รู้จัก 6 จอมอัศวินไก่ไข่ ที่ผลิตและเลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ของประเทศ แปดริ้ว ถือเป็นเมืองหลวงไก่ไข่แท้จริง

ปัจจุบัน อาชีพเลี้ยงสัตว์ที่ล้ำหน้าไปไกลแล้ว โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกร เป็ด ไก่ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาจนก้าวไกล ทันสมัย ทั้งการพัฒนาพันธุ์ อุปกรณ์ที่ทันสมัย ส่งเสริมให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไทยเหนือกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนชนิดไม่เห็นฝุ่น อาจจะไปไกลกว่าทวีปเอเชียด้วยซ้ำไป

สายพานลำเลียงไข่ไก่จากในฟาร์มเข้าสู่ห้องเก็บไข่ ไหลมาตามช่อง สะดวกแก่การเก็บเข้ามา

นี่คือผลงานของภาคเอกชนที่มีการทำงานและบุกเบิกพันธุ์สัตว์ ต้องจารึกลงไปในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่มีบริษัทชั้นนำของประเทศนำเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง ผลพวงทำให้คนไทยมีอาชีพและรายได้ คนมีงานทำทั่วทั้งประเทศ และรายได้ส่งออกเนื้อสัตว์และไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากขึ้นทุกปี จนได้รับขนานนามว่า “ไทยคือครัวโลก”

คุณมงคล พิพัฒน์สัตยา แห่งฟาร์มชุนเซ้ง บ้านนา จังหวัดนครนายก อดีตนายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่

หากกล่าวถึงการเลี้ยงสัตว์ ที่เด่นสุดในเวลานี้ต้องที่การเลี้ยงง่าย จากรายเล็กสู่รายใหญ่ได้ ก็คือการเลี้ยงไก่ไข่นั่นเอง ที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ จนถึงโรงเรียนให้นักเรียนฝึกเลี้ยงเพื่อเก็บไข่ไก่ไว้เป็นอาหารกลางวันเด็ก และเหลือขายได้

จากสถิติการประเมินปริมาณจำนวนเลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศ มีประมาณ 50 ล้านตัวเศษ ไข่ไก่มีวันละ 40-42 ล้านฟอง ต่อวัน คนไทยคาดว่าจะบริโภคถึงปีละ 300 ฟอง

อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ มีสมาคมอยู่ 2 สมาคม คือ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มี คุณฉวีวรรณ คำพา และสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ไทย มี คุณปราโมทย์ ชูทับทิม เป็นนายกสมาคม นอกนั้นแต่ละรายภาคจะมีจัดตั้งชมรมผู้ผลิตไข่ไก่ไทยเพื่อรวบรวมฟาร์มเลี้ยงให้เป็นปึกแผ่น ว่ากันอย่างงั้น

คุณประยุทธ ศรีวิโรจน์ ฟาร์มศรีวิโรจน์ ขอนแก่น มีฟาร์มไก่ไข่ 3 ล้านตัว ใหญ่สุดของประเทศไทย

หากพาดพิงถึงอดีต การเลี้ยงไก่ไข่มีการเลี้ยงจำนวนน้อย คนไทยไม่นิยมบริโภคไข่ไก่ และบริโภคไข่ปีละ 60-80 ฟอง เคยสูงถึง 120 ฟอง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว กระทั่งมีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยรู้จักคุณค่าทางอาหารไข่ไก่ จนหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ให้สโลแกนว่า “กินไข่วันละฟองทุกวัน ไม่ต้องไปหาหมอ” เพื่อกระตุ้นคนบริโภคไข่ แต่การพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ไม่เคยหยุดยั้ง เมื่อบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ขอเอ่ยชื่อ เครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ ให้การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่อย่างจริงจัง นำเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ที่มีการนำพันธุ์ไก่ไข่ อุปกรณ์ทันสมัย อาหารไก่ไข่ที่มีคุณภาพ และมีการรับประกันราคาไข่ไก่ โดยเฉพาะเล้าไก่ไข่อีแว้ป ที่มีเล้าไก่ได้ลงทุนอย่างจริงจังจนผลิตไข่ไก่ออกมาจำหน่ายได้อย่างคุ้มค่า

