วช. ส่งเสริมนวัตกรรมอบแห้งกาแฟ เพิ่มรายได้เกษตรกรแม่ฮ่องสอน

“จังหวัดแม่ฮ่องสอน” เป็นพื้นที่ป่าฝน มีภูเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ประมาณ 800 เมตรขึ้นไป มีสภาพภูมิอากาศและสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด จึงเหมาะสมแก่การปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้า ทำให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอันดับ 3 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน รองจากกระเทียมและกะหล่ำปลี

กาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับชาวบ้าน

 

ในปี พ.ศ. 2562 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเกษตรกรปลูกกาแฟ 1,046 ราย เนื้อที่เพาะปลูก 4,043 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,017 ไร่ เก็บเกี่ยวผลเชอร์รี่กาแฟได้ 371 ตัน มีผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวเท่ากับ 123 กิโลกรัม เกษตรกรขายกาแฟได้ 114 บาทต่อกิโลกรัม (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2564)

 

แหล่งผลิตกาแฟ

ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟพันธุ์อะราบิก้า โดยเพาะปลูกกาแฟแบบอินทรีย์ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เมล็ดกาแฟจากตำบลห้วยปูสิง มีคุณภาพดี มีกลิ่นรสเฉพาะตัว ปัจจุบัน ตำบลห้วยปูลิง มีเกษตรกรสนใจทำอาชีพปลูกกาแฟเป็นจำนวนมาก โดยดำเนินงานในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร เช่น วิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยไม้ดำ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบ้านหนองขาวเหนือ และกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองขาวกลาง 

ทีมนักวิจัยกับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ

กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองขาวกลาง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองขาวกลาง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยปูลิง มีประชากรประมาณ 40 ครัวเรือน 200 คน ประชากรในหมู่บ้านมีอาชีพ ปลูกพืชไร่ ข้าวไร่ ทำนาข้าว ปลูกกาแฟ เลี้ยงสัตว์ กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองขาวกลาง ภายใต้การนำของประธานกลุ่ม คือ คุณพะตูคา วุฒิอุปถัมภ์ มีสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกาแฟจำนวน 19 คน สมาชิกแต่ละรายปลูกกาแฟประมาณ 500-1,000 ต้น ทางกลุ่มรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก ในรูปแบบผลเชอร์รี่กาแฟสดและกาแฟกะลา ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวปี 2562 ทางกลุ่มรับซื้อผลผลิตเชอร์รี่กาแฟสดจากสมาชิกประมาณ 4,000 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 15-17 บาท และขายกาแฟกะลาไปได้ประมาณ 800 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 120-125 บาท นอกจากนี้ สมาชิกในกลุ่มบางคนจะส่งขายผลเชอร์รี่กาแฟสดหรือแปรรูปเป็นกาแฟกะลาเพื่อขายให้กับพ่อค้าคนกลางจากพื้นล่างในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน  

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยไม้ดำ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านห้วยไม้ดำ หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยปูลิง มีสมาชิก 15 คน มี คุณศิรีโรจน์ พิทักษ์วนาศิริ เป็นประธานกลุ่ม มีประชากรในหมู่บ้าน 43 ครัวเรือน ประมาณ 250 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตร โดยเพาะปลูกกาแฟ ลูกพลับ ข้าว ส้ม และถั่วลายเสือ ฯลฯ

ขั้นตอนการแปรรูปกาแฟ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยไม้ดำมุ่งส่งเสริมให้สมาชิกและคนในหมู่บ้านปลูกกาแฟและทำการสีเชอร์รี่กาแฟร่วมกันภายหลังการเก็บเกี่ยว ตากแห้งกาแฟด้วยกรรมวิธีตากแดดบนแคร่ที่คลุมด้วยพลาสติกและรวบรวมผลผลิตส่งขายให้กับโรงคั่วกาแฟในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เนื่องจากหมู่บ้านห้วยไม้ดำมีบริเวณกว้างจึงแบ่งจุดที่ชาวบ้านจะมาสีเชอร์รี่กาแฟเป็นสองจุด ได้แก่ ที่บ้านของประธานกลุ่มและบ้านของผู้นำหมู่บ้าน ในปี 2562 ทางกลุ่มมีปริมาณกาแฟกะลาที่ขายได้ร่วมกันกว่า 1 ตัน ขายในราคากิโลกรัมละ 120-125 บาท 

วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบ้านหนองขาวเหนือ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองขาวเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยปูลิง ในหมู่บ้านมี 20 ครัวเรือน จำนวนประชากรประมาณ 90 คน มีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มปลูกกาแฟ 15 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจแห่งนี้ ใช้พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ของ กศน. บ้านหนองขาวเหนือเป็นลานตากกาแฟกะลาและใช้สีเชอร์รี่กาแฟ ในปี 2562 มีปริมาณกาแฟกะลาที่ขายได้รวมกันกว่า 1 ตัน ขายในราคากิโลกรัมละ 120-125 บาท

