือง นับเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จด้านการประกอบอาชีพการเกษตร โดยคุณเสถียรช่วยครอบครัวทำไร่อ้อยตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ปัจจุบัน คุณเสถียรอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 378 บ้านด่านมะขามเตี้ย หมู่ที่ 1 อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี โทร 085-685-2399 คุณเสถียรมีที่ดินทำกินกว่าพันไร่ ประกอบด้วย อ้อย ปาล์มน้ำมัน  มันสำปะหลัง มะขามหวาน ยูคาลิปตัส ยางพารา ไผ่หวาน สะเดา และอื่นๆ

คุณเสถียรได้คิดค้น พัฒนา และปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน การคัดเลือกสายพันธุ์อ้อย กระบวนการเพิ่มผลผลิต ขณะเดียวกัน คุณเสถียรได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป็นอ้อยแปลงใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและคุ้มทุนที่สุด

ไร่อ้อยคุณเสถียร ปลูกอ้อยระยะชิดแบบ 1 ร่อง 4 แถว

คุณเสถียรมีประสบการณ์ทำงานในโรงกลึงเหล็ก จึงคิดค้นและออกแบบ หางปลูกอ้อย แบบ All In One  (6 in 1) สำหรับการปลูกแบบ 1 ร่อง 4 แถว โดยไม่นำไปจดลิขสิทธิ์เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย ซึ่งหางปลูกอ้อย All In One ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ถังเก็บน้ำ ที่ทำแทนหลังคาเพื่อหยอดน้ำขณะปลูกอ้อย เกษตรกรสามารถสั่งทำได้เองตามโรงกลึงเหล็กทั่วไป ส่วนที่ 2 หางปลูกอ้อยที่มีกระบวนการทำงานพร้อมกัน 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. เปิดร่องอ้อย 2. ลำเลียงท่อนพันธุ์อ้อยลงร่องที่เปิดไว้ 3. ใส่ปุ๋ย 4. ใส่น้ำ 5. กลบหน้าดินปิดร่องอ้อย และ 6. ลูกกลิ้ง กลิ้งทับหน้าดิน

คุณเสถียรใช้เครื่องปลูกอ้อย ลดต้นทุนทางด้านแรงงาน

เทคนิคเพิ่มผลผลิตอ้อย 30 ตัน/ไร่

คุณเสถียรประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตอ้อยให้ได้ 30 ตัน/ไร่ จากการทดลองปฏิบัติ โดยทำการปลูกแบบ 1 ร่อง 2 แถว และ 1 ร่อง 4 แถว พบว่าการปลูกแบบ 1 ร่อง 4 แถว ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและคุ้มทุนที่สุด

คุณเสถียรแนะนำให้เกษตรกรชาวไร่บริหารจัดการแปลงอ้อย โดยคำนึงถึง 4 ส่วน คือ ดิน น้ำ เขตกรรม และพันธุ์อ้อย เกษตรกรควรปรับปรุงดิน น้ำ อากาศ แสงแดด สภาพแวดล้อม ให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช และใส่ใจบำรุงพืชให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อให้พืชมีความแข็งแรง ทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช

คุณเสถียรได้ทำการทดสอบสายพันธุ์อ้อยจากสายพันธุ์ 10 สายพันธุ์ พบว่าสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกแบบ 1 ร่อง 4 แถว คือ สายพันธุ์ k92-213 มีการปรับวิธีปลูกช่วงเดือนปลูก โดยใช้องค์ความรู้บนแห้ง ล่างชื้น ไม่ต้องกำจัดวัชพืชทำให้ลดต้นทุนการเพาะปลูก

คุณเสถียร (ซ้าย) ภาคภูมิใจกับอาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อย

ปลูกอ้อยข้ามแล้ง ด้วยระบบน้ำหยอด

นอกจากนี้ คุณเสถียรยังเป็นผู้คิดค้นความรู้การปลูกอ้อยข้ามแล้งด้วยระบบน้ำหยอด รวมถึงร่วมประสานงานกับหน่วยงานราชการทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดยใช้อาคารทดน้ำแล้วปล่อยน้ำลงสู่ที่ต่ำด้านล่างเข้าพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร

