เยี่ยมชมแปลงปลูกพืชกระท่อม คู่ค้า “วิสาหกิจชุมชนเขาการ้อง”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขาการ้อง ตำบลวังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำโดย คุณสมบูรณ์ หนูนวล ประธานกลุ่ม พร้อมด้วย คุณสุรินทร์ เหล่าพัทรเกษม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบสังคมของภาคธุรกิจจังหวัดชุมพร (Corporate Social Responsibility Chumphon หรือ ศูนย์ CSR ชุมพร) คุณอนัน รามพันธุ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร คุณทวีลาภ การะเกด ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ด้านสังคม จังหวัดชุมพร และ คุณอัจจนา หอมละออ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร

ร่วมเดินทางเข้าเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชกระท่อมของ คุณเอกภมร  พลวาริน อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 133 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมี คุณกันตพล เชาว์กิจค้า อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะการเงิน มหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล (Finance Inter MUIC) ร่วมติดตามไปเยี่ยมชมด้วย

คุณเอกอมร พลวาริน

คุณเอกภมร เปิดเผยว่า ตนเองมีอาชีพเกษตรกรปลูกพืชผสมผสาน ทั้งทุเรียน กาแฟ เงาะ ลองกอง ขนุน ในพื้นที่ประมาณ 22 ไร่ ส่วนกระท่อมมีการปลูกหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งกระท่อมก้านแดง ก้านเขียว หางกั้ง แซมเอาไว้ทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ประมาณ 400 ต้น หลังจากรัฐบาลมีการปลดล็อกโดยถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชีพืชเสพติดรู้สึกดีใจมาก เนื่องจากไม่ต้องขายใบกระท่อมกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนที่ผ่านมา ทั้งที่จริงๆ แล้วพืชกระท่อมเป็นพืชสมุนไพรที่ประโยชน์มากมาย ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อใบกระท่อมก็นำไปบริโภค

เมื่อมีการปลดล็อกจึงทำให้ชาวบ้านที่ปลูกพืชกระท่อมสามารถนำออกขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งนอกจากตนเองจะส่งใบกระท่อมให้วิสาหกิจชุมชนเขาการ้องที่เป็นคู่ค้ากันแล้ว ยังส่งไปขายที่จังหวัดระนอง จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสุรินทร์ด้วย โดยส่งขายในราคากิโลกรัมละ 400 บาท ส่วนยอดจำหน่ายในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน แล้วแต่ลูกค้าจะสั่งเข้ามาวันละ 5-20 กิโลกรัม ถ้าลูกค้าที่สั่งซื้อไม่มากก็จะนำไปบริโภคเอง ส่วนผู้ที่สั่งซื้อเยอะๆ ก็คงนำไปจำหน่ายต่อ

ดูแลไม่ยาก

“การปลูกพืชกระท่อมไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แค่รดน้ำในหน้าแล้ง ใส่ปุ๋ย และฉีดยาเดือนละ     2 ครั้งเท่านั้น ที่ผ่านมามีคนติดต่อขอเข้ามาเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชกระท่อม และซื้อต้นกล้ากระท่อมกลับไปปลูกเป็นระยะ ซึ่งตนเองได้เปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ “สายเขียว เคี้ยวมัน”       ไว้สำหรับผู้ที่สนใจด้วย สำหรับรายได้จากการขายใบกระท่อมขณะนี้อยู่ที่ประมาณเดือนละ 500,000 บาท” คุณเอกภมร กล่าว

คุณสมบูรณ์ กล่าวว่า การพาคณะเข้ามาเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชกระท่อมในวันนี้ รู้สึกตะลึงว่าหลังจากรัฐบาลมีการปลดล็อกพืชกระท่อม ก็สามารถสร้างรายได้ได้ถึงขนาดนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้เสริม ซึ่งพืชกระท่อมเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก สามารถนำไปแปรรูปเป็นชากระท่อม หรือนำไปใส่อาหาร ใส่เครื่องดื่มต่างๆ ได้ ส่วนผู้ที่สนใจจะสมัครเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเขาการ้อง ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใดก็ตามสามารถสมัครได้หมด หากมีสมาชิกมากขึ้น ก็อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นสหกรณ์ชุมชนเขาการ้องในอนาคตต่อไป

แปลงปลูก

คุณกันตพล กล่าวว่า ตนเองและเพื่อนๆ ร่วมกันก่อตั้งทีม “Kratomics” ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการแข่งขัน Hult Prize ของ Hult Prize Foundation ร่วมกับ United Nation และ Education First ที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม-12 กันยายน 2564 โดยเป็นหนึ่งใน 40 ทีมสุดท้ายจาก 80,000 ทีมทั่วโลก ที่ได้รับการคัดเลือก และทีมของตนเองก็กำลังทำการศึกษาเรื่องการทำผลิตภัณฑ์ (Product) ต่างๆ จากพืชกระท่อมว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งจากการเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชกระท่อมที่เป็นคู่ค้ากับวิสาหกิจชุมชนเขาการ้อง ก็รู้สึกว่าชุมพรน่าจะเป็นจังหวัดที่มีการปลูกพืชกระท่อมเยอะและดีที่สุดในไทยก็ว่าได้

กำลังเจริญเติบโต

นอกจากการเยี่ยมชมแปลงปลูกพืชกระท่อมของคุณเอกภมร ทุกคนยังได้มีโอกาสกินอาหารที่วิสาหกิจชุมชนเขาการ้อง ที่มีการนำพืชกระท่อมมาเป็นส่วนผสมด้วย เช่น คั่วกลิ้งหมูใส่ใบกระท่อม ไข่เจียวใส่ใบกระท่อม ใบกระท่อมชุบแป้งทอดกรอบ กุ้งชุบแป้งทอดใส่ใบกระท่อม แหนมห่อใบกระท่อม และชาใบกระท่อม ซึ่งอาหารที่มีการนำใบกระท่อมมาเป็นส่วนผสมล้วนมีรสชาติดีกว่าอาหารเหล่านี้ที่ไม่ใส่ใบกระท่อมมาก

สร้างรายได้ดี

ในขณะที่สังคมไทยกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต่างได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ส่งผลให้รายได้ลดลงๆ จนรัฐบาลต้องจัดโครงการต่างๆ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การประกาศปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชีพืชเสพติด ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินมาถูกทางแล้ว เพราะพืชกระท่อมถือเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีการนำพืชกระท่อมมาทำยาสมุนไพรแก้โรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด ฯลฯ

แซมพืชอื่น

นอกจากนี้ บรรดาผู้ใช้แรงงาน ทั้งชาวสวน ชาวประมง คนงานก่อสร้าง ล้วนแต่มีการนำใบกระท่อมมาเคี้ยวเพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สามารถทำงานได้นานขึ้น อีกทั้งยังไม่เคยมีข่าวว่า ผู้บริโภคพืชกระท่อมคนใดเกิดอาการเมาหรือคลุ้มคลั่งจับใครเป็นตัวประกันมาก่อน ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนหันมาปลูกพืชกระท่อมเป็นรายได้เสริม จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำมานานแล้ว

…………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354