ผลไม้นานาชนิดที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน

 

สภาพอากาศแปรปรวน

ผลผลิตเสียหาย 50%

โดยทั่วไปเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดเชอร์รี่กาแฟแดงสุก ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี เมล็ดเชอร์รี่กาแฟถูกนำมาสีเปลือกสีแดงออกเหลือเป็นเมล็ดกาแฟที่มีกะลาอยู่ กาแฟกะลาจะถูกแช่น้ำไว้เพื่อล้างเมือกออกจากกะลาก่อน จากนั้นนำกาแฟกะลาไปตากแห้ง ด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิมคือ ตากบนแคร่ไม้หรือปูผ้าใบตากบนพื้น

นักวิจัยถ่ายทอดความรู้เรื่องการอบแห้งสินค้าเกษตร

แต่เนื่องจากตำบลห้วยปูลิง เป็นเขตพื้นที่สูง สภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน มักมีฝนตกกะทันหันหรือฟ้าปิดติดต่อกัน เป็นอุปสรรคต่อการตากแห้งกาแฟกะลาอยู่เป็นประจำ ทำให้กาแฟกะลาเสียหายและไม่ได้คุณภาพ เช่น มีเชื้อรา และปริมาณความชื้นสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คิดเป็นปริมาณการสูญเสียถึงร้อยละ 50 ของปริมาณผลผลิตในแต่ละปี

นอกจากกาแฟที่จะให้ผลผลิตในช่วงปลายปีถึงต้นปีแล้ว เกษตรกรในตำบลห้วยปูสิงยังมีรายได้จากการปลูกลูกพลับแบบเกษตรอินทรีย์ที่ให้ผลผลิตมาก มักส่งขายเป็นผลสด แต่เนื่องจากลูกพลับเป็นผลไม้ที่มีผิวบอบบาง จึงมีลูกพลับบางส่วนที่ผิวช้ำเสียหาย หากนำลูกพลับที่ถูกคัดออกมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าก็ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกช่องทาง

ตัวอย่างกาแฟที่ได้จากการแปรรูปในแต่ละขั้นตอน

 

แก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมอบแห้ง

พลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงสนับสนุนทุนให้นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุศรากรณ์ มหาโยธี นำนวัตกรรมอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม มาใช้แก้ปัญหาการอบแห้งเมล็ดกาแฟเพื่อลดการสูญเสียผลผลิตกาแฟ รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าผลไม้ในท้องถิ่นอื่นๆ

เนื่องจากนวัตกรรมอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม เป็นโรงเรือนระบบปิด สามารถป้องกันฝน ฝุ่นละออง และเก็บสะสมความร้อนจากแสงแดดได้ดี ทำให้ภายในระบบอบแห้งลักษณะนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าการตากแดด จึงใช้ระยะเวลาการอบแห้งสินค้าเกษตรได้เร็วกว่าการตากแดด นับเป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมในการจะนำมาช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียผลผลิตกาแฟ และการแปรรูปผลไม้ เช่น ลูกพลับในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ดำเนินงานติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม ขนาดหน้ากว้าง 3.0 เมตร ยาว 6.2 เมตร จำนวน 2 ระบบ ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยไม้ดำ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม ขนาดกว้าง 6 เมตร x ยาว 8.2 เมตร จำนวน 2 ระบบ แบ่งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบ้านหนองขาวเหนือ จำนวน 1 ระบบ และกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองขาวกลาง จำนวน 1 ระบบ เพื่อใช้ในการตากแห้งเมล็ดกาแฟกะลาเปียก โดยสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการตากแห้งจากเดิมใช้การตากแดดบนแคร่ หรือพื้น 7 วัน เหลือระยะเวลาการตากแห้งในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม 3 วัน

ชาวบ้านอบแห้งกาแฟและผลไม้ หลังผ่านการอบรม

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม การบำรุงรักษา และการใช้งานระบบอบแห้งแบบพาราโบลาโดมในการตากแห้งเมล็ดกาแฟ และพืชอื่นๆ อาทิ พริกแห้ง กล้วยตาก กล้วยซีกอบแห้ง กล้วยดิบแห้ง และมะม่วงอบแห้ง เป็นต้น ให้แก่สมาชิกกลุ่มเป้าหมาย โดยระยะเวลาที่ใช้ในการตากแห้งพริก ในพาราโบลาโดมคือ 3 วัน มะม่วงอบแห้ง กล้วยซีกอบแห้ง และกล้วยดิบแห้ง 1-2 วัน และกล้วยตากใช้เวลา 3-4 วัน ขึ้นกับความเข้มของแสงแดด

ภายหลังการฝึกอบรมเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายสามารถใช้งานระบบอบแห้งฯ ในการแปรรูปกาแฟ กล้วย พริก และมะม่วงได้ และในอนาคต กลุ่มเกษตรกรวางแผนนำระบบอบแห้งฯ ไปใช้ในการแปรรูปส้มและพลับอบแห้งต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)