วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ สอนปลูกเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ด ในโรงเรือนอัจฉริยะ

เนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในภาคเกษตรกรรม ของนักศึกษาสายอาชีวศึกษา มีอีกจำนวนไม่มาก กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทยที่จัดให้มีการเรียนการสอนทั้งสอดแทรกและโดยตรงกับสายงานอาชีพเกษตรกรรม ฉบับนี้เป็นฉบับปฐมฤกษ์สำหรับคอลัมน์เทคโนโลยีอาชีวะ นำเสนอด้วยผลงานลูกอีสาน ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,220 ไร่

พื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่อยู่อำเภอเมือง 350 ไร่ และส่วนที่เป็นไร่ฝึกนักศึกษา อยู่อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ 870 ไร่

มี คุณวิทยา พลศรี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนปัจจุบัน มีนักเรียนนักศึกษารวมทั้งสิ้น 2,280 คน มีผู้บริหาร ครู บุคลากรอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 175 คน

จัดการเรียนการสอนหลากหลายแผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ ช่างกลเกษตร ประมง อุตสาหกรรมเกษตร คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบัญชี การจัดการ การโรงแรม การจัดการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศน์ และจัดการเรียนการสอนใน 3 รูปแบบ คือ การเรียนในระบบ การเรียนนอกระบบ และการเรียนในรูปแบบทวิภาคี โดยยึดหลัก learning by doing / project base learning /problem base learning

วิทยาลัยได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้เป็นศูนย์บริการและซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมอบให้ผู้อำนวยการวิทยาลัย ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อีกหน้าที่หนึ่ง

คุณวิทยา เล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรและเทคโนโลยี ตามชื่อของสถาบัน ที่ต้องมีความมุ่งมั่นรักษาไว้ซึ่งการเรียนการสอนในแนวลักษณะตามหลักสูตรที่มี เพื่อให้สอดคล้องและนักศึกษาได้รับการศึกษาตรงสายวิชาชีพอย่างเต็มที่

โรงเรือนอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในแนวการสอนของวิทยาลัย โดยผู้อำนวยการมอบหมายให้ คุณกุลภรณ์ กุณรักษ์ ครูประจำแผนกวิชาพืชศาสตร์ จัดการเรียนการสอนในรายวิชาการปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะ เนื่องจากเห็นว่า โรงเรือนอัจฉริยะที่ใช้ในการเพาะปลูกพืช โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ในเรื่องการปลูก การดูแลรักษา การควบคุมความชื้น ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ปลอดภัยสูงสุด และคัดเลือกพืชที่มีความเหมาะสมปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ คือ เมล่อน

นักศึกษาของวิทยาลัยในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในแผนกวิชาพืชศาสตร์ จะได้เรียนรู้การควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะทุกคน โดยจัดแบ่งเป็นกลุ่มและห้อง สลับสับเปลี่ยนดูแล มีหน้าที่รับผิดชอบทุกคน

การปลูกเมล่อนในโรงเรือนอัจฉริยะ

เมล่อน เป็นพืชตระกูลแตง จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผู้สนใจปลูกในพื้นที่ใหม่ ทดแทนการปลูกพืชชนิดเดิม ซึ่งการปลูกเมล่อนในโรงเรือนเป็นเรื่องที่สำคัญในการบริหารจัดการผลผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและปลอดสารพิษตกค้าง

ในการจัดการเรียนการสอน แผนกวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ได้จัดการเรียนการสอนในรายวิชาการปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะ โดยเลือกพืชที่ปลูกคือ เมล่อนสายพันธุ์กนกกาญจน์

การจัดการเรียนรู้ในรายวิชานี้จะส่งเสริมการปลูกเมล่อนปลอดสารเคมีภายในโรงเรือนอัจฉริยะ โดยการปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะจะสามารถช่วยให้เราควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ค่อนข้างดี เนื่องจากระบบโรงเรือนอัจฉริยะจะมีตัวควบคุมในเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น ระบบการให้ปุ๋ย ให้น้ำ เป็นไปด้วยความแม่นยำ

ทั้งนี้ การปลูกเมล่อนในโรงเรือนอัจฉริยะในช่วงอายุการเจริญเติบโตเมล่อน จะมีความต้องการธาตุอาหารปริมาณน้ำความชื้นที่แตกต่างกัน ระบบโรงเรือนอัจฉริยะจะช่วยทำให้สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเมล่อน ให้มีการเจริญเติบโตได้ดี ไม่มีการหยุดชะงัก เมื่อครบกำหนดเก็บเกี่ยวผลผลิต จะทำให้ผลผลิตมีความหวาน กรอบ รสชาติดี และสิ่งที่ทำให้เมล่อนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์มีความแตกต่างจากเมล่อนทั่วไป คือ

1.เน้นการปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี

2.คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีนำมาปลูก เลือกสายพันธุ์ที่มีความหวาน กรอบ

3.ผลผลิตมีความหวาน กรอบ หอม เก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวได้นานสูงสุดถึง 6 เดือน

4.ใช้วัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของดินภูเขาไฟ ดินหมักใบก้ามปู ปุ๋ยมูลไก่อัดเม็ด

5.การให้น้ำต้องสม่ำเสมอ

6.การเติมน้ำหมักปลา จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ฮอร์โมนไข่ จะเป็นตัวช่วยเพิ่มรสชาติและทำให้เมล่อนเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ ยังนำแตงโมไร้เมล็ดมาปลูกสลับกับเมล่อนในแต่ละรอบการผลิต เพื่อเลี่ยงการสะสมของตัวกำเนิดโรค หรือศัตรูพืชที่มักเกิดขึ้น หากปลูกพืชชนิดเดียวกันต่อเนื่อง

โรงเรือนอัจฉริยะ ดำเนินการมาได้ประมาณ 6 ปี ผลผลิตที่ได้ในแต่ละรอบ ทั้งเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ด วิทยาลัยได้จำหน่ายผ่านเฟซบุ๊กของวิทยาลัย หรือจำหน่ายให้กับบุคลากร ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในราคาเมล่อน กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งที่ผ่านมามีการสั่งจองก่อนถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ด ทางวิทยาลัยได้นำกลับมาใช้เป็นทุนตามระเบียบของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

คุณวิทยา กล่าวด้วยว่า หนึ่งรายวิชา คือ หนึ่งอาชีพ การปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะก็เป็นอีกหนึ่งรายวิชาที่สามารถให้นักศึกษาไปสร้างอาชีพโดยสอดคล้องกับยุคสมัยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิต มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานรับรองผลผลิตจากกรมวิชาการเกษตร และเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้นักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนและเรียนรู้กระบวนการปลูกเมล่อนในโรงเรือนอัจฉริยะ จะเกิดทักษะและกระบวนการสร้างผลงานสร้างอาชีพที่มั่นคง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2564