ทุเรียน ราชาผลไม้ ปลูกยังไงให้ปัง

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือมติชนฉลองการดำเนินงานครบ 34 ปี “เทคโนโลยีชาวบ้าน” นิตยสารเกษตรอันดับหนึ่งของเมืองไทย โดยจัดงานสัมมนาเกษตรออนไลน์แห่งปี! นำเสนอ “ทางรอดเกษตรกรยุคโควิด” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเหล่ากูรูมาร่วมให้ความรู้ ผ่าน Live Streaming เฟซบุ๊กเพจเทคโนโลยีชาวบ้าน และเฟซบุ๊กเพจในเครือมติชน

“ดร. ณัฐภพ สุวรรณเมฆ” นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และ ผศ.ดร. ลำแพน ขวัญพูล ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมให้ความรู้ในเวทีเสวนา “ทุเรียน…ราชาผลไม้ ปลูกยังไงให้ปัง” ซึ่งกิจกรรมเสวนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากเกษตรกรและประชาชนจำนวนมาก

ข้อมูลการผลิตทุเรียนของประเทศไทย

ไทยปลูกทุเรียนกว่า 7 แสนไร่

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศ 791,165 ไร่ ผลผลิตรวม 1,111,928 ตัน ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,405 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยแหล่งปลูกทุเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดชุมพร 196,158 ไร่ ผลผลิต 315,552 ไร่  ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,609 กิโลกรัม ต่อไร่ รองลงมาคือ จังหวัดจันทบุรี 195,126 ไร่ ผลผลิต 380,446 ตัน ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,950 กิโลกรัม ต่อไร่ จังหวัดระยอง 66,382 ไร่ ผลผลิต 114,413 ตัน ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,724 กิโลกรัม ต่อไร่  จังหวัดนครศรีธรรมราช 53,670 ไร่ ผลผลิต 51,750 ตัน ผลผลิตโดยเฉลี่ย 954 กิโลกรัม ต่อไร่ จังหวัดยะลา 53,621 ไร่  ผลผลิต 53,023 ตัน ผลผลิตโดยเฉลี่ย 989 กิโลกรัม ต่อไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2563)

จากตัวเลขพื้นที่การปลูกทุเรียนทั่วประเทศ พบว่า แหล่งผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออก มีศักยภาพการผลิตทุเรียนได้ดีที่สุด มีผลผลิตเฉลี่ย 1,868 กิโลกรัม ต่อไร่ รองลงมาคือ ภาคใต้ 1,192 กิโลกรัม ต่อไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 796 กิโลกรัม ต่อไร่ และภาคเหนือ 543 กิโลกรัม ต่อไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2563)

ดร. ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัย เอ็มเทค สวทช.

ทุเรียน พืชส่งออกสำคัญ

ดร. ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ในปี 2564 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งตลอดเดือนมกราคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 58,344 ล้านบาท ทุเรียนเป็นพืชส่งออกอันดับ 2 รองจากยางพารา เป็นราชาผลไม้ที่นิยมบริโภคในไทยและตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดจีน ที่มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งทุเรียนสดและแช่แข็ง

ทุกวันนี้ กลุ่มประเทศอาเซียน นับเป็นแหล่งปลูกทุเรียนสำคัญของโลก ดังนั้น ตลาดส่งออกทุเรียนของไทยมีโอกาสเผชิญกับคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพของทุเรียนไทยให้มีความยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่แข่งขันกันในเรื่องคุณภาพมากขึ้น

ปัจจุบัน ปัญหาโรค-แมลงศัตรูพืช นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่สร้างความเสียหายให้แก่สินค้าทุเรียนของไทย ชาวสวนทุเรียนต้องรับมือกับปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชและสัตว์กัดแทะ ทำลายทุเรียนในระยะพัฒนาผล เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมีทางการเกษตรแก้ไขปัญหาโรคและแมลง แม้รักษาผลผลิตได้ แต่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และเสี่ยงเจอปัญหาสารเคมีตกค้างเป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค

ทุเรียนมีปัญหาโรคและแมลง ต้องใช้สารเคมีการเกษตรจำนวนมาก

ถุงห่อทุเรียน “Magik Growth”

นวัตกรรมทางเลือกสู่ทางรอด

เอ็มเทค สวทช.เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้นำองค์ความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์โดยพัฒนาสูตรผสมเม็ดพลาสติก (polymer compound) ร่วมกับเทคโนโลยีการขึ้นรูปนอนวูฟเวน นำมาผลิตนวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวน ในชื่อการค้าว่า Magik Growth โดยทดสอบถุงห่อผลไม้ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับภาคสนามเพื่อจัดเก็บข้อมูลผลวิจัยอย่างเป็นระบบ ร่วมกับ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน “Magik Growth” เปรียบเสมือนชุดเกราะป้องกันผลทุเรียนในระยะพัฒนาผลจนถึงเก็บเกี่ยว ป้องกันศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยแป้ง, หนอนเจาะผล (หนอนรัง) ราดำ และกระรอกได้อย่างดี ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งลดต้นทุนการผลิต นวัตกรรมถุงห่อผลไม้ช่วยให้ผิวทุเรียนสวย มีเปลือกบางลงและมีเนื้อหนาขึ้น ยกระดับคุณภาพสินค้าสู่ตลาดพรีเมียร์ เพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน เอ็มเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถุงห่อผลไม้ Magik Growth ให้แก่บริษัทเอกชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมจำหน่ายสินค้าในช่วงปลายปีนี้ นวัตกรรมถุงห่อผลไม้ สามารถประยุกต์ใช้กับทุเรียน มะม่วง ส้มโอ ขนุน จำปาดะ ฯลฯ ในปี 2565 เอ็มเทค สวทช. วางแผนขยายการทดสอบถุงห่อผลไม้ Magik Growth ในแหล่งผลิตทุเรียนอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร และพื้นที่ชายแดนใต้

