หญ้าขัดมอญ แก้ขัดข้อ รักษาเกาต์ ข้ออักเสบ ชะงัดนัก

จากข้อมูลของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ในสมัยก่อนคนโบราณเก่ง ที่รู้ว่าต้นไม้ต้นไหนรักษาอะไรได้บ้าง เพราะสมุนไพรหลายๆ ตัว ปัจจุบันมีงานวิจัยยืนยันตามสรรพคุณที่คนโบราณเขาใช้กัน

หญ้าขัดมอญ เป็นหนึ่งในตัวยาที่เราเสริมพลังกับสมุนไพรกระดูกไก่ดำ ซึ่งตอนนี้มีจำหน่ายแค่ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในรูปแบบของน้ำมันและสเปรย์ที่ช่วยแก้ปวดข้ออักเสบได้ดีมาก

เรามาดูงานวิจัยกัน

หญ้าขัดมอญ เป็นสมุนไพรตระกูลขัดอีกชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์เด่นด้านการรักษาโรคข้อกระดูกขัด และสามารถใช้เป็นยาได้ทุกส่วนของพืช ทั้งในรูปแบบยารับประทานและยาทาภายนอก ยาอาบ ยาอบ ยาพอก ยาน้ำมัน

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญคือ ฤทธิ์ลดปวด ฤทธิ์ลดอักเสบ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

การแพทย์พื้นบ้านใช้รักษาอาการตะคริว ลดปวด ลดบวม ลดอักเสบ แก้ปวดข้อ รักษารูมาตอยด์ อาการปวดร้าวจากกระดูกทับเส้นประสาท รักษากระดูกหัก ในฟิจิและปาปัวนิวกินีใช้ใบแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้ปวดหัว ปวดไมเกรน รากใช้เคี้ยวแก้ปวดฟัน ศาสตร์อายุรเวทอินเดียใช้รากต้มเป็นยาบำรุงกำลัง รักษาข้อ แก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ แก้ปวดประจำเดือน แก้ปวดท้อง ใบใช้ตำพอกแก้ปวดบวม ในไทยใช้ใบต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อย ในอินโดนีเซียใช้รักษาเกาต์

หญ้าขัดมอญ ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจสำหรับการใช้เป็นสมุนไพรทางเลือกในการรักษาเกาต์ เพราะจากข้อมูลงานวิจัยสนับสนุนพบว่า มีหลายกลไกที่ทำให้เกิดผลการรักษาที่ดีต่อโรคเกาต์ คือ

สารฟลาโวนอยด์ที่สกัดได้จากสารสกัดน้ำและเมทานอลของใบและส่วนเหนือดินหญ้าขัดมอญ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ในหลอดทดลองได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบันรักษาเกาต์ชื่อ Allopurinol เพื่อใช้ลดการสร้างกรดยูริก โดยสารสกัดหญ้าขัดมอญมีฤทธิ์ยับยั้งได้สูงถึง 79.1% ในขณะที่ยา Allopurinol ยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวได้ 68.1%

มีฤทธิ์ขับกรดยูริกของทางปัสสาวะได้ ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับยาแผนปัจจุบันเกาต์ชื่อ Probenecid (มักใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ allopurinol)

24

มีฤทธิ์ลดปวด ลดอักเสบ ได้ดีเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน Diclofenac

มีแนวโน้มที่จะทำให้สภาวะโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้น จากค่าเลือดต่างๆ โดยมีการศึกษาในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นข้ออักเสบพบว่า สารสกัดหญ้าขัดมอญของรากและลำต้นเมื่อให้ทางการรับประทานเป็นเวลา 30 วัน ค่าเลือดต่างๆ กลับมาเป็นปกติ (เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด โปรตีน แอลบูมิน โกลบูลิน ครีเอตินีน) โดยเฉพาะค่าบ่งชี้การอักเสบของข้อ Erythrocyte sedimentation rate (ESR)

มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการนำไปสู่การทำลายเนื้อเยื่อและการพัฒนาของโรคข้ออักเสบ

แต่มีข้อห้ามใช้ ห้ามรับประทานในหญิงตั้งครรภ์ (น้ำต้มจากรากและลำต้นมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในหนูทดลองทำให้แท้ง) และยังไม่พบและไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงจากการใช้เป็นยาภายนอก

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2564