สุริยัณห์ สายหยุด ปลูกกล้วยด่างสายพันธุ์ดี เจาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ สร้างรายได้งาม ที่ชุมพร

“กล้วยด่าง” เราต้องมองว่ามันคือกล้วย อย่าไปทำให้ยาก หากใส่ปุ๋ยมากเกินไป ทำอะไรที่มากเกินไปต้นกล้วยจะตาย ถ้าเราปลูกตามวิธีที่ถูกต้อง ทำเสร็จพักไว้ระยะหนึ่งกล้วยด่างก็จะเจริญเติบโตตามธรรมชาติ คอยกำจัดแมลงที่เข้ามา รบกวนในบางครั้งเท่านั้น”

คนรักไม้ด่างเยี่ยมชมแปลงปลูก

สุริยัณห์ สายหยุด (ลูกหมี) เกษตรกรเพาะเลี้ยงกล้วยด่าง เจ้าของบ้านสวนลูกหมี อาศัยอยู่ที่บ้านน้ำฉา อำเภอสวี จังหวัดชุมพร นับเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการไม้ประดับด้วยก่อนหน้านี้ปลูกกล้วยไม้ส่งออก แต่ปัจจุบันกล้วยไม้มีกระแสความนิยมที่ลดลง ผนวกกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกกล้วยไม้ไปยังตลาดต่างประเทศได้ จึงมีแนวคิดผลิตไม้ประดับที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะกล้วยด่าง บอนด่าง และบอนสี

คุณสุริยัณห์ เล่าว่า เมื่อตลาดกล้วยไม้ซบเซาลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวมองหาลู่ทางทำเงินใหม่อีกครั้ง ด้วยตนเองจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ในสาขาวิชาพืชศาสตร์ จึงนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์เข้ากับหลักเศรษฐศาสตร์ ใช้พื้นที่ว่างรอบบ้านเนื้อที่ประมาณ 2 งาน อยู่ภายในสวนทุเรียนเนื้อที่ 7 ไร่ พัฒนาให้เกิดเป็นรายได้

“หูช้างขาว” คุณสุริยัณห์ สายหยุด (ซ้าย) และลูกค้า คุณพรเทพ เรียบร้อย (ขวา)

ตอนแรกมีแนวคิดปลูกกล้วยจำหน่ายผลแต่ใช้ระยะเวลาถึง 8 เดือน กว่าจะตัดเครือจำหน่ายได้ จึงมองว่าไม่คุ้มต่อการลงทุน กอปรกับต้นปี พ.ศ. 2564 ได้พบกล้วยด่างซึ่งในขณะนั้นราคาไม่สูงนัก หน่อละ 1,000-3,000 บาท ใช้ระยะเวลาปลูกเพียง 4 เดือน ก็สามารถแทงหน่อจำหน่ายได้จึงเริ่มซื้อมาปลูกสะสมไว้รอบบ้าน ช่วงแรกประสบปัญหาอยู่บ้างทั้งถูกโกงด้วยการส่งกล้วยที่ไม่ด่างมาให้และหน่อกล้วยด่างมีสภาพเสียหายไม่สามารถนำไปปลูกได้ ส่งผลให้สูญเสียเงินไปกว่า 500,000 บาท แต่ด้วยความเป็นคนไม่ยอมแพ้ใช้วิธีเสาะแสวงหาจนได้พบกับผู้เชี่ยวชาญในวงการกล้วยด่างแบ่งปันขายหน่อกล้วยสายพันธุ์แท้ให้ในราคามิตรภาพ อาทิ กล้วยเทพพนมด่าง, กล้วยน้ำว้าค่อมด่าง และกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ด่างทองครูปาน ปัจจุบัน กล้วยด่างทั้ง 3 สายพันธุ์นี้มีราคาจำหน่ายหน่อละไม่ต่ำกว่า 30,000-70,000 บาท

 แนะนำกล้วยด่าง “บ้านสวนลูกหมี”

กล้วยฟลอริด้าด่าง

กล้วยด่างสามารถสร้างแรงดึงดูดให้ตลาดไม้ประดับกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งโดยมีแหล่งจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ภายในประเทศ อีกส่วนหนึ่งมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรวมของกล้วยด่างจากทั่วโลก

