ข้าหลวงหลังลาย แอบอิงไม้ใหญ่ ไม่เคยอยู่ “วัง” ก็ยังเป็น “นางข้าหลวง” ได้

ข้าหลวงหลังลาย แอบอิงไม้ใหญ่ ไม่เคยอยู่ “วัง” ก็ยังเป็น “นางข้าหลวง” ได้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asplenium nidus L.

ชื่อสามัญ : Bird’s nest Fern

ชื่อวงศ์ : ASPLENIACEAE

ชื่ออื่นๆ : เฟิร์นข้าหลวง เฟิร์นข้าหลวงหลังลาย เฟิร์นรังนก เฟิร์นข้าหลวงโอซาก้า

ฉันขอแทนชื่อตัวเองว่า “เฟิร์น” นะจ๊ะ เพราะชื่อของฉันถ้าเรียกชื่อเดิมๆ ฟังดูแล้วเก่าแก่ เป็น “นางห้าม” และเหมือนกับคนทำผิด ถูกลงโทษหนีออกจากวัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่วังเลย แต่พอเรียกชื่อแทนตัวว่า “เฟิร์น” เป็นคนละอารมณ์มากๆ รู้สึกสดชื่นเป็นเหมือนสาวน้อยวัยใสเริงร่ากับธรรมชาติที่ชุ่มชื้นด้วยพืชใหญ่ใบเขียว ไม่ว่าอยู่ในป่าใหญ่ หรือในเนิร์สเซอรี่ และภาพรวมของต้นเฟิร์นจริงๆ ก็มีหลายสายพันธุ์ รูปลักษณ์ทั้งใบและกลุ่มกอ

เฟิร์นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ถูกเรียกชื่อโดยมีคำว่า “ข้าหลวง” ประกอบชื่อ กล่าวกันว่า มีถึง 38 สายพันธุ์ เท่าที่เรียกกันมากๆ เช่น เฟิร์นข้าหลวงญี่ปุ่น เฟิร์นข้าหลวงจักรพรรดิ เฟิร์นข้าหลวงแคระ เฟิร์นข้าหลวงโอซาก้า เฟิร์นข้าหลวงคอบบร้า ส่วนตัวเฟิร์นเขาชอบเรียกกันตรงๆ ว่า “ข้าหลวงหลังลาย” ช่วงแรกๆ ได้ยินชื่อก็คิดมาก เพราะติดกับความรู้สึกด้านลบ จากคำว่า “หลังลาย” แต่คำว่า “ข้าหลวง” นี่ เฟิร์นไม่ได้กังวลหรอก เพราะทราบความหมายตามพจนานุกรม ว่าหมายถึงคนที่รัฐบาลส่งไปทำการตามหัวเมืองหรือต่างประเทศชั่วคราว ที่เขาเรียกว่า Governor รวมทั้งระดับข้าราชบริพารด้วย

มีคนเล่าให้เฟิร์นฟังว่า ต้องภูมิใจนะ ถ้าได้เป็น “นางข้าหลวง” เพราะตั้งแต่สมัยโบราณ มีทั้งนางข้าหลวงจีน นางข้าหลวงเกาหลี นางข้าหลวงญี่ปุ่นและอังกฤษ ซึ่งถ้าเราดูในหนัง ในนวนิยาย เราจะรู้จักคำว่า “นางใน” อย่างข้าหลวงในวังจีน ซึ่งนางในของจีนนั้นจะถูกคัดเลือกจากหญิงสาวหลายพันคน แต่มีเพียง 50 คน ที่จะมีโอกาสเป็นนางสนมจักรพรรดิ มีตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง นางสนมหรือนางใน คือภรรยาน้อยของฮ่องเต้จีนสมัยก่อน มียศสูงสุดถึงพระพันปี ซึ่งฐานันดร ยศถาบรรดาศักดิ์ก็มีระดับฮองไทเฮา ลงมาที่ฮองเฮา ฮวงกุ่ยเฟย กุ่ยเฟย เฟย และลงถึง กงนู่ คือนางข้าหลวง ก็คงได้เห็นจากในหนังจีน หนังเกาหลี หรือหนังไทยที่เกี่ยวกับวังหลวงแล้วนะคะ

เฟิร์น ขอพูดเรื่องต้นเฟิร์นที่คนรักสวนรักต้นไม้เรียกหากันหน่อยนะ โดยเขาพูดกันว่า เฟิร์นข้าหลวงเป็นไม้ประดับและไม้มงคลที่ยุคสมัยนี้ต้องการปลูกมาก เพราะเป็นไม้ฟอกอากาศที่ดี ไม่ว่าสภาพอิงอาศัยต้นไม้หรือในซอกหินผา รวมทั้งที่ปลูกในกระถาง อาคารบ้านเรือน ที่นิยมปลูกเนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นต้นไม้มงคล เสริมความภูมิฐาน เป็นเกียรติยศในครอบครัว และเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์ ยุติธรรม แฝงด้วยข้อคิดเชิงตรรกะเตือนใจ ว่าแม้เป็น “ข้าหลวง” ก็ “หลังลาย” ได้ จึงนิยมปลูกในบ้าน สำนักงาน คอนโดฯ โดยใช้กุศโลบายเตือนสติสอนลูกหลาน ย้ำเตือนให้เป็นคนดี อยู่ในร่องรอยความถูกต้อง เพราะแม้จะเป็นถึงข้าหลวงก็มีสิทธิถูกลงโทษลงหวาย “หลังลาย” ได้

