อ่อมแซ่บ วัชพืชชื่อหวาน เหนือ-อีสาน เรียกหา คือบุษบาร้อยชื่อ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Asystasia gangetica (L.) T. Anders.

ชื่อสามัญ Ganges Primrose, Chinese violet.

ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE

ชื่ออื่นๆ บุษบาริมทาง บุษบาฮาวาย ตำลึงหวาน เบญจรงศ์ 5 สี ย่าหยา ยาหยี บาหยา ผักลืมผัว ผักกูดเน่า

หนูพบกลอนบทหนึ่ง อ่านดูงงๆ มีชื่อหนูอยู่ โดยคนเขียนตั้งชื่อกลอนว่า

“บุษบาริมทาง ถูกเรียกว่า นางร้อยชื่อ” เขียนไว้ว่า “คือบาหยา ยาหยี ที่สวยพร่าง คือบุษบาริมทาง มีต่างสี เบญจรงศ์ อ่อมแซ่บ ย่าหยามี My Fair Lady ชื่อว่า บุษบาฮาวาย”

มีคนว่า บุษบาฮาวาย เป็นดอกไม้ในรัฐหนึ่งของอเมริกา ที่หนู “งง” มากๆ เพราะมีคนเรียกว่า ผักกูดเน่า ลืมผัว แล้วโดยเฉพาะชื่อ “อ่อมแซ่บ” นี่ คนเหนือ คนอีสาน ออกเสียงชัดเจน

พอพูดถึงบุษบาริมทาง มีคนเล่าอีกว่า ชื่อนี้เคยเป็นภาพยนตร์เพลง ชื่อ My Fair Lady ดัดแปลงจากบทละครของนักเขียนชาวไอริช เป็นเรื่องราวของหญิงสาวยากจน ขายดอกไม้ ได้รับการปั้นให้เป็นสุภาพสตรีผู้ดี สอนวิธีพูดให้ถูกต้อง และในเรื่องมีเพลงเด่นคือ The Rain in Spain ที่หนูต้องย้อนเรื่องนี้ เพราะหนูอยากโชว์ว่า แม้หนูไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องหนัง แต่ชื่อหนูไปสอดคล้องกับ My Fair Lady หรือหนัง “บุษบาริมทาง” ที่โด่งดังในอดีตมาแล้วมากกว่า 57ปี ได้รับรางวัลออสการ์ ถึง 8 ตัว เข้าฉายในประเทศไทยครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) หลังจากนั้นคำว่า “บุษบา” ก็เป็นที่รู้จักทั้งละครและบทเพลง

ต่อเรื่องบุษบาอีกนิด เพราะคือ “ความสวย” เช่น นึกถึงนางบุษบา ในเรื่อง “อิเหนา” ว่าสวยมาตั้งแต่เกิด แต่ถ้านึกถึงเพลงก็คิดถึง อัลบั้ม “บุษบาหน้าเป็น” ของนักร้องชื่อ นิโคล เทริโอ ที่ว่า…ฉันชื่อบุษบา หน่า นา หน่า น้า…ฯ ส่วนแฟนเพลงรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ต้องคิดถึงเพลง บุษบาริมทาง ที่เขียนคำร้องโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทำนองโดย สุรพล แสงเอก ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี อายุเพลงก็ไม่แพ้ My Fair Lady เช่นกัน

ขึ้นต้นว่า…บุษบาริมทาง นางคนจนตระเวนเวียนวนทั่วถิ่นฐาน แล้วปิดท้ายเพลงว่า เชิญซิคะ จะซื้อดอกไม้ก็มา บุษบาขายเอย! ดีนะที่บุษบาคือดอกไม้ เป็นตัวแทนของสิ่งสวยงาม แม้เป็นบุษบาริมทาง