คุณสุริยัณห์ กล่าวว่า ด้วยกระแสความนิยมไม้ประดับที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมที่มักให้ความสำคัญกับไม้ตัดดอก กลับกลายเป็นพรรณไม้ด่างส่งผลให้กล้วยด่างเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยหลักๆ แล้วกล้วยด่างสายพันธุ์ที่นิยมเพาะเลี้ยงคือ กล้วยป่าด่าง (กล้วยเถื่อน) มีราคาจำหน่ายตั้งแต่หน่อละ 1,000-200,000 บาท เอกลักษณ์ความด่างของกล้วยป่าด่าง คือ ปื้นสีแดง หรือสีน้ำตาลสามารถแปรผันได้ ส่วนก้านมีทั้งก้านแดง ก้านดำ ก้านขาวขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของกล้วยป่า บ้านสวนลูกหมีก็ได้รวบรวมกล้วยป่าด่างเอาไว้เช่นกัน อาทิ กล้วยป่าด่างตรัง, กล้วยป่าด่างสตูล, กล้วยป่าด่างลายหินอ่อน, กล้วยป่าด่างปาปัว (สีเหลือง) และกล้วยป่าด่างทองจอห์น

กล้วยน้ำว้าค่อมด่าง

สำหรับสายพันธุ์ที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ของสวนคือ กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ด่างทองครูปาน, กล้วยฟลอริด้าด่าง, กล้วยน้ำว้าค่อมด่าง นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเพาะขยายพันธุ์กล้วยด่างสายพันธุ์อื่นๆ เช่น กล้วยเทพพนมด่าง, กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ด่างขาว-ด่างเหลือง, กล้วยน้ำว้ายักษ์, กล้วยน้ำว้าไอศกรีม, กล้วยตานีด่าง (กล้วยมังลา), กล้วยน้ำว้ามะลิอ่องด่างขาว-ด่างเหลือง, กล้วยไข่ด่างทอง, กล้วยด่างจอมทอง, กล้วยทับทิมสยาม (แดงอินโด), กล้วยหอมด่างถ้ำสิงห์ เป็นต้น  

 กล้วยด่าง “เพาะเมล็ด” ได้หรือไม่

คุณสุริยัณห์ กล่าวว่า การเพาะเมล็ดกล้วยด่างขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยเฉพาะกล้วยป่าจะเพาะง่าย บ้านสวนลูกหมีเน้นเพาะขยายพันธุ์กล้วยป่าด่างด้วยวิธีเพาะเมล็ด ใช้โรงเรือนเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เก่ามีซาแรนกำบังแดดเป็นสถานที่เพาะชำ มีวิธีการทำเริ่มต้นเพียงนำเมล็ดกล้วยป่ามาล้างให้สะอาด จากนั้นจึงนำเมล็ดที่ได้มาฝังกลบด้วยทรายทิ้งไว้ระยะหนึ่งเมล็ดกล้วยป่าก็จะงอกขึ้นมาแล้วถอนเพื่อนำไปปลูก ส่วนกล้วยเมล็ดจำพวกกล้วยตานี (กล้วยมังลา) มีเปอร์เซ็นต์งอกน้อย แต่ปัจจุบันก็มีผู้ที่เพาะเลี้ยงกล้วยตานีด่างได้อย่างสวยงาม ทั้งนี้ ให้สังเกตว่ากล้วยตานี, กล้วยน้ำว้าบ้าน และกล้วยเถื่อน เมื่อปลูกอยู่ในบริเวณเดียวกันจะเกิดการกลายพันธุ์เป็นกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์ใหม่ที่มีเมล็ดและมีโอกาสด่างได้เช่นกัน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากต้นแม่พันธุ์ด่าง ลูกที่งอกออกมาก็ย่อมมีเปอร์เซ็นต์ความด่างมากตามไปด้วย เช่น แม่ด่าง-พ่อด่าง ลูกด่างเช่นเดียวกัน ยกเว้นกล้วยบางสายพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ด เช่น กล้วยไข่, กล้วยหอมทอง จะหาต้นด่างจากกล้วยจำพวกนี้ได้น้อยมาก ส่วนกล้วยฟลอริด้าด่าง, กล้วยน้ำว้าค่อมด่าง, กล้วยเล็บมือ กล้วยประเภทนี้จะหาเมล็ดได้ยาก

กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ด่างทองครูปาน

 คัดเลือก “หน่อกล้วย”