กล่าวกันว่า เศรษฐกิจไทย “ไข่ไก่” เป็นอาหารที่จำเป็นของคนไทย ราคาถูกแพงเป็นเรื่องสำคัญของการครองชีพ คนไทยที่ใช้ราคาไข่ไก่เป็นเครื่องวัดความสามารถของการบริหารของรัฐบาลทุกรัฐบาลไปแล้ว เป็นปัญหาของประเทศไทย หากราคาไข่ไก่แพงหรือขาดตลาดไป คนเดือดร้อนสุดคือผู้บริโภคหรือประชาชนนั่นเอง มันไปกระทบถึงรัฐบาลด้วย

Advertisement

เบื้องหลังของการผลิตไข่ไก่หรือผู้มีฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในปัจจุบัน ได้มีจำนวนรายใหญ่ๆ ไม่มากนัก แต่ทว่าเลี้ยงจำนวนมากขึ้น ทันสมัยล้ำหน้าอาชีพอื่น ทั้งเรือนโรงและอุปกรณ์ไก่ไข่ที่ดีสุดของเทคโนโลยี ว่างั้นเถอะ…ฟาร์มแต่ละฟาร์ม เลี้ยงไก่ไข่จำนวนมากและเกินล้านตัวต่อฟาร์ม เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว และเป็นบริษัทในรูปของการบริหารมีระบบ การจัดการที่ดี มีกรรมการผู้จัดการ นักบัญชีการเงิน ผู้จัดการฟาร์ม ประกอบด้วยสัตวแพทย์ นักสัตวบาล พนักงาน คนงานจำนวนมาก สร้างรายได้และมีแรงงานท้องถิ่นให้เลือกกระจายรายได้ไปสู่ชนบท เพราะแต่ละฟาร์มเลี้ยงกันตามจังหวัดต่างๆ ตลอดถึงการจัดจำหน่ายไข่ไก่เป็นรูปแบบที่มีการส่งเสริมการขาย และมีสมาคมเลี้ยงไก่ไข่ดูแลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ หากเกิดขึ้นมากับธุรกิจไก่ไข่จะออกมาปกป้อง

ถ้ากล่าวถึงฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในปัจจุบันนี้ ทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเลี้ยงไก่ไข่ อาจจะตกใจได้ว่า ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ไม่ใช่อยู่ที่ฟาร์มบริษัทใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรอกนะ แต่ทว่าเป็นฟาร์มของเกษตรกรท้องถิ่นต่างหากที่เลี้ยงเป็นจำนวนมากกว่าบริษัทหลายฟาร์ม…โปรดอย่าได้ประหลาดใจ ขืนบริษัทใหญ่ๆ เลี้ยงไก่ไข่แข่งกับลูกค้า มีหวังเจ๊งลูกเดียว เพราะต้นทุนการผลิตไข่ไก่แพงกว่าของฟาร์มต่างจังหวัดนะสิ ต้นทุนค่าแรงงานลูกจ้างถูกกว่ากัน

Advertisement

ดังนั้น ขอนำเสนอข้อมูลฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่สุดของประเทศที่มีจำนวนไก่ไข่เกิน 1 ล้านตัว ดังต่อไปนี้ พร้อมประวัติพอสังเขปเพื่อยกย่องที่เขาฟันฝ่าอุปสรรคของอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งแต่ละรายล้วนพบวิบากกรรมมาทั้งสิ้นในการต่อสู้กับอาชีพนี้มานานหลายทศวรรษ

.คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้เป็นเสาหลักให้วงการการเลี้ยงสัตว์ไทยก้าวหน้า

รายแรก คุณประยุทธ ศรีวิโรจน์
แห่งศรีวิโรจน์ฟาร์ม จังหวัดขอนแก่น

คุณประยุทธ เป็นนักเลี้ยงไก่ไข่มือใหม่สุดของนักเลี้ยงไก่ไข่มืออาชีพทุกฟาร์ม เป็นน้องใหม่ไฟแรงที่สามารถนำพาฟาร์มไก่ไข่เพิ่มจำนวนทวีคูณ เป็นขนาดฟาร์มใหญ่สุดของประเทศไทย มีจำนวนไก่ไข่ กว่า 3 ล้านตัว อยู่ที่ขอนแก่น มีภรรยาเป็นผู้บริหารการตลาดไข่ไก่ ซึ่งแต่ละฟาร์มล้วนมีภรรยาแม่บ้านเป็นผู้ค้าไข่ไก่เป็นส่วนใหญ่ หัวใจรายได้อยู่ที่การขายไข่