ทีนี้มาพูดถึงบุษบาที่เป็นไม้คลุมดิน กินได้ ดอกสวย คือหนูที่ถูกเรียกกันหลายชื่อ จนนักวิชาการต้องถกเถียงกันว่าทุกชื่อคือ “ต้นเดียว” กันหรือไม่ แต่ช่างเถอะ ถือว่า “หนูอ่อมแซ่บ” เป็นที่นิยมของชาวบ้าน เป็นวัชพืชที่กินได้มีประโยชน์มากกว่าพืชคลุมดิน แม้จะดูบอบบาง แต่มีดอกหลากสี สมชื่อ เบญจรงค์ 5 สี คือ ขาวนวล ม่วง เหลืองอ่อน ชมพู ม่วงปนขาว ดอกออกจากลำต้นเล็กๆ เป็นได้ทั้งพุ่ม รกเรื้อ และทอดเลื้อย ใบรูปหัวใจปลายแหลม สีเขียวอ่อนมีประขาว ปลูกได้ทั้งในที่แจ้ง และที่ร่มรำไร ถ้าอยู่ในที่ร่มใบจะออกสีเขียวกว่ากลางแจ้ง

สำหรับหนูอ่อมแซ่บ เป็นผักอ่อมยอดฮิตของภาคอีสาน เกิดง่ายตายยาก จะเด็ดเก็บกินเมื่อไหร่ก็ได้ ปลูกเป็นพืชสวนครัวทางภาคเหนือมานานแล้ว ที่เรียก “ตำลึงหวาน” ก็เพราะมีคุณสมบัติพิเศษ ที่ทำอาหารได้ทั้งดอกใบและยอดอ่อน มีรสหวานธรรมชาติขึ้นชื่อ คือใส่แกงอ่อม ผัดไฟแดง แกงจืด ชุบแป้งทอด ลวก กินสดกับน้ำพริก หรือไข่เจียวอ่อมแซ่บหั่นพริกสด “แซ่บ” จริงๆ

คุณลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ล้มลุกลำต้นเหลี่ยม ตั้งตรงเป็นพุ่ม หรือรอเลื้อย ทอดยอดแล้วแต่พันธุ์ ใบเดี่ยวรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบเว้าขอบใบเรียบผิวมัน ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ซอกใบและปลายยอด มีใบประดับรูปหอก ดอกทยอยบานจากโคนช่อ กลีบดอกรูปแตร หรือกรวย มีผลแบบแคปซูล ขนาด 1.3×2 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก มีขนปกคลุม ผลแก่แตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ด 3-4 เมล็ด เมล็ดรูปไตแบน สีน้ำตาล ออกดอกและติดผลช่วงปลายปี ต่อต้นปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือปักชำได้ พบมากตามที่รกร้างริมน้ำ ชายคลองทั่วไป

ฤทธิ์เภสัชวิทยา คือสารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอลจากทั้งต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ เชื้อราหลายชนิด สารสกัดน้ำ และเมทานอลจากลำต้นและใบ มีฤทธิ์ลดปวด และต้านการอักเสบ จากการทดลองโดยหนูทดลอง รวมทั้งทดสอบด้วยชุดทดสอบในหลอดทดลอง และมีงานวิจัยอ้างอิงการทดลองว่า ใบมีฤทธิ์ช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมคลายตัว

สรรพคุณทางสมุนไพร ราก ใช้แก้ไข้ แก้พิษฝีภายใน แก้ไข้เหนือลม ขับลมทั่วตัว ใบ แก้ปอดบวม ปวดตามข้อ ขับพยาธิ ใบและดอกสมานลำไส้ ลดไข้บรรเทาอาการเจ็บท้องคลอดลูก แก้พิษงู แก้ม้ามโตเด็กเกิดใหม่ รวมทั้งเป็นพืชเภสัชพื้นบ้าน บำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงสายตา

ตำลึงหวาน ย่าหยา ยาหยี ดูดีเป็นสาวสวยสมกับบุษบา ซึ่งในบทเพลงที่ขายดอกไม้หลากสี ร้องว่า “…หลากสีมีกลิ่น มิรู้วาย แม้หอมหายบุษบากล้ารับคืน หนุ่มซื้อสาวดมชมซิค่ะ เชิญสละสักนิดจะติดใจ…ฯ” หนูอยากร้องขายบ่อยๆ แม้จะเก่าแก่ แต่พอเรียกหนูว่า “ผักลืมผัว ผักกูดเน่า” หนูขอเป็น “บุษบาขายถ่าน” ก็ยังสวยอยู่ดี…มั๊ยเจ้าคะ?