คุณสุริยัณห์ กล่าวว่า การคัดเลือกหน่อกล้วยด่างควรเลือกหน่อที่ไม่ด่างจัดจนเกินไป มีสีเขียวปะปนอยู่มาก เนื่องจากรงควัตถุสีเขียว (คลอโรฟิลล์) ที่พืชใช้สำหรับสังเคราะห์แสงหากด่างมาก จุดด่างเหล่านั้นจะทำให้พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ ส่วนสีเหลือง พืชอาจสังเคราะห์แสงได้บ้างแต่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าสีเขียว สีดำ หรือสีแดง พร้อมทั้งตรวจสอบเหง้า (ลำต้นใต้ดิน) ต้องมีขนาดใหญ่อวบอ้วน ส่วนในกรณีที่หน่อเล็กเกินไปจะใช้กรรมวิธี “ตอนหน่อ” ตัดยอดกล้วยด่างส่วนที่โผล่พ้นดินออกให้เหลือประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อเร่งให้เหง้าที่อยู่ใต้ดินมีขนาดใหญ่และกระตุ้นการแตกราก หรืออาจใช้วิธีการทาน้ำยาเร่งรากได้เช่นกัน แต่โดยรวมแล้วควรเลือกหน่อที่มีเหง้าขนาดใหญ่จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีนั่นเอง

ส่วนวิธีการตรวจสอบกล้วยด่างแท้หรือด่างเทียม แนะนำผู้เพาะเลี้ยงมือใหม่ควรสอบถามความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ โดยเอกลักษณ์ของกล้วยด่างแท้นั้นสีจะด่างชัดเจนไม่คลุมเครือ ขาวให้เห็นอย่างเด่นชัด หรือเหลืองโดดเด่นสะดุดตา ส่วนกล้วยด่างเทียมมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับกล้วยสายพันธุ์ทั่วไปที่มีการตัดแต่งหน่อ หรือโดนกดทับจนมีอาการด่างออกมาให้เห็น โทนสีมีลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจนจะด่างก็ไม่ด่าง เหลืองก็ไม่เหลือง มีสีเขียวแทรกอยู่เป็นช่วงๆ จุดที่ด่างมีลักษณะเป็นปื้น หากมองโดยผิวเผินอาจคิดว่าเป็นกล้วยด่างแท้ แต่ด้วยลักษณะที่ไม่ชัดเจนเหล่านี้จึงจัดเป็นกล้วยด่างเทียม

กล้วยเทพพนมด่าง

แต่ในบางครั้งกล้วยสายพันธุ์ทั่วไปเมื่อนำไปปลูกแล้วแทงหน่อไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นกล้วยด่างได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ยังมีกล้วยด่างอีกประเภทหนึ่งคือ กล้วยด่างไวรัส ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับกล้วยป่า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉดสีด่างขาว-ด่างเหลือง ไม่ชัดเจนเกิดขึ้นเป็นจุดๆ ไม่มีความแน่นอนและมีโอกาสจางหายไปได้ แต่ในบางครั้งต้นกล้วยป่าที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปเป็นจำนวนมากก็อาจให้เฉดสีที่ด่างแปลกตาสวยงามได้เช่นกัน

 แนะนำมือใหม่ปลูกกล้วยด่าง

ปลูกพืชทุกชนิด น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ กล้วยด่างก็เช่นกันหากตัดสินใจปลูกต้องวางระบบน้ำให้เรียบร้อย บ้านสวนลูกหมีเลือกใช้ระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ในการให้น้ำกล้วยด่าง ติดตั้งหัวสปริงเกลอร์เข้ากับกล้วยด่างทุกต้น เว้นระยะห่างจากโคนต้นประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ละอองน้ำสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง

กล้วยทับทิมสยาม (แดงอินโด)

คุณสุริยัณห์ กล่าวว่า กล้วยด่างสามารถปลูกได้ในดินทั่วไปเพียงแต่เน้นหนักไปในการให้น้ำต้องมีความสม่ำเสมอ แต่ไม่ให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้น ในกรณีที่เป็นพื้นที่ลุ่มควรยกร่องแปลงปลูกป้องกันน้ำท่วมขัง วางแนวปลูกเป็นแถวเว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 2×2 เมตร หรือแล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ เทคนิคการปลูกไม่จำเป็นต้องขุดหลุมปลูกให้ลึกเหมือนดังเช่นการปลูกกล้วยขายผล เพียงแค่รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก (มูลวัว) ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันกับดินปลูกในอัตราส่วน 1 : 1 พร้อมทั้งโรยฟูราดานและเซฟวินในอัตราส่วนอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ นำหน่อกล้วยด่างลงปลูกกลบฝังดินให้เสมอกับระดับเดิม จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มตามด้วยน้ำยาเร่งรากและโรยฟูราดานซ้ำอีกครั้งบริเวณหลุมปลูกก็เป็นอันเสร็จสิ้น