เดิมที คุณประยุทธ เมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นคนหนุ่มตระกูลลูกคนมีเงินในขอนแก่น ไม่มีอาชีพอะไรเป็นหลักแหล่ง ถือว่าเป็นคนมีเงิน ไม่เดือดร้อน เข้าทำนอง มีมรดกพ่อแม่มา ว่างั้นเถอะ เมื่อไปได้ภรรยาเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้าที่ตลาดสดขอนแก่น จึงได้ชักชวนกันไปเที่ยวฟาร์ม ก่อนที่จะแต่งงาน ทั้งสองประสงค์ค้าไข่ไก่มาขายในตลาดสด เพราะภรรยาเป็นแม่ค้าขายผ้า ถนัดค้าขายอยู่แล้ว

จึงมีโอกาสไปฟาร์มไก่ไข่กรรณสูตร ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของ คุณเสน่ห์ กรรณสูตร หรือ เสี่ยแอ๊ด นักเลี้ยงไก่ไข่มาช้านาน จึงตกลงขอเจรจาซื้อขายไข่ไก่เป็นจำนวนมาก เพราะตลาดไข่ไก่ขอนแก่นมีความต้องการมาก กอปรเสี่ยแอ๊ดได้สอนหลักการแนวทางค้าไข่ไก่ให้ด้วย

ในวันแต่งงานของคุณประยุทธ โดยฟาร์มกรรณสูตร เจ้าของฟาร์มได้จัดเต็ม ขับรถบรรทุกมาด้วยตนเอง เพราะเป็นลูกค้ารายสำคัญ รายแรกที่สั่งไข่เป็นจำนวนมาก เกรงว่าจะถูกหลอกหรือไม่ จึงต้องขับรถบรรทุกไข่มาด้วย เพื่อขอดูตลาดไข่ไปในตัว ปกติภรรยาเสี่ยแอ๊ดเป็นผู้จัดจำหน่าย หลังจากนั้น เสี่ย    ประยุทธเห็นว่าต้องลองเลี้ยงไก่ไข่ดูบ้าง เพราะตลาดไข่ไก่ไปได้ดี จึงเลี้ยงไก่ไข่ ติดต่อกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เพื่อขอสนับสนุนและความรู้ และซื้อพันธุ์ไก่ โรงเรือนอีแว้ป แบบคนเลี้ยงไก่รายใหม่ใจถึง กล้าลงทุน จึงตัดสินใจดังกล่าว

ไข่ไก่แปรรูปเป็นไข่เยี่ยวม้า ส่งออกตลาดต่างประเทศ

จนกระทั่งมีฟาร์มไก่ไข่ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปถึงการตลาดไข่ไก่ในจังหวัดละแวกใกล้เคียง ฟาร์มศรีวิโรจน์ ได้โด่งดังในยุทธจักรไก่ไข่ภาคอีสาน ในฐานะจำนวนไก่ไข่มากสุด แซงฟาร์มอื่นๆ ที่ตั้งฟาร์มไก่ไข่มาก่อน แม้แต่ฟาร์มกรรณสูตร อยุธยา

ธุรกิจไก่ไข่ของศรีวิโรจน์ฟาร์ม ทำการแปรรูปตลาดไก่ไข่ ในครอบครัวมีลูกชายเรียนจบจากอเมริกา ทั้งชายหญิงต่างมาช่วยกันขยายตลาดไข่ไก่และเปิดโรงงานแปรรูป และผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ มีโรงชำแหละไก่ตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจครบวงจร ตลาดภาคอีสานเป็นแหล่งตลาดใหญ่ ว่ากันอย่างงั้น

เมื่อธุรกิจกำลังไปดี แต่ทว่าอนิจจา เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คุณประยุทธ ศรีวิโรจน์ เกิดหัวใจล้มเหลวอย่างปัจจุบันทันด่วน และต้องจากไปด้วยวัยกำลังทำงาน ความอาลัยโศกเศร้าของครอบครัว และมิตรสหายในวงการเลี้ยงไก่ไข่ต่างคิดไม่ถึง ว่าคุณประยุทธต้องจากไปเร็วเกินไป

