สศก. โชว์ผลงานเกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ขยายช่องทางการผลิต

เลขาธิการ สศก.

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตาม ผลการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรแปรรูป ปีงบประมาณ พ.ศ. วัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและแปรรูป เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนมีการสนับสนุนต่อยอดไปสู่สินค้าเกษตรขั้นสูงที่มีคุณค่าเฉพาะ และผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง กำหนดจำนวนเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ 2564 เป้าหมาย 2,030 ราย ให้มีการส่งเสริมสินค้าเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก (ตั้งแต่ปี 2561 – 2565) โดยมีกรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมการข้าว เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

จากการติดตามของ สศก. พบว่า การดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรแปรรูป สามารถดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ 2,058 ราย (ร้อยละ 101 ของเป้าหมาย) โดยจากการสำรวจตัวอย่าง เกษตรกร 64 ราย และผู้ประกอบการ 44 ราย ในพื้นที่ 20 จังหวัด เกษตรกรนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ ส่งผลให้มูลค่าสินค้าแปรรูปเพิ่มขึ้นในภาพรวม มากกว่า 80 บาท/กิโลกรัม และเกิดเครือข่ายในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในการซื้อขายวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งหากพิจารณาในแต่ละกิจกรรมย่อย ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ 1) การพัฒนาศักยภาพด้านปศุสัตว์ ภายใต้แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์) 2) โครงการส่งเสริมอาชีพประมง (กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมง) และ 3) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง พบว่า

การดำเนินการกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ มีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร เช่น เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อแพะ-แกะ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อกระบือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นบ้านสู่มาตรฐานสากล การแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อเกษตรกร การแปรรูปเนยแข็งในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก การแปรรูปอาหารอีสานจากไก่งวง ส่งผลให้เกษตรกร ร้อยละ 73 สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปได้เฉลี่ย 96.36 บาท/กิโลกรัม โดยสินค้าที่แปรรูปและจำหน่ายเพิ่มมูลค่า ได้แก่ จ้อไก่งวง สลัดโรลไก่งวง ไก่งวงรมควัน และแคบกระบือ ขณะที่ผู้ประกอบการ ร้อยละ 82 มีการแปรรูปที่จำหน่าย อาทิ ไส้กรอกหมูเยอรมัน โยเกิร์ตพร้อมดื่ม นมพาสเจอร์ไรซ์ และกรีกโยเกิร์ต สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปเฉลี่ย 28.10 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการมีการนำความรู้ที่ได้รับ เรื่อง การผลิตไส้กรอกไปถ่ายทอดต่อให้กับเพื่อนบ้าน นักเรียน นักศึกษา ด้วยเช่นกัน

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมง โดยกรมประมง มีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร เช่น เรื่อง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหอยแมลงภู่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลา และแนวทางการประยุกต์ใช้เครื่องปั้นลูกชิ้นในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาส้มสายเดี่ยว เกษตรกรร้อยละ 89 สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 99.40 บาท/กิโลกรัม โดยแปรรูปสินค้าจำหน่ายข้าวเกรียบแท่งจากหอยแมลงภู่ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปและจำหน่าย ไส้อั่วปลานิล และ ปลาดุกสวรรค์  หรือคิดเป็นรายได้ ขณะที่ผู้ประกอบการ ร้อยละ 80 มีมูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากการแปรรูปเฉลี่ย 87 บาท/กิโลกรัม

กิจกรรมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง โดยกรมการข้าว มีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว เช่น เครื่องบดแป้ง ตู้แช่แข็ง และชุดเครื่องปั่นผสมของเหลวแบบควบคุมอุณหภูมิ และดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวเชิงพาณิชย์ จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์แป้งเครปสำเร็จรูปจากข้าวหอมกระดังงาและข้าวเมล็ดฝ้าย และถ่ายทอดให้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวปลอดสารพิษ ตำบลสะบ้า อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง

ทั้งนี้ ภาพรวมเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรแปรรูปบางส่วนยังต้องพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตให้ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานการผลิต เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ผู้ผลิตต้นน้ำได้มีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการแปรรูปกลางน้ำ เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิต การแปรรูสินค้า และขยายช่องทางการตลาด โดย สศก. จะมีการติดตามผลการส่งเสริมการแปรรูปในกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ในระยะต่อไป ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 อีกครั้ง และจะสรุปผลการติดตาม พร้อมรายงานให้ทราบเป็นระยะต่อไป