“ไร่สลิลทิพย์” สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ยุคโควิด-19

ด้วยสภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแต่ประเทศมหาอำนาจยังใหญ่ยังสั่นคอน ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปในหลายๆ ด้าน รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทั้งเรื่องวัคซีนและเรื่องปากท้องของประชาชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ผุด โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งทางรอดที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส !! สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ยุค โควิด-19 ในปัจจุบัน

นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ คุณประมวน กองน้อย ยืนอยู่ขวาสุดของภาพ

คุณนวลสรี กองน้อย เป็นอีกหนึ่งคนที่สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 1 ไร่ โดยที่ให้สามี และบุตรชาย คือ คุณหนุ่ย-คุณประมวน กองน้อย เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ภายใต้ชื่อ “ไร่สลิลทิพย์”

คุณประมวน กองน้อย เจ้าของไร่สลิลทิพย์ กล่าวว่า อดีตเคยเป็นนักสื่อสารมวลชนมาก่อน ทำงานในสายข่าวกับหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เก็บสะสมความรู้ประสบการณ์มาบ้าง…เมื่อวงการสื่อสารมวลชนเข้าสู่ยุคดิจิตอล จึงได้ผันตัวเองออกมาหันหลังให้วงการสื่อมวลชนกลับสู่บ้านเกิดที่อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม มาทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อในนาม “ร้าน ป๋าหนุ่ย” จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดในชุมชน

คุณสไบแพร เฉลยพจน์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ

หลังจากนั้น ได้เข้าไปร่วมเป็นหนึ่งใน “นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” หรือ (นพต.) มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมการเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ที่สำนักงานพัฒนาจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดขึ้น ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม นำความรู้มาต่อยอดเป็นครูพาทำช่วยเหลือกิจกรรมเรื่องขององค์ความรู้ให้กับครัวเรือนในด้านต่างๆ ให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่แปลงและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนในยุคโควิด-19”

“ไร่สลิลทิพย์” ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยแบ่งพื้นที่ที่เคยทำนามาก่อน  8 ไร่ ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เข้าร่วมโครงการ 1 ไร่ทำการขุดตามแบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งพื้นที่จะต้องมีในส่วนของหนอง นา และคลองไส้ไก่ ซึ่งได้บริหารจัดการดังนี้ คือ 1. โคก ได้ทำการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 เช่น ไม้สูง อาทิ ยางนา สัก ไม้กลาง อาทิ มะม่วง ลำไย ขนุน สะเดา มะไฟ เงาะ มังคุด ไม้เตี้ย อาทิ มะละกอ มะเขือ พริก ไม้เรี่ยดิน อาทิ ถั่วฝักยาว บวบ ฟักทอง แตงกวา และไม้ใต้ดินกินหัว อาทิ ขิง ข่า ตะไคร้ มันแกว ถั่วดิน กระชาย เป็นต้น 2. หนอง ได้ทำการเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน กุ้ง หอยขม และกระจับ 3. นา ได้ทำการปลูกข้าวเหนียว กข 6

โดยที่ไร่สลิลทิพย์ใช้การบริหารคือ “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ โดยไม่ใช้สารเคมี จะเน้นการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง น้ำหมักรสจืดจากต้นกล้วย การทำปุ๋ยหมักแห้ง และทำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ

นอกจากนี้ บริเวณรอบพื้นที่ยังได้ทำการปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น มะม่วง ลำไย มะไฟ ขนุน มะนาว ดอกกระเจียวขาว ดอกกระเจียวหวาน ฝรั่ง ผักหวาน และกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งยังมี “คันนาทองคำ” ใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น หอม ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะเขือ แตงกวา บวบ และถั่วฝักยาว เป็นต้น โดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งการทำน้ำหมัก การห่มดิน การทำแซนด์วิชปลา การทำปุ๋ยหมักแห้ง การทำหลุมพอเพียง เข้ามาช่วยในการลดต้นทุนและรักษาความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่แปลงครัวเรือนต้นแบบได้เป็นอย่างดี

“ปัจจุบันไร่สลิลทิพย์ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สามารถเลี้ยงชุมชนได้เป็นอย่างดีในยุคโควิด-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและครัวเรือน มีรายได้จากการขายพืชผักในโครงการ ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน ความสำเร็จดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ เพราะการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนแกดำ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม และกรมการพัฒนาชุมชน ที่มอบโอกาสให้เราได้เข้าร่วมโครงการ” คุณประมวน กล่าวทิ้งท้าย

ทางด้าน คุณสไบแพร เฉลยพจน์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทหน้าที่พัฒนากรคือส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานให้นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ทำหน้าที่ตามภารกิจในการไปขับเคลื่อนในแปลงครัวเรือนที่รับผิดชอบในตำบล/ส่วนครัวเรือนโคก หนอง นา โมเดล พัฒนากรก็มีหน้าที่ไปติดตามสนับสนุนในองค์ความรู้ของครัวเรือน ให้ครัวเรือนได้พัฒนาและเรียนรู้เพื่อเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การลงมือปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จในแต่ละด้าน สนับสนุนการจัดทำฐานเรียนรู้ ประสานงานหน่วยงานภาคีเพื่อร่วมสนับสนุนองค์ความรู้แก่ครัวเรือน เข่น ด้านปศุสัตว์ก็ช่วยประสานทางด้านปศุสัตว์ เพื่อให้ความรู้ทั้งการเลี้ยง/การทำอาหาร/การรักษาโรคในสัตว์ เป็นต้น รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนหรือผู้สนใจได้มาเรียนรู้และขยายผลต่อไปจนสุดท้ายครัวเรือนสามารถพึ่งตนเองได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ที่ดินในการเข้าร่วมโครงการ มีทัศนคติที่ดีต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ ดำเนินการปรับรูปแบบแปลงที่ดินตามแบบรายละเอียดงานปรับรูปแบบแปลงที่ดินตามแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ พื้นที่ 1 ไร่ และ 3 ไร่ เพื่อให้พื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน โดยมีนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบรับผิดชอบในการติดตาม สนับสนุน ประสานการดำเนินงานขับเคลื่อนกิจกรรมในแปลงร่วมกับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและครัวเรือนเจ้าของแปลง ดำเนินการกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ครัวเรือนละ 3 ครั้ง เพื่อให้ครัวเรือน เกิดการถ่ายทอดความรู้ ฝึกทักษะปฏิบัติทางหลักกสิกรรมธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญจากบุคคลสู่บุคคล ผ่านการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันพัฒนาพื้นที่ เกิดความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน”

“โคก หนอง นา พัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ” มุ่งมั่น พัฒนา เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้รอดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนกิจกรรม    โคก หนอง นา ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นที่พึ่ง สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนในพื้นที่สนใจเยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล “ไร่สลิลทิพย์” สามารถติดต่อได้ที่ เลขที่ 85 หมู่ที่ 3 บ้านเสือกินวัว ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม 44190 โทร. 086218-2199, 093554-9857

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2564