โครงสร้างเล้าอีแว้ปราคาหลายล้าน ตามราคาขนาดบรรจุไก่ไข่ไม่เท่ากัน นิยมใช้กัน

รายต่อมา คุณอรรณพ อัครนิธิยานนท์
แห่งบ้านนา จังหวัดนครนายก

คุณอรรณพ หรือ เสี่ยเคว้ง หนุ่มจากกรุงเทพฯ ขายของชำ เกิดไปพบรักกับสาวบ้านนา ที่มีพี่ชายเลี้ยงไก่ไข่ หลังแต่งงาน เจ้าสาวคนงามชักชวนให้เลี้ยงไก่ไข่ เพราะเจ้าสาวถนัด แต่เจ้าบ่าวไม่รู้เรื่อง ไม่เคยเลี้ยงไก่ไข่มาก่อน บังเอิญพ่อตาให้การสนับสนุน เพราะลูกเขยมีลักษณะดูแล้วโหงวเฮ้งดีมาก โอกาสร่ำรวยมีสูงตามตำราจีน

เสี่ยเคว้ง จึงตัดสินใจเลิกอาชีพขายของชำ ปล่อยให้พ่อแม่ขายไปเถอะ ส่วนตัวหลังแต่งงานมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง

เขาเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่จำนวนน้อยไปก่อน แล้วค่อยขยับขยาย แต่เสี่ยเคว้งเป็นคนใจใหญ่ ชอบคูณเลข จึงไปขยายฟาร์มที่อำเภอสระสี่เหลี่ยม จังหวัดชัยภูมิ มีทั้งฟาร์มสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ด้วย หรือจะเป็นเพราะดวงเลี้ยงไก่ไข่มือขึ้น จึงขยายโรงเรือนอีแว้ปทุกหลังในอำเภอบ้านนา มีจำนวนเล้าใหญ่ ราคาสร้างเล้าหลังละเกือบ 5 ล้านบาท ทำถนนในโรงเรือนเป็นคอนกรีต ภายในฟาร์มเพื่อสะดวกการทำงานและขนส่ง

นอกจากนั้น ยังรับผู้จัดการฟาร์ม สัตวแพทย์ สัตวบาล นักบัญชีการเงินในฟาร์มเลี้ยงไก่เป็นล้านๆ ตัว รูปแบบเหมือนกับบริษัทยักษ์ใหญ่แบบในเครือซีพี มีสวัสดิการ โบนัส เงินเดือนดีเพื่อจูงใจ ดังนั้น ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่แต่ละฟาร์มต่างส่งลูกไปเรียนที่อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย กันทุกฟาร์ม ได้มีบริษัทจดทะเบียนกันทุกฟาร์ม ล้วนมั่นคงในธุรกิจ บริหารแบบมืออาชีพ ว่างั้นเถอะ เป็นอีกฟาร์มที่ขยายฟาร์มธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพให้คนมาค้าขายไข่ไก่กันสู่ชนบท ผลพวงจากการจุดประกายไฟจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สร้างคน สร้างเถ้าแก่ไปสู่ชนบทได้ด้วยอาชีพเลี้ยงสัตว์

คุณอรรณพ อัครนิธิยานนท์ เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ สุกร ไก่เนื้อ บ้านนา นครนายก และชัยภูมิ

รายที่ 3 คุณสุธี เตชะธนะวัฒน์
แห่งเทพราช แปดริ้ว เจ้าของ วิศาลฟาร์ม

ตำบลเทพราช เป็นดงเลี้ยงไก่ไข่ใหญ่สุดระดับประเทศ หากรวมจำนวนไก่ไข่แล้ว น่าจะเกิน 50% ของจำนวนไก่ไข่ทั้งประเทศ มีคนกล่าวถึงอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ เป็นอาชีพเก่าแก่มาช้านาน เป็นตำนานของวงการเลี้ยงไก่ไข่ของไทยก็ว่าได้

คุณสุธี หรือ เสี่ยเล็ก บุกบั่นมาหางานทำในฟาร์มวิศาล จนสามารถครองใจลูกสาวเจ้าของฟาร์มได้ ด้วยความขยัน เอาใจใส่ และขยายฟาร์มไปถึงจังหวัดสระแก้ว มีภรรยาดูแลอยู่ที่แปดริ้ว เป็นผู้จำหน่ายไข่ไก่และมีฟาร์มสุกรด้วย จึงมีการบริหารจัดการแบ่งงานกันดูแลพร้อมสมาชิกในครอบครัว

