เผยแพร่ |
---|
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันฯ กล่าวในฐานะผู้บุกเบิกและมีบทบาทสำคัญในการสำรวจและวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรเพื่อการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายของประเทศไทยว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2506 – 2526 ซึ่งนโยบายของประเทศไทยในขณะนั้น มุ่งไปที่การวางแผนครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าคนรุ่นใหม่นิยมอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงาน และมีลูกกันน้อยลง อัตราเกิดของประชากรไทยจึงลดต่ำลงไปด้วย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล ได้ให้มุมมองว่า การแก้ปัญหาอัตราเกิดต่ำ ด้วยการส่งเสริมให้ประชากรมีลูกกันมากขึ้น อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนักสำหรับสังคมไทย หากไม่ได้พิจารณาถึงคุณภาพของการเกิด หรือเกิดด้วยความไม่พร้อม ซึ่งตัวเลขการเกิดของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 587,000 คน และอาจมีแนวโน้มต่ำลงไปอีกประมาณ 2-3 หมื่นคนตามวิกฤติ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยการประกาศจำนวนเกิดของประชากรไทยในแต่ละปีจะนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของปีนั้นๆ แล้วจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในอีกประมาณ 2-3 เดือนถัดไป
“ปัญหาที่เร่งด่วนมากกว่าปัญหาอัตราเกิดฮวบต่ำลงในขณะนี้ คือ การเตรียมพร้อมอย่างไรเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งประชากรที่เกิดในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2506-2526 ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดในการนำมาพิจารณาเป็นโจทย์เพื่อการศึกษาวิจัยให้ตอบสนองทิศทางความต้องการของผู้สูงวัยไทยในอนาคต โดยควรเน้นให้เตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพ และระวังการใช้จ่าย หมั่นเก็บออมไว้เพื่ออนาคต” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล กล่าวแนะนำทิ้งท้าย