ลำไยบ้านแพ้ว ปลูกง่าย กำไรงาม ของ ไพรัช เทียนทอง

หากพูดถึงผลไม้ช่อใหญ่ ผลอวบกลม รสชาติหวานกรอบ หอมชื่นใจ ที่นอกจากจะทานสดๆ แล้วยังสามารถนำมาทำของหวานและเครื่องดื่มได้ คงไม่พ้นลำไยที่เป็นที่นิยมของชาวไทยมายาวนาน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายปีมานี้ ชื่อเสียงของลำไยบ้านแพ้วโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมาก ลูกดก ราคาดี มีกำไรงาม

คุณไพรัช เทียนทอง

วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสมาหาคำตอบว่า เพราะอะไรลำไยบ้านแพ้วถึงติดตลาด เมื่อเดินทางมาถึงตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จึงได้มาเจอกับประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลูกลำไยพวงทองบ้านแพ้ว คุณไพรัช เทียนทอง ซึ่งเป็นเจ้าของสวนลำไยพื้นที่กว่า 14 ไร่ ทั้งยังเป็นแปลงเรียนรู้โครงการส่งเสริมการเกษตรที่ร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอีกด้วย มาถึงคุณลุงก็ได้ต้อนรับเป็นอย่างดี

คุณไพรัช เทียนทอง ปัจจุบันอายุ 72 ปี เป็นเกษตรกรปลูกลำไยพันธุ์พวงทอง พื้นที่ 14 ไร่ อยู่ที่ตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันปลูกลำไยมาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ปลูกพืชหลากหลาย เช่น มะนาว กล้วย มะม่วง ก่อนที่จะมีความคิดเริ่มศึกษาเพิ่มเติมถึงการปลูกผลไม้ชนิดอื่นจากเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน จึงเห็นว่าลำไยให้ผลผลิตดี ดูแลง่าย มีผลกำไรต่อเนื่องทุกปี ทั้งยังเป็นพืชที่ปลูกได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งดินร่วน ดินทราย และดินเหนียว “ก่อนหน้าเพื่อนเกษตรกรเขาปลูกพันธุ์เพชรสาคร แต่คนซื้อย่านนี้เขาไม่นิยมเพราะน้ำเยอะ เนื้อแฉะ เราจึงเริ่มหาพันธุ์แปลกๆ มาปลูกกัน จนมาเลือกปลูกพันธุ์พวงทองเพราะเป็นลำไยที่เหมาะที่จะปลูกภาคกลาง” โดยเฉพาะอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ดินเหนียว เป็นดินชายทะเลเก่า หรือเป็นดินชายแม่น้ำเก่าซึ่งมีแร่ธาตุอาหารสูง

ช่อลำไยอายุห้าเดือน

ลำไยพวงทองเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี ผลใหญ่ เม็ดเล็ก เนื้อกรอบนุ่ม

ลำไยพวงทองช่อหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม ในช่วงที่ปลูกระยะแรกๆ ไม่มีสารบังคับให้ออกผลผลิตนอกฤดูได้จึงไม่ได้ปลูกตลอดทั้งปี แต่ระยะหลังมีสารบังคับให้ออกดอกนอกฤดูได้ เลยหันมาปลูกอย่างจริงจัง โดยคอยปรึกษาหารือเกี่ยวกับการลดต้นทุน การทดลองต่างๆ ร่วมกันกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลูกลำไยพวงทองบ้านแพ้วอยู่เสมอ จากนั้นก็เรียกได้ว่าบ้านแพ้วทำให้ลำไยพวงทองติดตลาดและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

การปลูกลำไยต้องคำนึงถึงดินและน้ำเป็นสิ่งสำคัญ

การปลูกลำไยต้องคำนึงถึงพื้นที่ปลูก สภาพดิน ความสมบูรณ์ของน้ำ 3 อย่างนี้สำคัญมาก พื้นที่ตรงไหนก็ได้ ปลูกได้ทั่วประเทศ แต่ถ้าไม่มีแหล่งน้ำใกล้เคียงก็อาจจะได้ผลผลิตไม่ดี หรืออาจจะมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำเยอะขึ้น หากใครอยากจะเริ่มให้ดูลักษณะดินและดูว่าจะปลูกแบบไหน ยกร่อง หรือเต็มพื้นที่ ให้ดูความเหมาะสมก่อน หากเป็นพื้นที่ดินเหนียวแล้วปลูกเต็มพื้นที่ราบจะทำให้เกิดน้ำขัง ดินจะแฉะ ลำไยไม่ชอบดินแฉะ เพราะรากจะเสีย เรื่องการรับซื้อไม่ต้องกังวลเพราะมีแม่ค้ามารับที่สวนอยู่ตลอดๆ