เจ้าของฟาร์มเป็นคนใจดี มีลูกน้องให้ความเกรงใจ แม้นานๆ จะไปตรวจฟาร์มที่สระแก้ว จึงได้ปลูกส้มโอไว้จะได้ไปบ่อย ฟาร์มสระแก้ว อาหารไก่ไข่มาจากอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ สะดวก เล้าไก่อีแว้ปมีโซโลอยู่หน้าเล้า ถึงเวลารถบรรทุกอาหารไก่มาเทใส่ลงโซโล ในกรงไข่ไก่ก็อัตโนมัติ มีไข่ไหลออกมาจากกรงมาจนถึงห้องเก็บไข่ ไม่ต้องพึ่งพาคนเก็บไข่

เป็นเพราะอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ ได้พัฒนาเทคโนโลยีไปไกลสุดแล้ว คนบริโภคไข่ได้รับการบริโภคไข่สดๆ ทุกวันไม่ขาด

ทำให้เสี่ยสุธีมีความสุข หากว่างก็ไปเล่นกอล์ฟที่กรุงเทพฯ กับผู้บริหารของชาวซีพี เล่นไปด้วยคุยกันเรื่องธุรกิจไข่ไก่ไปด้วย หวังว่าคงตีไม่เกิน 18 หลุมแน่นอน ภรรยาที่บ้านไว้ใจได้

 

รายที่ 4 ฟาร์มกรรณสูตร ของ คุณเสน่ห์ กรรณสูตร

เจ้าของสโลแกน “เลี้ยงไก่ไข่ กำไรน้อย ให้อดออมเก็บไว้ในยามยาก” จนสามารถได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 10 ปีก่อน ด้วยวจีเด็ด “เลี้ยงไก่ไข่ ต้องอดออม” ทำนองนั้น

เสี่ยแอ๊ด เป็นคนบุกเบิกไก่ไข่มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น สมัยเด็กๆ พายเรือไปกับพ่อ เพื่อเร่ขายข้าวสาร รำ อาหารคนบริโภค ไปตามคลองบางปะอิน ทุกวัน…เมื่อเติบโต เลี้ยงไก่ไข่ที่แถวละแวกบ้านเขาเลี้ยงกันมาก่อน พื้นที่ต่ำ ต้องเลี้ยงกรงไก่บนบ่อปลาดุก เขาขายไข่ได้ทุนคืน แต่ขายปลาดุกได้กำไร เพราะปลาดุกกินขี้ไก่ที่ตกลงมาบนบ่อปลาใต้ถุนเล้า ว่างั้นเถอะ ต้นทุนเลี้ยงปลาจึงต่ำ

การขยับขยายฟาร์มไก่ไข่มากขึ้น มีฟาร์มสุกรด้วย ได้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนประกันซื้อคืน ค่อยโล่งอก กิจการไปได้ด้วยดี เพื่อรองรับลูกชาย 4 คน เรียนจบปริญญาโทจากอเมริกา ทำให้ตนเองต้องขยายกิจการให้ฟาร์มมากขึ้น รองรับลูกชายที่เรียนจบมาแล้วมีงานทำในฟาร์ม แบ่งหน้าที่กัน

เมื่อปี 2554 น้ำท่วมใหญ่…พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดถูกน้ำท่วมมากสุด ฟาร์มไก่กรรณสูตร จำนวนล้านตัวเศษต้องสังเวยน้ำท่วมไปต่อหน้าต่อตา จมหายจากสายตาเจ้าของไปหมด ทุกคนต่างหันมาเห็นใจเสี่ยแอ๊ดกันมาก

ทว่าเสี่ยแอ๊ดใจเด็ด ประกาศลั่น อีก 2 ปี ผมจะกลับมาเลี้ยงใหม่เท่าเก่าที่สูญไป และแล้วเวลาผ่านพ้นเพียง 2 ปี จำนวนไก่ไข่กลับมาจริงเท่าเดิมทุกประการ

คุณสุธี เตชะธนะวัฒน์ เจ้าของฟาร์มวิศาล ตำบลเทพราช จังหวัดฉะเชิงเทรา

รายที่ 5 คุณมงคล พิพัฒน์สัตยา
แห่งชุนเซ้งฟาร์ม บ้านนา จังหวัดนครนายก

ชีวิตพลิกผันจากช่างตัดเสื้อ ก้าวไกลเปลี่ยนอาชีพหันมาเลี้ยงไก่เนื้อ เริ่มต้นดี แต่ไม่รู้ว่าไก่ล้นตลาด ทำให้ราคาถูก จึงล้มเลิก เข็ดไปนาน ขาดทุน หมดตัว กระทั่งจนต้องมาพึ่งพาปรึกษากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า จะเลี้ยงสัตว์อย่างไรดีถึงไม่ขาดทุน

