วีระชัย เกตุเรน กับงานเกษตรหลังเกษียณ ที่เมืองกาญจน์

ช่วงปลายปีต่อต้นปี อากาศเหมาะต่อการเฉลิมฉลอง หากในสถานการณ์ปกติ จะพบเห็นการนัดหมายตามสื่อ เลี้ยงรุ่นที่นั่นที่นี่

คุณวีระชัย และ คุณละออ เกตุเรน และบ้านหลังงาม

“ปกติต้องเลี้ยงรุ่น 3 ที่นะผม เกษตรพัทลุง ไสใหญ่ แล้วก็บางพระ”

เป็นคำบอกเล่าของ คุณวีระชัย เกตุเรน อดีตเกษตรอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันมีที่พำนักอยู่บ้านเลขที่ 101/1 หมู่ที่ 1 ตำบลวังเย็น อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

 

สายเลือดเกษตร 100 เปอร์เซ็นต์

พื้นเพเดิมของคุณวีระชัย เกิดที่จังหวัดพัทลุง พ่อแม่ทำนา ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปแนะนำให้ความรู้เกษตรกรแบบประชิดตัวแล้ว พ่อแม่ของคุณวีระชัยถือว่าเป็นเกษตรกรผู้นำ ตัวเขาเองก็ซึมซับโดยไม่รู้ตัว ขณะที่เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก็สมัครเป็นยุวเกษตรกร จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมพัทลุง

มะกรูด

เรียนได้ 3 ปีจบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากนั้นสอบเข้าเรียนต่อระดับ ปวส. ที่เกษตรไสใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ท้องถิ่นแถบภาคใต้ สมัยเก่าก่อน หากพูดถึงสถาบันที่สอนเกษตร เกษตรไสใหญ่คือสถาบันอันดับ 1 ที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากเข้าไปสัมผัส เคยมีคนทางเหนือและภาคกลางลงไปเรียนต่อ ซึ่งการสอบเข้ายุคก่อนหน้านี้ยากพอๆ กับเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเลยทีเดียว

สถาบันที่เปิดสอนทางด้านเกษตรระดับปริญญาตรีของภาคใต้ ช่วงนั้นยังไม่มีเปิดการเรียนการสอน สำหรับผู้เดินทางสายอาชีวศึกษา คุณวีระชัยจึงมาสอบเรียนต่อเพื่อวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต ที่เกษตรบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขาเรียนรุ่น วท.บ.9

ดีปลี

 

คลุกคลีกับเกษตรกรเต็มตัว

ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

เป็นโชคดีของคุณวีระชัย ขณะที่เรียนหลักสูตรปริญญาตรีอยู่นั้น เขาไปสอบเป็นเกษตรตำบล ที่ภาคตะวันตก เมื่อเรียนจบ ได้คิวเรียกตัวเขาไปทำงานทันที เขาบรรจุครั้งแรกที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปลายปี 2527 จากนั้นย้ายไปย้ายมาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

ขณะเดียวกัน ตำแหน่งหน้าที่การงานก็ขยับขยายจากเจ้าพนักงานการเกษตรหรือเกษตรตำบล จนเป็นเกษตรอำเภอ ซึ่งดำรงตำแหน่งหลายอำเภอด้วยกัน หากเขาสนใจการเมือง มีลุ้นแน่ๆ เพราะรู้จักเกษตรกรจำนวนมาก

หม่อนกินผล

“ผมไม่ต้องปรับตัวมาก เพราะพื้นฐานเดิมมาจากครอบครัวเกษตรกรอยู่แล้ว ใหม่ๆ ทางราชการไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือให้ แต่เขาก็ให้ยืมเงินซื้อรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อออกท้องที่พบปะกับชาวบ้าน” เจ้าตัวเล่า เมื่อครั้งเป็นเกษตรตำบลหนุ่ม

ทำงานยากง่ายแค่ไหน

คุณวีระชัย เล่าว่า จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่มีความหลากหลาย กรมส่งเสริมการเกษตรได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน

โซนแรก พื้นที่ชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์ มีฝนตกชุก ได้แก่ อำเภอทองผาภูมิ สังขละบุรี ศรีสวัสดิ์…เมื่อก่อนอยู่ห่างไกล การพัฒนายังไม่ชัดเจนนัก ปัจจุบัน ถือว่าเกษตรกรฐานะดี พืชผลที่สร้างงานทำเงินมียางพารา เงาะ ทุเรียน คนที่เข้าไปอยู่ไปจากทางราชบุรี แล้วก็ขึ้นมาจากทางใต้ การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจเขตนี้ดี