Advertisement
ป้ายแปลงเรียนรู้การผลิตลำไยคุณภาพ

สภาพดินบ้านแพ้วเป็นดินเหนียว การปลูกควรจะยกร่องเพื่อไม่ให้น้ำขัง แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ของคุณไพรัชเป็นร่องสวนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องยกร่องใหม่ แต่ควรทำการเกลี่ยและพรวนดินก่อนลงปลูก สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกแบบยกร่อง หากจะยกร่องใหม่ควรมีวิธีการยกร่องที่ถูกต้อง ควรจะยกร่องให้สันร่องกว้าง 6-8 เมตร ร่องคูน้ำกว้าง 1.0-1.5 เมตร ลึก 0.5-1.0 เมตร ไม่ควรให้ร่องต่ำเกินไปเพื่อป้องกันน้ำท่วม จากนั้นนำกิ่งตอนปลูกลงไปในหลุม ขนาดหลุมประมาณ 50x50x50 เซนติเตร หรือ 75x75x75 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้นระหว่างแถวที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 8×8 เมตร หลังจากปลูกรดน้ำต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเว้นระยะ 2 วันให้ครั้งหนึ่ง

เมื่อมีอายุของต้นประมาณ 6 เดือน จึงเริ่มให้ปุ๋ย ปกติคุณไพรัชให้ปุ๋ยหมักปีละ 1 ครั้ง ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมีบ้าง ถ้าหากสังเกตว่าใบเก่าเริ่มแก่และต้องการให้แตกยอดใหม่ หรือดูความเหมาะสมจากการสังเกต ถ้าหากสภาพต้นมีความสมบูรณ์ดีก็ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยบ่อย ถ้าหากใครต้องการให้บ่อยก็อาจจะให้ครั้งละน้อย หลังจากปลูก 3 ปี จึงจะเป็นช่วงเวลาที่ต้นสามารถให้ผลผลิตได้ เมื่อต้นมีความเจริญดีจึงเริ่มให้สารโพแทสเซียคลอเรตบริเวณโคนต้น ให้ทั่วทรงพุ่มเพื่อบังคับให้เกิดดอก นับจากราดสารลงไป 7 เดือน จึงจะเริ่มมีผลผลิตครั้งแรก เมื่อลำไยออกช่อแล้วต้องมีการตัดแต่งช่อลำไยเพื่อไม่ให้จำนวนช่อต่อต้นมากเกินไป ซึ่งมีผลทำให้ช่อไม่สมบูรณ์ โดยอาจะเก็บไว้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนช่อทั้งหมด หรือน้อยกว่านั้น แรกเริ่มคุณไพรัชได้นำกิ่งพันธุ์มาจากจังหวัดกำแพงเพชร หลังจากนั้นจึงทำการขยายพันธุ์เองโดยการตอนกิ่งเรื่อยมา

Advertisement
แปลงเรียนรู้โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่

พันธุ์ลำไยที่นิยมในไทย

พันธุ์เบี้ยวเขียว เนื้อเหนียวแต่รสชาติดี มีกลิ่มหอม เป็นที่นิยมของชาวออสเตรเลีย

พันธุ์อีดอ หรือ ดอ คล้ายคลึงพวงทอง แต่เม็ดใหญ่กว่า เนื้อบางกว่า ลูกเล็กกว่า

พันธุ์สีชมพู เป็นพันธุ์เก่าแก่รสชาติหวานกรอบ เนื้อสีชมพูระเรื่อ มีน้ำเยอะ

พันธุ์พวงทอง ผลใหญ่ เม็ดเล็ก เนื้อหนา หวานและกรอบ

ร่องสวนลำไย

ลำไยนอกฤดู ปลูกได้ตลอดปี พลิกชีวิตเกษตรกรไทย

การทำลำไยนอกฤดู จะเริ่มทำประมาณเดือนพฤษภาคม ดอกจะออกช่วงมิถุนายน 1 เดือนหลังราดสารบังคับ (โพแทสเซียคลอเรต) จะเริ่มออกดอก นับจากราดสาร 7 เดือน จะเริ่มให้ผลผลิต ใน 1 รอบ ทำปีละครั้ง โดยจะเริ่มต้นเดือนใดก็ได้ แต่ที่อำเภอบ้านแพ้วจะแบ่งรอบการราดสารบังคับของแต่ละสวนไม่ให้ราดพร้อมกัน เนื่องจากถ้าออกผลผลิตพร้อมกันหมดจะทำให้เกินความต้องการของตลาด และราคาตกได้ ถ้าราดสารเดือนพฤษภาคมจะสามารถเริ่มเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมาจนถึงมิถุนายนของอีกปี

