เมื่อ Cannabis ถูกกฎหมาย งานนำเข้าเมล็ดพันธุ์ก็มา

เมล็ดพันธุ์ควบคุมกับกฎหมายพันธุ์พืช

หลังจากการประกาศให้พืชในสกุล Cannabis เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 พืชในกลุ่มนี้จึงได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เวชสำอาง กลุ่มผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ รวมถึงเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ซึ่งเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพืชสกุลนี้ออกมาหลายชนิด จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเมล็ดพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับพืชในสกุล Cannabis ประกอบด้วย กัญชา (Cannabis sativa) และ กัญชง (Cannabis sativa L. susp. Sativa) พืชทั้งสองชนิดมีลักษณะพฤกษศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันมาก โดยตามกรอบของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษดังกล่าว พิจารณาจำแนกพืชทั้งสองชนิดออกจากกันด้วยปริมาณสารเตตราไฮโดรคาบินอล (Tetrahydrocabinal, THC) และกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตที่แตกต่างกันไปด้วย โดยกัญชาอนุญาตให้เฉพาะกิจกรรมของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ส่วนกัญชงเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปมีกิจกรรมได้

ย้อนกลับมายังพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายอีกฉบับที่รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและคุ้มครองเกษตรกรให้ได้ใช้พืชพันธุ์ดีในการเพาะปลูกได้อย่างเพียงพอ และผู้ประกอบการค้าเมล็ดพันธุ์พืชสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยดี รวมถึงส่งเสริมให้มีการคิดค้นและปรับปรุงพืชพันธุ์ใหม่ ตลอดจนควบคุมการค้าระหว่างประเทศของพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์และพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ อนุสัญญา CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)

รูปแบบของการควบคุมและกำกับดูแลของกฎหมายฉบับนี้ ในส่วนของการกำหนดให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพันธุ์พืช ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยออกเป็นประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการพันธุ์พืช ประกอบด้วย กรรมการ โดยตำแหน่ง จำนวน 5 ท่าน เป็นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 ท่าน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้ง สำหรับผู้ทำหน้าที่เลขานุการ คือ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ

ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีทั้งสิ้น 34 ชนิด โดยกัญชง กัญชา ทุกพันธุ์ ถูกประกาศให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 กำหนดความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99 และต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ไว้ในสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตและเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งพิเศษกว่าเมล็ดพันธุ์ควบคุมชนิดอื่นๆ ที่เคยประกาศไปแล้ว

โดยปกติเมื่อประกาศพืชชนิดใดเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมแล้ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ควบคุมจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเริ่มจากการขออนุญาตประกอบกิจการตามประเภทกิจการ ได้แก่ รวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก และนำผ่าน ทั้งนี้ ต้องแจ้งรายละเอียดเมล็ดพันธุ์ควบคุมพร้อมกับแสดงเลขที่แบบแจ้งที่ฉลากผลิตภัณฑ์ กิจกรรมดังกล่าว มีกลุ่มควบคุมพันธุ์พืชและสารวัตรเกษตรควบคุมดูแล ในส่วนของการนำเข้า-ส่งออกเมล็ดพันธุ์ควบคุม ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว จะต้องแจ้งรายการนำเข้า-ส่งออกทุกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของการนำเข้านั้น นอกจากขั้นตอนการตรวจเอกสารสอบแล้วยังต้องตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในห้องปฏิบัติการด้วย และต้องเป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกิจกรรมนี้ มีด่านตรวจพืชและกองวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช เข้ามาดำเนินการร่วมกับกลุ่มควบคุมพันธุ์พืช

หากพิจารณาในประเด็นการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อขายภายในประเทศ หลังจากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าแล้ว ต้องยื่นแบบแจ้งรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ขออนุญาต (เลขที่ พ.พ.) ตามแบบฟอร์มตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด โดยต้องแจ้งชนิดพืชและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ควบคุมให้ถูกต้อง รวมทั้งชื่อการค้าต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกับชื่อการค้าของผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับอนุญาตแล้ว

 

สำหรับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุม หลังจากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าแล้ว ต้องยื่นแบบแจ้งรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ขออนุญาต (เลขที่ พ.พ.) เช่นเดียวกับการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุม โดยใช้เอกสารอ้างอิงผลวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์จากประเทศต้นทางและต้องแจ้งรายการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าแต่ละคราว ณ กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช เพื่อให้กลุ่มควบคุมพันธุ์พืชส่งข้อมูลไปดำเนินการต่อ ณ ด่านตรวจพืช โดยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะสุ่มเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อส่งวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ ก่อนอนุญาตให้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมเข้ามาในประเทศได้ สำหรับกรณีขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมมิใช่เพื่อการค้า ผู้ประกอบการต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกลุ่มควบคุมพันธุ์พืช โดยต้องชี้แจงเหตุผลที่ต้องการนำเข้า พร้อมระบุชนิด ชื่อพันธุ์ ปริมาณ และประเทศต้นทางให้ถูกต้องครบถ้วน แล้วจึงไปดำเนินการขอรับเมล็ดพันธุ์ควบคุม ณ ด่านตรวจพืช

ด้านการส่งออกเมล็ดพันธุ์ควบคุม หลังจากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตส่งออกเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าแล้ว ผู้ประกอบการต้องยื่นแบบแจ้งรายการส่งออกเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าแต่ละคราว ณ กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช เพื่อให้กลุ่มควบคุมพันธุ์พืชส่งข้อมูลไปดำเนินการต่อ ณ ด่านตรวจพืช แล้วจึงสามารถปล่อยสินค้าขาออกได้ โดยการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate : PC) จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดจากประเทศปลายทาง

 

Cannabis กับเมล็ดพันธุ์ควบคุม

จากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศให้ กัญชา กัญชง เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมแล้ว การดำเนินกิจการทางการค้า จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย การขออนุญาตก่อนประกอบกิจการ การแจ้งรายละเอียดเมล็ดพันธุ์ คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ และฉลากบนภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์

ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน เมล็ดพันธุ์ควบคุม จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนการประกอบกิจการ 5 ประเภท ได้แก่ รวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก และนำผ่านซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า โดยผู้ประสงค์จะดำเนินกิจการเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ กัญชา กัญชง จะต้องบรรลุนิติภาวะ มีถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานในประเทศไทย ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจ ต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกับชื่อที่ได้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว ต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตที่ยังไม่ครบสองปี มีสถานที่ที่เหมาะสมในการประกอบกิจการ เช่น มีการจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้สามารถปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ และมีเอกสารหลักฐานการได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษซึ่งขั้นตอนการยื่นคำขอรับใบอนุญาตรวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้งานระบบใบอนุญาตและยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ได้ที่ http://nsw.doa.go.th/public โดยมีคู่มือในการใช้งานระบบให้ศึกษาและทำความเข้าใจ

หลังจากยื่นคำขอทางระบบออนไลน์แล้ว ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องส่งคำขอและเอกสารประกอบ มาที่ กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชวัสดุการเกษตร ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่พิจารณาและอนุมัติแล้ว ผู้ยื่นคำขอต้องชำระค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต โดยใบอนุญาตรวบรวมฉบับละ 400 บาท สิ้นอายุวันที่ 31 ธันวาคม ใบอนุญาต นำเข้า/ส่งออก ฉบับละ 400 บาท สิ้นอายุหลังจากวันที่ออก 365 วัน และใบอนุญาตขาย ฉบับละ 100 บาท สิ้นอายุวันที่ 31 ธันวาคม

ในส่วนของการแจ้งรายละเอียดเมล็ดพันธุ์ควบคุม กรณีเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าต้องแสดงรายละเอียดต่างๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามแบบแจ้งรายละเอียดเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ขออนุญาต เพื่อใช้สำหรับประกาศโดยทั่วไปว่าเมล็ดพันธุ์นั้นๆ มีลักษณะอย่างไรเพื่อให้เกษตรกรหรือผู้ซื้อพิจารณาก่อนเลือกซื้อ มี 2 ประเภท คือ แบบแจ้งรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่นำเข้าเพื่อการค้า โดยเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์นั้นๆ ต้องแจ้งรายละเอียดของประเทศต้นทาง บริษัทต้นทาง ลักษณะพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมแสดงเอกสารประกอบ ได้แก่ คำอธิบายลักษณะประจำพันธุ์จากบริษัทต้นทาง หนังสือหรือใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่แสดงว่าเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