กล้วยไข่

โซนที่สอง เป็นอีสานของกาญจนบุรี คือ อำเภอเลาขวัญ บ่อพลอย ถือว่ามีความแห้งแล้ง เมื่อก่อนเกษตรกรส่วนใหญ่ยากจน ปัจจุบันมีระบบชลประทานเพิ่มขึ้น การตลาดสินค้าเกษตรของเกษตรก็พัฒนา มีการแปรรูป โซนนี้เมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น

โซนที่สาม เป็นที่ลุ่มอยู่ในเขตชลประทาน ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอท่ามะกา อำเภอท่าม่วง เกษตรกรมีอาชีพมั่นคง เกษตรกรมีทุนและเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ความเข้าใจโซนต่างๆ ทำให้งานส่งเสริมเกษตรกรเป็นไปด้วยดี

ในชีวิตราชการ 37 ปี ที่คุณวีระชัยภาคภูมิใจมากคือการสร้างคน เตรียมคนให้เป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ นั่นก็คือการตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร ในความรับผิดชอบของเขา มีกลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ในจังหวัดกาญจนบุรี ชนะการประกวดระดับประเทศหลายครั้งหลายหนด้วยกัน

มียุวเกษตรกรได้ทุนไปฝึกงานถึงประเทศญี่ปุ่น

อ้อยปลูกติดต่อกันมานาน

 

งานเกษตรหลังเกษียณ

เตรียมตัวและทำมานาน

คุณวีระชัยเกษียณจากงาน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ตำแหน่งสุดท้ายคือ เกษตรอำเภอด่านมะขามเตี้ย

ถามถึงงานเกษตร ว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่

หลังแต่งงาน มีครอบครัว คุณวีระชัยและคุณละออ เริ่มทำเกษตรตั้งแต่ปี 2536 พืชที่ปลูกมีอ้อยเป็นหลัก รอบๆ บ้านมีไม้ผล ถือว่าโชคดีที่บริเวณนั้นอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำ ระดับน้ำใต้ดินตื้น สามารถสูบมาใช้ได้อย่างพอเพียง สำหรับงานเกษตรที่ต้องการผลิต

พื้นที่เกษตรที่ทำกันอยู่มีราว 14 ไร่ มีพืชบางชนิดที่อายุสั้น ปลูกหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

เกษียณจากงานประจำแล้ว คุณวีระชัย บอกว่า ยังทำการเกษตรได้อย่างเพลิดเพลิน ครอบครัวนี้มีลูกชายคนหนึ่ง เรียนจบทางด้านพืชสวน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันทำงานอยู่บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ประจำอยู่จังหวัดกาญจนบุรี วันหยุดลูกชายก็มาช่วยครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง

เจ้าตัวบอกว่า งานเกษตรที่ทำมาตั้งแต่ปี 2536 สามารถสร้างครอบครัวให้มีฐานะมั่นคง โดยที่หัวหน้าครอบครัวได้ทำงานในหน้าที่หลักอย่างเต็มที่

ถึงแม้เกษียณแล้วก็ยังทำเกษตรอยู่

ส้มโอทับทิมสยาม

“อ้อยยังปลูกอยู่ หลังๆ มาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ไร่หนึ่งมีรายได้ราว 1.4 หมื่นบาท ต้นทุนราว 4 พันบาท ข้าวโพดที่นี่ขายได้ราคาดีกว่าที่อื่น คือเก็บเกี่ยวที่ความชื้นพอเหมาะ จากนั้นสีแล้วนำไปขายเองได้กิโลกรัมละ 10 บาท งานปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่ก็ทำเอง มีงานบางอย่างเท่านั้นที่ต้องจ้าง คืองานที่รอเวลาไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จในเวลารวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้จ้าง ช่วยกัน” คุณวีระชัย บอก

รอบๆ บ้านพักของครอบครัวเกตุเรน ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ผล นอกจากข้าวโพดแล้ว คุณวีระชัย บอกว่า อย่างอื่นมีอ้อย 8 ไร่ มะกรูดตัดใบ 2 งาน กล้วยไข่ มะม่วง มะปรางหวาน

“มีปลูกชะอม 1 ไร่ มีรายได้เป็นรายอาทิตย์ ตะไคร้ปลูก 2 ไร่ กิโลกรัมละ 5 บาท…งานเกษตรช่วงหลังอยู่ตัวแล้ว ทุกคนมีรายได้ แม่บ้านเก็บผลผลิตขายเหมือนได้จากธนาคาร”

คุณวีระชัย เล่าและบอกอีกว่า

ผสมผสาน

“งานที่ทำอย่างงานราชการต่างจากงานเกษตร งานราชการวางแผนแล้วทำตามแผน งานบ้านวางแผนไม่นาน เช้านี้ทำอะไร”

เป็นคนเกษตรที่ทำงานหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข

สอบถามเพิ่มเติมได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 095-591-5242

……………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2564

 


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354