เครื่องรดน้ำ

จุดเริ่มต้นในการร่วมวิจัย กับมหาลัยชั้นนำ

ย้อนไปเมื่อประมาณ 6 ปี พบวิกฤติที่หนักที่สุดคือลมร้อน หรือลมมรสุมฤดูร้อน โดยจะเริ่มพัดมาช่วงเดือนพฤษภาคมยาวไปถึงตุลาคม แต่จะหนักช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ส่งผลให้ดอกลำไยเสียหาย

“บางปีเราก็แทบจะไม่ได้อะไรเลย ลุงเครียดมาก สุดท้ายจึงคิดดิ้นรนไปถึงแม่โจ้ พาคณะขึ้นไป 10 กว่าคน ไปเจออาจารย์พาวิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย อาจารย์สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ อาจารย์ให้บรรยายถึงปัญหาบนเวที ตอนนั้น รศ.สพญ.ดร. ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ฟังปัญหาของลุง ท่านก็ได้ถามไถ่และมอบหมายให้อาจารย์พาวินมาดูแล จากนั้น 3 เดือน อาจารย์พาวินได้ลงมาทำงานวิจัยและเชิญหลายมหาวิทยาลัยมาด้วย รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัชระ จินตโกวิท และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุษณีย์ พิชกรรม เป็นผู้นำทีม ตอนนั้นได้งานวิจัยและความรู้มาเยอะแยะเลย เรารอดแล้ว” ความรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้จากการวิจัยร่วมกับมหิดล

จากนั้นเรื่อยมา คุณไพรัชจึงได้ทำการทดลองร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัชระ จินตโกวิท และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุษณีย์ พิชกรรม และคณะ โดยเข้ามาทำงานวิจัยในเรื่องการป้องกันการเสียหายจากการที่ได้รับผลกระทบการลมร้อนเข้าทำลายดอก จากพื้นที่ 14 ไร่ ของคุณไพรัชนั้น ได้แบ่ง 7 ไร่ เป็นแปลงวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อได้ผลการวิจัยดีจึงนำวิธีไปใช้กับอีก 7 ไร่ ที่เหลือและกระจายความรู้สู่กลุ่มเกษตรกร เบื้องต้นคณะอาจารย์ให้ความรู้ง่ายๆ ต่อเกษตรกรว่า พืชจะมีใบที่ปาก พอน้ำน้อยปากใบจะปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เสียน้ำ แต่ดอกไม่มีปาก หากสูญเสียความชุ่มชื้นแล้วจะเหี่ยวและหลุดร่วงไปก่อน เราจึงต้องทำให้ภายในดอกชุ่มชื้นโดยการเพิ่มการรดน้ำเมื่อมีลมร้อนมา

“พอลมมานะ ดอกมันจะแห้งไปหมดเลย บางทีเราเห็นดอกเต็มต้นแต่พอมีลมร้อนมาสัก 2-3 วัน ดอกอ่อนๆ จะแห้งเสียหายหยุดโตหมดเลย เราก็แก้โดยการให้น้ำ ไม่ต้องไปฉีดเคมี น้ำใช้น้ำเป็นตัวกระตุ้นให้ต้นลำไยมีน้ำให้สมบูรณ์ ปลายยอดสมบูรณ์ แล้วดอกจะสมบูรณ์ขึ้น ทำให้เมื่อมีลมร้อนมา ดอกจะไม่เสียหาย”

ผลนี้เป็นผลสำเร็จจากการทดลองและเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อเกษตรกร โดยการใช้น้ำจะใช้วิธีรดทางดินทุกวัน และฉีดพ่นเป็นละอองฝอยที่ช่อด้วยเพื่อให้ช่อดอกได้รับน้ำสมบูรณ์ ลำไยเป็นพืชที่ต้องการน้ำเยอะ หากไม่มีลมร้อนจะให้น้ำประมาณ 2 วันครั้ง และไม่ให้ทางยอด ส่วนอีกวิกฤติหนึ่งคือค้างคาว ได้ทำการแก้ไขโดยการกั้นตาข่ายและให้แสงไฟตอนกลางคืน

เครื่องพ่นสาร

ความรู้จากคณะอาจารย์ ใช้ธรรมชาติควบคุมธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุน

ผลผลิตที่ได้มามีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงแปลง นับว่าปลูกง่ายขายสะดวก แต่ก็มีช่วงที่ราคาตกไปถึงกิโลกรัมละ 30 บาท มีความกระทบกระเทือนบ้างแต่ไม่มากเพราะใช้ต้นทุนต่ำ โดยที่ผ่านมามีการลดต้นทุนโดยใช้วิธีธรรมชาติเข้าช่วย ปรับลดการใช้สารเคมีโดยหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพรดที่โคนต้น และใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นไปที่ใบเพื่อกันเพลี้ยแป้ง เพลี้ยแป้ง เมื่อเกิดแล้วจะทำให้เกิดราดำตามมา พอมีราดำในช่อจะไม่สามารถขายได้ และผลจากการใช้วิธีธรรมชาติจะทำให้เกิดวิธี “ธรรมชาติควบคุมธรรมชาติ” โดยเกิดตัวห้ำตัวเบียน (แมลงศัตรูธรรมชาติที่ ที่กินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร จึงเกิดสมดุลในธรรมชาติ) ตัวห้ำปละตัวเบียนจะเกิดขึ้นเองและขยายพันธุ์ในแปลงของเราและคอยทำลายแมลงศัตรูพืช จึงช่วยได้เยอะ และส่งผลดีให้ใช้เคมีน้อยลงมาก หากไม่ถึงกับควบคุมไม่ได้จริงๆ จะไม่ใช้เคมีเลย

“ตรงนี้เป็นจุดเด่นของเราเพราะเกษตรกรด้วยกันจะไม่นิยมใช้วิธีนี้ ก่อนหน้านี้มีการใช้สารเคมีตลอด และประสบปัญหาการควมคุมแมลงได้ยากและน้อย เราฉีดวันนี้อีกสองสามวันมันมาใหม่ มันไม่มีแมลงตัวห้ำตัวเบียนที่จะมาช่วยป้องกันให้เราเลย แมลงตัวใหม่ที่เข้ามามันก็ทำลายพืชของเราได้เยอะ พวกเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรแดง มาทำลายสวนของเรา ถ้าเรามีตัวห้ำตัวเบียนจะช่วยได้ดี”

ต้นทุนต่อการปลูกรอบหนึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 2 ตัน ถึง 2 ตันครึ่ง (2,000-2,500 กิโลกรัม) ต้นทุน 15,000 บาท ขายได้กิโลกรัมละ 30-65 บาท โดยแปรผันตามความต้องการซื้อของผู้บริโภคและสภาวะเศรษฐกิจ ช่วงวิกฤติโรคโควิด-19 แรกๆ ทำให้ราคาลำไยตกต่ำมากอยู่ระยะหนึ่ง เนื่องจากกำลังซื้อลดถอยลงไป บวกกับไม่มีนักท่องเที่ยวจึงจำหน่ายได้น้อยลงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มดีขึ้นเป็นปกติแล้ว จากการที่เกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเองโดยการทำให้ต้นทุนต่ำที่สุดจึงสามารถประคองตัวอยู่ได้ นับว่าเรื่องต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และโชคดีที่ลำไยพวงทองเป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ ถ้าหากส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จะได้ราคาดี ลำไยบ้านแพ้วจะออกไปทางใต้เยอะ

ช่อลำไยที่ถูกตัดทิ้งและคลุมโคนต้นไว้เพื่อรักษาความชุ่มชื้น

ภาพรวมของเกษตรกรในพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลูกลำไยพวงทองบ้านแพ้วช่วงนี้ มีสมาชิกอยู่ 31 ราย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มของเขตตำบลอื่นด้วย เริ่มแรกสมาชิกน้อยจึงเริ่มรวบรวมสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เช่น ตำบลบ้านแพ้ว ตำบลหนองบัว ตำบลยกกระบัตร ตำบลโรงเข้ ตำบลหนองสองห้อง

ในปัจจุบันสวนของคุณไพรัชมีการทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยให้มาชม ชิม และเลือกซื้อลำไยจากหน้าสวนได้โดยตรง โดยปี พ.ศ. 2564 นี้ จะเริ่มที่เดือนธันวาคม ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมีน้อยลงมากหลังจากมีโรคระบาดแต่ก็ยังมีบ้างในช่วงที่ผลผลิตออก

หากท่านใดสนใจลำไยพวงทองบ้านแพ้ว เนื้อหวานกรอบ หรือต้องการคำปรึกษา สามารถขอคำแนะนำได้โดยติดต่อที่เบอร์ 091-091-0929

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354