สาเหตุที่ต้องพิถีพิถันในขั้นตอนการปลูกเนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าแปลงปลูกที่ส่งหน่อกล้วยด่างมาให้มีหนอนกอระบาดติดมาด้วยหรือไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อนำลงปลูกจึงต้องป้องกันให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เสียหายนั่นเอง หากเป็นหน่อกล้วยด่างภายในแปลงสามารถนำมาปลูกได้ทันทีเพราะไม่บอบช้ำ เพียงแค่แทงหน่อกล้วยออกจากต้นแม่แล้วทาแผลบริเวณเหง้าด้วยปูนแดงเพื่อป้องกันเชื้อราก็สามารถปลูกได้แล้ว แต่ก็ต้องคำนึงว่ากล้วยทุกชนิดมีความเสี่ยงต่อการตายพราย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าด่าง มีสาเหตุจากแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายจึงต้องป้องกันด้วยสารเคมีกำจัดแมลงจำพวกเซฟวิน (คาร์บาริล) โรยยอดด้านบนสุดและบริเวณโคนต้น เมื่อฝนตกเซฟวินที่โรยเอาไว้จะซึมลงไปถูกตัวอ่อนแมลง ไข่หนอน หรือหนอนกอจนตายทั้งหมด

 “ใบกล้วย” สร้างแบรนด์ 

แบรนด์สินค้านับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าในการตัดสินใจสั่งซื้อ บ้านสวนลูกหมี เลือกสร้างจุดขายของตนเองผ่านใบกล้วยด่างซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นไม่เหมือนใคร

กล้วยด่างจอมทอง

คุณสุริยัณต์ กล่าวว่า “ใบกล้วยด่าง” ถือเป็นจุดเด่นเรียกความสนใจจากลูกค้าด้วยการโพสต์ภาพลงในสื่อออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกชม โดยหัวใจสำคัญของภาพถ่ายกล้วยด่างคือ “ใบกล้วย” จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ใบกล้วยต้องไม่มีร่องรอยแมลงกัดกิน หรือสภาพใบเหี่ยวแห้งเนื่องจากแมลงเข้าทำลาย เลือกใช้วิธีป้องกันด้วยการฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเซฟวิน หรือ  อิมิดาโคลพริด วิธีการใช้ให้สังเกตเมื่อพบเห็นผีเสื้อบินอยู่ภายในแปลงแสดงถึงการเข้ามาวางไข่ก็สามารถฉีดพ่นได้ อาศัยช่วงที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงทุเรียนก็ฉีดพ่นใบกล้วยด่างไปด้วยในอัตราส่วนเซฟวิน 350 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร หากฉีดพ่นกับถังเป้สะพายหลังให้ใช้อัตราส่วนเซฟวิน 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งใบและโคนต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดแมลงอาจมีการดื้อยาจึงต้องเพิ่มปริมาณของสารฆ่าแมลงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีสารฆ่าแมลงชนิดอื่นที่สามารถใช้ฉีดพ่นใบกล้วยด่างได้เช่นกัน อาทิ อะบาเมกติน หรือไซเปอร์เมทริน แต่สารเคมีเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาร้อนจึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดปัญหาใบไหม้หรือยอดไหม้หลุดร่วงได้