พนักงานเครือแนะนำให้เลี้ยงไก่ไข่ แล้วประกันราคาให้ จึงตกลงหันมาเลี้ยงไก่ไข่และสุกร ควบคู่กันไป

เมื่อกิจการเริ่มดีขึ้นกลับมาใหม่ เลี้ยงไก่ไข่มาก จนทำให้กิจการมีกำไร ด้วยบุคลิกประนีประนอม และเป็นคนใจกว้าง จึงได้คัดเลือกจากผู้เลี้ยงไก่ไข่ให้เป็นนายกสมาคม ผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่อยู่หลายสมัย ทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนคนเลี้ยงได้นาน ส่วนฟาร์มสุกรของเขาได้มอบให้ลูกชายที่เรียนจบจากอเมริกามาช่วยดูแล เขาบอกว่า ที่มีวันนี้ได้เพราะ ท่านประธาน ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้แนะแนวทางในอาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้มีโอกาสปรับปรุง แก้ไข จนประสบผลสำเร็จ

 

สำหรับรายสุดท้ายนั้น คุณมาโนช ชูทับทิม
ฟาร์มไก่ไข่ตำบลเทพราช

เขาเป็นชาวแปดริ้วโดยกำเนิด อดีตเคยเป็นครูมาก่อน และหันมาเลี้ยงไก่ไข่จนประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงในวงการเลี้ยงไก่ไข่

ความเป็นคนมีเหตุผลและมีคุณธรรม สามารถเป็นตัวแทนคนเลี้ยงไก่ไข่ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา เมื่อราคาไข่ไก่ตกต่ำ ในฐานะเป็นนายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ไทยในปัจจุบัน และอดีตที่เคยเป็นอยู่หลายสมัย เพื่อคอยปกป้องรักษาผลประโยชน์ของอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ ในฐานะมืออาชีพที่ทราบดีของปัญหา

ตำบลเทพราช จึงถือว่าเป็นเมืองหลวงไก่ไข่ของแปดริ้ว หรือของประเทศไทยก็ว่าได้ จำนวนไก่ไข่หลายล้านตัวเลี้ยงกันอยู่ที่นี่ จนถึงบางฟาร์มต้องออกไปขยายฟาร์มที่แห่งใหม่ในภาคตะวันออก ซึ่งไม่ไกลจากที่เดิม เมื่อสถานที่แออัดลง

คุณมาโนช ถือเป็นกระบี่มือหนึ่งในวงการเลี้ยงไก่ไข่ ที่รอบรู้และรู้กลไกของตลาดดีที่สุด หากมีปัญหาไข่ราคาถูกแพงก็จะมาตอบคำถามให้คนในวงการไข่ไก่ในฐานะเป็นตัวแทน ได้ออกมาตอบแทนเพื่อประชาชนได้เข้าใจถึงปัญหาไข่ได้ จนรู้ข้อเท็จจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ

คุณปราโมทย์ ชูทับทิม ฟาร์มเทพราช นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่

ในความคิดของผู้เขียน ว่าฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ที่ขยายเป็นวงกว้างมีขนาดเป็นฟาร์มจำนวนล้านตัวนั้น ด้วยเหตุผลราคาไข่ไก่มีกำไรน้อยต่อฟอง หรือนับเป็นเงินไม่กี่สตางค์ก็ว่าได้ จึงเพิ่มจำนวนไก่ไข่ให้มากขึ้น ต้องบริหารจัดการได้คุ้มทุน

ส่วนผู้เลี้ยงจำนวนน้อยนับเป็นร้อยตัวนั้น พวกเขาเลี้ยงอยู่ตามชุมชน หรือในโรงเรียนเพื่อเป็นอาหารกลางวัน ที่กำลังได้รับความนิยม

ด้วยการบริหารจัดการแบบขายตรง ขายไข่สด ใหม่ ได้ราคาดี คนในละแวกชุมชนนิยมซื้อเพราะเห็นว่าสะดวก ได้ไข่ใหม่ด้วยเพื่อเป็นอาชีพเสริม

โอ้อนิจจา เจ้าลูกไก่น้อยขนสีน้ำตาล เจ้าถูกจำจองอยู่ในกรงขังไร้อิสรภาพตั้งแต่เล็กจนโต นานถึง 75 สัปดาห์ จนสิ้นชีวาเมื่อปลดขาย

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564