เกษตรกรชาวไร่นิยมปลูกอ้อยข้ามแล้งในสภาพดินทราย โดยปรับปรุงบำรุงดินและใช้ไถระเบิดดินดานเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในดินให้มากที่สุดก่อนหมดฤดูฝน หลังจากนั้นประมาณเดือนตุลาคมจึงทำการปลูกอ้อยโดยทยอยยกร่องและปลูกทันทีเพื่อรักษาความชื้นหลังยกร่องไว้ให้มากที่สุด

สำหรับไร่อ้อยที่ปลูกในสภาพดินเหนียว หากปลูกตามฤดูกาลปกติ มักเริ่มปลูกประมาณเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในเขตภาคกลางหรือภาคตะวันตก ที่เป็นเขตดินเหนียว นิยมร่นระยะเวลาปลูกให้เร็วขึ้นมาอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ โดยใช้เทคนิคน้ำหยอดหรือน้ำราด เริ่มจากขั้นตอนการเตรียมดินให้ประณีตก่อนใช้รถปลูกบดอัดดินตามร่องปลูกให้แน่นเพื่อให้น้ำที่ราดลงไปตามร่องปลูกเก็บความชื้นได้นานที่สุด เพื่อให้อ้อยงอกขึ้นมาได้

การปลูกอ้อยระยะชิดต้องใช้อ้อยพันธุ์ใบตั้ง เช่น อู่ทอง 8 และ K92-213

คุณเสถียรได้ตัดแปลงหลังคารถแทรกเตอร์มาเป็นหลังคาที่ใช้เป็นที่บรรจุน้ำได้ถึง 1,500 ลิตร พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องปลูกให้สามารถปลูกได้ครั้งละ 4 แถว โดยใช้แถวปลูกที่ระยะเท่ากับ 0-25-55-80 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันท่อนพันธุ์อ้อยไหลเข้าไปหากันในระหว่างชักร่องปลูกด้วยการประดิษฐ์หางปลูกอ้อยแบบ 1 ร่อง 4 แถว วิธีนี้ช่วยเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 30 ตัน/ไร่ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ท่อนพันธุ์มากถึง 4 ตัน/ไร่ แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ข้อได้เปรียบของการปลูกอ้อยโดยใช้น้ำหยอดคือ อ้อยงอกได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องเสียแรงงานในการปลูกซ่อมมากเหมือนวิธีการปลูกต้นฤดูฝนทั่วๆ ไป หากปลูกตั้งแต่เดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคม อ้อยสามารถเติบโตคลุมดินได้ในช่วงต้นฤดูฝน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องสารกำจัดวัชพืชได้มาก ระหว่างที่อ้อยเติบโตในช่วงแรกจะไม่มีวัชพืชขึ้นมารบกวนเพราะหน้าดินแห้ง

รถเก็บเกี่ยวอ้อยส่งโรงงาน

หากฝนต้นฤดูตกล่าช้า สามารถใช้ไถระเบิดดินดานกรีดระหว่างร่องปลูกพร้อมหยอดน้ำลงไปอีก 1 ครั้ง ในอัตราไร่ละ ประมาณ 6,000 ลิตร สามารถช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตข้ามช่วงแล้งได้อย่างสม่ำเสมอ หากมีวัชพืชขึ้นในช่วงที่อ้อยยังไม่โตคลุมดินก็ใช้รถกำจัดวัชพืชระหว่างแถวได้เช่นกัน การปลูกอ้อยข้ามแล้งโดยระบบน้ำหยอดให้ผลผลิตสูงถึง 30 ตัน/ไร่ เมื่อเทียบกับผลผลิตโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 10-13 ตัน/ไร่

จากผลงานโดดเด่นที่ผ่านมา ทำให้คุณเสถียรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในฐานะปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2561 ทุกวันนี้ คุณเสถียรยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมในตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ของเกษตรกรชาวจังหวัดกาญจนบุรีให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

คุณเสถียร มาเจริญรุ่งเรือง ทำงานในตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งที่มาข้อมูล

1. รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศีล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เอกสารประกอบการฝึกอบรมโครงการจัดทำต้นทุนผลผลิตและถ่ายทอดความรู้เพื่อลดต้นทุนการผลิตอ้อยของเกษตรกร ในปีเพาะปลูก 2557/58 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล

2. ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2561 กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คุณเสถียรเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ไร่สามัคคีเกษตร จังหวัดกาญจนบุรี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2564