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ “กระแสลม” ต้องสังเกตว่าแปลงปลูกมีลมแรงหรือไม่ หากพบว่าลมแรงให้ทำการค้ำยัน โดยใช้กรรมวิธี “ปักค้ำ” ต้นกล้วยด่างด้วยไม้ไผ่ 1 ง่าม 2 ง่าม หรือ 3 ง่าม ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นกล้วยด่าง หากมีน้ำหนักมากก็จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณไม้ค้ำยัน แต่ที่เลือกใช้อยู่เป็นประจำจะค้ำยันในลักษณะสามเส้า โดยใช้ไม้ไผ่ 3 ง่าม มาทำการค้ำยันแม้มีกระแสลมแรงพัดมาในทิศทางใดต้นกล้วยด่างก็ยังคงยืนตระหง่านอยู่ได้ไม่ล้มลงเนื่องจากมีไม้ค้ำยันช่วยพยุงอยู่ถึง 3 ด้านนั่นเอง อีกทั้งการค้ำยันในลักษณะนี้ยังช่วยให้ต้นกล้วยด่างไม่เอียงล้มในขณะขุดแทงหน่ออีกด้วย

 เผยเคล็ดลับเร่งหน่อ

กล้วยด่างหากใส่ปุ๋ยในปริมาณมาก หรือฉีดพ่นสารเคมีป้องกันแมลงในปริมาณมากย่อมมีความเสี่ยงต่อการที่จะทำให้กล้วยด่างยืนต้นตาย เพราะฉะนั้นจึงควรดูแลแต่พอดี

คุณสุริยัณต์ กล่าวว่า กล้วยด่างระยะแรกปลูกเน้นใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 ทุก 15 วัน ในอัตราส่วน 2 กำมือ หว่านรอบโคนต้นเว้นระยะห่างประมาณ 3 นิ้ว แล้วรดน้ำตามเพื่อให้ปุ๋ยละลาย หากใส่ปุ๋ยชิดโคนต้นกล้วยจะเค็มปุ๋ย ใส่ห่างโคนเกินไปรากจะกินปุ๋ยไม่ถึง แต่ถ้าใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ต้นกล้วยจะออกเครือติดลูกและไม่งอกหน่อนั่นเอง ผ่านระยะ 3 เดือนแรกไปแล้วหากต้องการเอาหน่อจะร่นระยะเวลาการใส่ปุ๋ยให้กระชับมากขึ้นด้วยการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทุกระยะ 7-10 วัน ในอัตราส่วน 2 กำมือ เพื่อเร่งให้ต้นกล้วยด่างงอกหน่อใหม่ออกมาอย่างรวดเร็ว โดยต้นกล้วยด่างที่มีโครงสร้างสมบูรณ์จะเริ่มให้หน่อตั้งแต่ระยะ 4-6 เดือน ในทุกสายพันธุ์เกษตรกรก็สามารถที่จะแทงหน่อออกจำหน่ายได้

กระบวนการแทงหน่อจะเริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่ลูกค้ามีการสั่งซื้อกล้วยด่างจะต้องเข้าไปสำรวจแปลงดูว่าหน่อกล้วยด่างสายพันธุ์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่สมบูรณ์ดีหรือไม่ หากพบว่ามีขนาดเล็กก็ไม่สามารถแทงหน่อได้ จะทำการตอนหน่อเพื่อให้ลูกค้าได้รับหน่อกล้วยด่างที่มีขนาดใหญ่เมื่อนำไปปลูกแล้วสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ในทางกลับกันหากเลือกแทงหน่อกล้วยด่างขนาดเล็ก หน่อกล้วยจะมีความอ่อนแอ ฟื้นตัวได้ช้า และมีอัตราการตายสูง เพราะฉะนั้น บ้านสวนลูกหมีจึงมุ่งมั่นคัดเฉพาะหน่อกล้วยด่างที่มีขนาดใหญ่สมบูรณ์ออกจำหน่ายเท่านั้น ถือเป็นความซื่อสัตย์ที่มอบให้แก่ลูกค้า พร้อมสร้างความประทับใจให้กลับมาซื้อหากันอีกครั้ง

ส่วนวิธีการแทงหน่อจะนำเหล็กแทงปาล์มเข้ามาประยุกต์ใช้แทงลงไปในดินบริเวณรอบหน่อก่อนเพื่อตรวจสอบว่าหน่อกล้วยด่างมีรากงอกออกมามากน้อยเพียงใด เหง้ามีขนาดใหญ่หรือไม่ จากนั้นจึงทำการเขี่ยดินบริเวณเหง้าออก หรือใช้น้ำฉีดชะล้างดิน เพราะในบางครั้งอาจมีหน่องอกออกมาซ้อนกันเมื่อแทงลงไปก็ทำให้หน่อที่งอกซ้อนกันนั้นเสียหาย จากนั้นใช้มีดปาด หรือเหล็กแทงปาล์มแทงเพื่อแยกหน่อออกจากกัน เมื่อแทงหน่อออกมาแล้วต้องทาเหง้าด้วยปูนแดง พร้อมทั้งทาไปที่แผลบริเวณโคนต้นที่แทงหน่อออกมาด้วยเพื่อป้องกันเชื้อรา ก่อนโรยฟูราดานซ้ำอีกครั้งเพื่อป้องกันหนอนกอแล้วจึงกลบดินให้เหมือนเดิม

