เกษตรฯ ย้ำ จุดยืนชัดเจน ภาคเกษตรต้องไม่เสียเปรียบ หากไทยเข้าร่วม CPTPP

ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงประเด็นการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ของประเทศไทย ว่า ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความพร้อมในการร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล และทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ได้ศึกษาในรายละเอียด ประเด็นผลดี ผลเสีย และความพร้อมของไทยมาโดยตลอด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอยืนยันว่า ภาคเกษตรไทยต้องไม่เสียเปรียบ โดยกรอบการเจรจาจะยึดผลประโยชน์เกษตรกรเป็นหลักถ้าหากประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ในครั้งนี้

สำหรับการจัดทำกรอบการเจรจาเพื่อรับพันธกรณีความตกลง CPTPP ในส่วนของผลต่อภาคการเกษตร มี 2 ประเด็นหลักสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องคำนึงถึง คือ ด้านพันธุ์พืช และด้านการค้าสินค้าให้กับประเทศไทย ซึ่ง ด้านพันธุ์พืช เงื่อนไขการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา UPOV1991 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลในประเด็นต่างๆ อาทิ เกษตรกรไม่สามารถเก็บส่วนขยายพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ และเมล็ดพันธุ์พืชของไทยถูกผูกขาดทางการค้า ซึ่งประเด็นดังกล่าว ไทยจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวหลายปี ทั้งการทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การเตรียมความพร้อมภาคการเกษตร ทั้งด้านความต้องการใช้พันธุ์พืชของเกษตรกร การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตพันธุ์และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกษตรกร การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมพืชของประเทศ เพื่อรวบรวมลักษณะประจำพันธุ์ของพันธุ์พื้นเมือง สำหรับใช้อ้างอิงป้องกันไม่ให้มีการนำพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ท้องถิ่นไปจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยจะต้องหารือกับทุกภาคส่วนพิจารณากำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ตามวิถีดั้งเดิมของเกษตรกร และอยู่ภายใต้ความเหมาะสมของบริบทประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการ ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดประเด็นที่จะเจรจาขอสงวนสิทธิ์ไว้หรือขอเว้นการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ หรือเจรจาขอระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อเตรียมความพร้อม เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี ถึงจะพร้อมปฏิบัติตามสัตยาบันอนุสัญญา UPOV1991

ด้านการค้าสินค้า เนื่องด้วยสมาชิก CPTPP มีการยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในระดับที่สูงมากถึงร้อยละ 95-100 ซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพแข่งขันน้อย เช่น กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมงบางรายการ จึงจำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย โดยจะเห็นได้ว่าประเทศสมาชิกเดิมอย่างญี่ปุ่นและเวียดนาม ขอใช้ระยะเวลาในการลดภาษีนานถึง 21 ปี นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องการยกเว้นการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ หรือ Special Safeguard (SSG) กับประเทศสมาชิก CPTPP แต่ประเทศไทย เราได้ใช้มาตรการ SSG ซึ่งผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าเกษตร 23 รายการ เพื่อรองรับผลกระทบในกรณีที่มีปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือราคานำเข้าที่ลดต่ำลงอย่างผิดปกติ จะเห็นได้จากปี 2563 และ 2564 ไทยได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการ SSG กับสินค้ามะพร้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเมื่อมีการนำเข้าเกินกว่าระดับปริมาณนำเข้าที่กำหนด ก็จะมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านการค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอสงวนการบังคับใช้มาตรการ SSG ของไทยสำหรับสินค้าเกษตรทั้ง 23 รายการไว้ตามเดิม

“ขอเรียนให้เกษตรกรทุกท่านทราบว่า การเจรจาความตกลง CPTPP ของไทย ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญที่สุด และขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาในรายละเอียดประเด็นต่างๆ อย่างครอบคลุมทุกมิติด้วยความรอบคอบ และหากไทยตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP กระทรวงเกษตรฯ จะมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านระยะเวลา ด้านวิชาการ เทคโนโลยี งบประมาณ บุคลากร และการสื่อสารทำความเข้าใจต่อเกษตรกรในพื้นที่ โดยข้อปฏิบัติใดที่จะส่งผลเสียต่อภาคเกษตรและเกษตรกรไทย กระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะเจรจาขอสงวนสิทธิ์ไว้ หรือขอเว้นการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทย ภาคเกษตรไทย และเกษตรกรไทยได้รับประโยชน์สูงสุดภายหลังเข้าร่วม CPTPP” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว

ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งเมื่อกลางปี 2564 สหราชอาณาจักร ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วม และล่าสุด คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แสดงเจตนารมณ์เข้าร่วม CPTPP เมื่อเดือนกันยายน 2564