จาก “ไข่เป็ด” สู่ “ไข่เค็มพอกใบเตย” หอม มัน อร่อย ของดีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านชายวัด

ประเทศไทยอยู่ในเขตเมืองร้อน ส่งผลให้อาหารสดเน่าเสียได้ง่าย โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตร ที่มีอายุการเก็บไม่นาน ในบางช่วงฤดูการผลิตของเกษตรกร ที่มีผลผลิตออกมามากจนล้นตลาด เกษตรกรจึงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหา ทั้งยังเพิ่มมูลค่าของสินค้าจากการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านชายวัด ร่วมออกร้าน
ขั้นตอนการทำไข่เค็มพอกใบเตย

เมื่อช่วงต้นปี 2563 มีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลต่อสภาวะเศรฐกิจเป็นอย่างมาก สำหรับเกษตรกรเองก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ อย่างเกษตรกรในตำบลบางเป้า ที่ได้รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอาชีพเสริมในเวลาว่างช่วงบ่าย โดยเริ่มจากทำไข่เค็มดองน้ำเกลือ ซึ่งจริงๆ แล้วก็สามารถหาซื้อได้ง่ายในตลาดทั่วไป ต่อมากลุ่มได้พัฒนาและเรียนรู้จนกลายมาเป็นไข่เค็มพอกใบเตย จุดแตกต่างที่ทำให้ไม่หมือนกับไข่เค็มทั่วไป ด้วยเห็นว่าในชุมชนมีใบเตยจำนวนมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จึงได้ทดลองนำใบเตยผสมผสานในไข่เค็มจนกลายเป็น “ไข่เค็มพอกใบเตย”

ขั้นตอนการทำไข่เค็มพอกใบเตย
ขั้นตอนการทำไข่เค็มพอกใบเตย

ไข่เค็มพอกใบเตย แค่ได้ฟังชื่อก็ต้องรู้สึกได้ถึงความสดชื่นที่มาจากของกลิ่นใบเตย หอมเย็นช่วยผ่อนคลาย ซึ่งปกติแล้วเราจะได้กลิ่นใบเตยจากของหวาน แต่เมื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในของคาว ด้วยรสชาติและกลิ่น สีของไข่แดงที่แดงฉ่ำและมีความมันกว่าไข่เค็มปกติ กลิ่นหอมใบเตยอ่อนๆ ที่ถูกแทรกซึมไปในเนื้อไข่เป็ด ในระยะเวลากว่า 15 วัน ความเค็มที่กำลังพอดีของเนื้อไข่ขาว ไม่ว่าจะรับประทานแบบไหนก็อร่อย “ต้ม ทอด ยำ ทรงเครื่อง” ก็อร่อย

“กรรมวิธีการผลิตก็ไม่ยุ่งยากเลยค่ะ” ประโยคบอกเล่าของ คุณดวงพร ฤทธิพรพันธ์ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านชายวัด

ไข่เป็ด

โดยเริ่มจากการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ จะรับซื้อจากเกษตรกรในชุมชน ทั้งไข่เป็ดและใบเตย เป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย หลังจากได้วัตถุดิบสองอย่างนี้มาแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาดที่เป็นหัวใจหลักของการทำอาหาร เมื่อได้ไข่เป็ดที่ผิวเปลือกขาวสะอาดแล้วจึงนำมาวางในที่ร่มให้ผิวแห้งก่อน จากนั้น จึงเริ่มหั่นใบเตยเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ปั่นได้ง่าย โดยปั่นให้ละเอียดแล้วนำมาผสมกับดินสอพองและเกลือบดละเอียด ในอัตราส่วน 3 : 1 : 1 (ใบเตย : ดินสอพอง : เกลือ) นำมาพอกไข่เป็ดที่แห้งสนิทแล้ว ความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เพียงเท่านี้ก็นับวันรอรับประทานได้

คุณขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เยี่ยมชม

สำหรับช่วงเวลาที่สามารถนำมาประกอบอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้บริโภค หากจะรับประทานแบบทอดก็ใช้เวลา 7-10 วัน บริโภคแบบต้มก็ใช้เวลา 15-20 วัน ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถซื้อได้ตั้งแต่วันที่ผลิตแล้วนำไปวางไว้ที่บ้านรอเวลารับประทานตามความชอบได้เลย ข้างกล่องจะระบุวันผลิตและวันบริโภคไว้แล้ว

ไข่เค็มใบเตย
ไข่เค็มพอกใบเตย

สนใจสั่งซื้อไข่เค็มพอกใบเตย ติดต่อได้ที่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านชายวัด หมู่ที่ 1 ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โทร. 089-471-3802 คุณดวงพร ฤทธิพรพันธ์ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านชายวัด

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2564