 กล้วยด่างทำเงิน

คุณสุริยัณห์ กล่าวว่า บ้านสวนลูกหมีเน้นจำหน่าย “หน่อกล้วยด่างสด” ไม่ขายกล้วยชำหน่อ เพราะฉะนั้น ก่อนขุดหน่อทุกครั้งต้องให้ลูกค้าเลือกดูผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก Suriyun Saiyood เมื่อขุดเสร็จก็ให้ลูกค้าตรวจสอบสภาพหน่ออีกครั้งแล้วจึงสอบถามความพึงพอใจในระดับราคา ถ้าไม่ตกลงก็จำหน่ายให้ลูกค้ารายอื่นหรือนำไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ในกรณีที่ลูกค้าตอบตกลงรับสินค้ามีการโอนเงินเรียบร้อยก็จะทำการแพ็กสินค้าส่งทางไปรษณีย์ โดยวิธีแพ็กหน่อกล้วยด่างใช้กระดาษหนังสือพิมพ์พันหุ้มตั้งแต่บริเวณเหง้าไปจนถึงยอด จากนั้นห่อทับอีกชั้นหนึ่งด้วยพลาสติกกันกระแทกมัดเชือกใส่ลังให้เรียบร้อยเพื่อนำไปส่ง ทั้งนี้ หน่อกล้วยด่างที่มีสภาพไม่บอบช้ำสามารถอยู่ได้ถึง 7 วัน ก่อนลงหลุมปลูก

ส่วนระดับราคาขึ้นอยู่กับสายพันธุ์กล้วย ขนาดหน่อ และลายด่าง แต่ได้กำหนดมาตรฐานส่วนตัวเอาไว้ว่าจะต้องมีลายด่าง 60 เปอร์เซ็นต์ ลายเขียว 40 เปอร์เซ็นต์ กระจายอยู่ทั่วทั้งใบ โดยกล้วยด่าง 1 หน่อ มีราคาตั้งแต่ 6,000-100,000 บาท อาทิ กล้วยน้ำว้าค่อมด่าง ราคา 35,000-45,000 บาท, กล้วยฟลอริด้าด่าง ราคา 20,000-30,000 บาท, กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ด่างขาว-ด่างเหลือง ราคา 35,000 บาท เป็นต้น นอกจากกล้วยด่างแล้วบ้านสวนลูกหมียังปลูกบอนกระดาษทอง, บอนหูช้างด่างขาว, บอนหูช้างด่างเหลือง รวมถึงบอนสีเสริมระหว่างร่องกล้วยด่างซึ่งใช้ระยะเวลาดูแลเพียง 2 เดือนก็สามารถจำหน่ายได้

สำหรับผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงพรรณไม้ด่างควรสั่งซื้อผ่านแหล่งจำหน่ายที่มีความน่าชื่อถือ ตรวจสอบต้นพันธุ์จนมีความมั่นใจจึงตกลงซื้อ อาจเลือกแหล่งจำหน่ายในระดับปานกลางมียอดจำหน่ายไม่มากนักแต่ใส่ใจในรายละเอียดของสินค้าและติดตามดูแลลูกค้าหลังการขาย

คุณสุริยัณห์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อมองเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้าแล้วควรรีบทำ เสาะหาแนวทางที่ตนเองชื่นชอบและขอคำแนะนำจากผู้รู้ ปัจจุบัน ตลาดไม้ประดับโดยเฉพาะกลุ่มไม้ด่างยังคงเปิดกว้างและยังมีพรรณไม้อีกหลายชนิดที่เราสามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรายได้

ติดต่อเกษตรกร คุณสุริยัณห์ สายหยุด (ลูกหมี) บ้านเลขที่ 54 หมู่ที่ 11 ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 โทร. 086-275-4741, เฟซบุ๊ก Suriyun Saiyood