ความเชื่อของคนไทยว่า เฟิร์นข้าหลวงเป็นไม้มงคลควรคู่กับสวนสวยๆ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปรับสภาวะอากาศปลูกได้ทั่วไป ทั้งยังอาศัยต้นไม้หินผาลักษณะกาฝากเกาะขอนไม้ ลงดินในกระถาง และชอบอากาศเมืองไทยที่ร้อนและอบอุ่น แม้ว่ามีถิ่นกำเนิดจากเขตเอเชียและออสเตรเลีย ก็ปลูกได้ไม่ยาก เพียงแต่มีข้อระวังที่ไม่เหมาะสำหรับการปลูกภายในตัวอาคารหรือห้องแคบ เนื่องจากละอองจากสปอร์อาจตกหล่นภายในตัวบ้านและพื้นที่บริเวณนั้น จึงควรจะวางกระถางไว้โซนระเบียงชานบ้าน หรือแขวนไว้นอกห้องดีที่สุด จากสภาพด้านหลังใบที่มีสปอร์ คล้ายถูกรอยทุบตี ซึ่งกลุ่มของอับสปอร์ออกเป็นลายยาวขวางกับใบเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลดำ ลักษณะของสปอร์จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อข้าหลวงหลังลายนี่เอง

ข้าหลวงหลังลายเป็นเฟิร์นอากาศ ใบยาวรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมคล้ายใบหอก หนาและแข็งเป็นมัน เส้นใบแก่จะเป็นเส้นสีดำ การเรียงตัวของใบจะเวียนรอบต้นแผ่ม่านคล้ายตะกร้า ขอบใบเป็นหยักคล้ายคลื่นน้ำเรียงซ้อนเป็นพุ่มสวย ใบอ่อนออกใหม่เปราะบางหักง่าย โตเต็มที่จึงจะเหนียวแข็งแรงเจริญเติบโตง่าย เพียงแค่เลือกปลูกในพื้นที่รับแดดรำไรรดน้ำให้ชุ่ม ควรใช้ดินร่วนผสมทรายหยาบ อัตราส่วน 1 : 1 ช่วงที่อากาศชื้นสูง ควรเว้นการให้น้ำบ้างเพื่อป้องกันรากเน่า ถ้าปลูกในอาคารควรเช็ดใบกำจัดคราบฝุ่น ถ้ามีใบเหี่ยวเน่ารีบตัดทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังส่วนอื่นๆ ถ้าจะให้ปุ๋ยต้องการเร่งการเจริญเติบโตช่วงแรก ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 ละลายน้ำแล้วรดเดือนละ 2 ครั้ง หากปลูกลงกระถางควรเลือกชนิดปากกว้างไม่จำเป็นต้องลึก โรคและแมลงอาจพบมด เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ก็โรยผงยาคลอเดนที่รังหรือทางเดินมด เพลี้ย หรือละลายยาเซวินผลฉีดพ่น การขยายพันธุ์จะใช้วิธีเพาะสปอร์ (spore) หรือแยกกอลงในดินร่วนผสมใบไม้ผุทรายละเอียด ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษอิฐหัก และปูนขาวเล็กน้อย ก็จะแตกกอในไม่ช้า หรือจะผูกมัดไว้กับต้นไม้ที่มีความชื้นอุ้มน้ำด้วยกาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว เกาะอิงอาศัยต้นไม้สร้างบรรยากาศป่าได้ร่มเงา ความสวยงามเพราะเฟิร์นข้าหลวงอายุยืนกว่า 10 ปีนะจ๊ะ

เฟิร์นมีชื่อในสรรพคุณตำรับยาในแพทย์แผนไทย โดยนำทั้งต้นที่มีรสขมมาต้มดื่มขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด บิดมูกเลือด

แม้มีคนนินทาว่าเฟิร์นเป็นกาฝาก ชอบอาศัยตามยอดไม้หรือเกาะลำต้นไม้ จึงมีคนเรียก Bird’s Nest Fern แต่เพียงอิงอาศัยนะ ไม่ได้แย่งอาหารน้ำเลี้ยงต้นไม้หรอกจ้า เขาจึงเรียกเฟิร์นรังนก แต่ถ้าสายพันธุ์เฟิร์นข้าหลวงโอซาก้า เฟิร์นมีชื่อไทยนะจ๊ะ ว่า “แพนนกยูง” งามชื่อไหมล่ะ!

เผยแพร่ในระบบออนไลนืครั้งแนกเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2564