สวนทุเรียนที่ใช้นวัตกรรมถุงห่อผลทุเรียน

ถุงห่อ Magik Growth สีแดง

มีประสิทธิภาพดีที่สุด

ผศ.ดร. ลำแพน ขวัญพูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในระยะแรก ทีมวิจัย สจล. ได้นำถุงห่อ Magik Growth จำนวน 4 สี (น้ำเงิน ขาว ดำ และแดง) มาทดสอบห่อทุเรียน ของ คุณนวลนภา เจริญรวย เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับทุเรียนที่ไม่ได้ห่อ เพื่อจัดเก็บข้อมูลทั้งความชื้น อุณหภูมิตลอดช่วงการห่อ

ผลจากทดสอบภาคสนามพบว่า นวัตกรรมถุงห่อผลไม้ผลิตจากวัสดุนอนวูฟเวน มีคุณสมบัติให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้โดยง่าย และมีคุณสมบัติการคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมกับเซลล์รับแสงที่ผิวผลไม้ สามารถสร้างสารสำคัญในผลไม้ทั้งแป้ง น้ำตาล สารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ โดยถุงห่อทุเรียน Magik Growth สามารถลดสารเคมี ป้องกันกระรอกและหนอนเจาะผลทุเรียน และเพลี้ยแป้ง ราดำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ผิวผลทุเรียนสวย ผลได้น้ำหนักดี และมีปริมาณเนื้อทุเรียนเพิ่มขึ้นด้วย

ผศ.ดร. ลำแพน ขวัญพูล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ข้อสรุปว่า ทุเรียนสดที่ไม่ห่อผล มีน้ำหนักเฉลี่ย 3.56 กิโลกรัม เปลือกหนา 1.36 เซนติเมตร และน้ำหนักในพูทุเรียน 290 กรัม ขณะที่ทุเรียนที่ห่อถุง Magik Growth สีแดง มีประสิทธิภาพดีที่สุด สามารถเพิ่มขนาดผลทุเรียนเฉลี่ย 4.05 กิโลกรัม เปลือกหนาแค่ 1.01 เซนติเมตร และมีปริมาณเนื้อของทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 379 กรัม

ผศ.ดร. ลำแพน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growth มีความหนาของเปลือกบางลง 30% ทำให้ได้น้ำหนักรวมผลทุเรียน เพิ่มขึ้น 10% มีความแน่นเนื้อมากขึ้น และสีเนื้อเหลืองขึ้น เมื่อนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องพบว่า ผลทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growth มีการสุกช้ากว่าผลที่ไม่ได้ห่อประมาณ 2 วัน

ทุเรียนแก่เหมือนกัน แต่ผิวภายนอกต่างกัน

นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน ช่วยลดต้นทุนจากสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันเพลี้ยแป้ง ราดำ กระรอก และหนอนเจาะผลทุเรียนได้ดี ทำให้ทุเรียนมีผิวผลสวย สวนทุเรียนที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ สามารถยกระดับสินค้าสู่ตลาดพรีเมียร์ ในปีหน้ามีชาวสวนทุเรียนหลายรายสนใจนำถุงห่อทุเรียนไปใช้ในการผลิตทุเรียนในระบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

“อนาคตทุเรียนต้องแข่งขันที่คุณภาพ-ตลาดนำการผลิตเป็นหลัก เกษตรกรญี่ปุ่นขายผลผลิตได้ครั้งละ 2-3 พันเยน ทุเรียนไทยก็สามารถทำได้ เพียงชาวสวนทุเรียนเปิดใจยอมรับนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยยกระดับการผลิต เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ยกระดับสินค้าสู่ตลาดพรีเมียร์ในอนาคต” ผศ.ดร. ลำแพน กล่าวในที่สุด

เปรียบเทียบคุณภาพผลผลิต ที่ใช้และไม่ใช้ถุงห่อผลทุเรียน
สวนทุเรียนคุณนวลนภา เจริญรวย ที่ใช้นวัตกรรมถุงห่อผลทุเรียน

ผู้สนใจนวัตกรรมถุงห่อ Magik Growth สามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร. ณัฐภพ สุวรรณเมฆ ทีมวิจัยสิ่งทอ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. โทรศัพท์ 02-564-6500 ต่อ 4464, 4727 และ 096-819-6484