และอีกประเภทคือ แบบแจ้งรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่รวบรวมเพื่อการค้า โดยเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่รวบรวมเพื่อจำหน่าย ต้องแสดงแหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ (สถานที่ปลูก) ความเป็นเจ้าของพันธุ์ (เจ้าของสายพันธุ์พ่อ-แม่) ลักษณะพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมแสดงเอกสารประกอบ เช่น กรณีเมล็ดพันธุ์นำเข้าให้อ้างเลขที่แบบแจ้งฯ นำเข้า กรณีไม่ได้เป็นเจ้าของพันธุ์ให้แสดงหนังสือยินยอมให้ใช้พันธุ์ หนังสือหรือใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการหรือที่กรมวิชาการเกษตรให้การยอมรับโดยผลวิเคราะห์ต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การแจ้งรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ควบคุมดังกล่าวสามารถยื่นคำขอผ่านระบบออนไลน์โดยแบบแจ้งฯ จะสิ้นอายุ 5 ปีหลังจากวันที่รับแจ้ง แบบแจ้งดังกล่าวไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและต้องต่ออายุก่อนแบบแจ้งสิ้นอายุล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน

สำหรับการจัดทำภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุม เมื่อได้รับอนุญาตให้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าแล้ว ผู้รวบรวมจะต้องจัดให้มีฉลากภาษาไทยกำกับไว้บนภาชนะบรรจุ โดยจะต้องแสดงข้อความ ได้แก่ ข้อความบังคับ “เมล็ดพันธุ์ควบคุม” และ คำเตือน “เก็บไว้ในที่แห้ง เย็น และมีอากาศถ่ายเท” ข้อความอื่นๆ คือ ชนิดพืชและชื่อพันธุ์ ชื่อผู้รวบรวม สถานที่รวบรวม และเครื่องหมายการค้า เลขที่ แบบแจ้งรายละเอียดเมล็ดพันธุ์ที่รวบรวม lot no. อัตราความงอก อัตราความบริสุทธิ์ อัตราส่วนของวัตถุอื่นที่ผสมหรือเจือปน และวันที่ทดสอบ วันที่รวบรวม วันที่สิ้นอายุทำพันธุ์

 

เมล็ดพันธุ์ Cannabis กับการนำเข้า

จากมาตรฐานคุณภาพเมล็ดพันธุ์ กัญชา กัญชง กำหนดอัตราความงอก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และอัตราเมล็ดบริสุทธิ์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99 ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการห้ามรวบรวม ขาย นำเข้า และส่งออก เมล็ดพันธุ์ควบคุมที่คุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดไว้ หากฝ่าฝืน มีโทษ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ผู้ประสงค์จะนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ต้องแจ้งรายการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมในแต่ละคราวโดยผู้นำเข้าควรเตรียมความพร้อมก่อนการนำเข้า โดยต้องได้รับอนุญาตประกอบกิจการจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน และสามารถยื่นคำขอทางระบบออนไลน์ของกรมวิชการเกษตรล่วงหน้าได้ แต่เจ้าหน้าที่จะพิจารณาอนุมัติก็ต่อเมื่อเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้องแล้วเท่านั้น ซึ่งการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ผู้นำเข้าจะต้องแสดงวัตถุประสงค์ของการนำเข้าให้ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากเอกสารที่ออกจากบริษัทต้นทางเป็นหลัก เช่น ใบกำกับสินค้า หนังสือรับรองอื่นๆ การแจ้งรายการนำเข้าสามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ ได้ 2 กรณี คือ

กรณีนำเข้ามิใช่เพื่อการค้า เช่น งานวิจัย การทดลอง ฯลฯ ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งขั้นตอนการวิจัยและสถานที่ที่นำเมล็ดพันธุ์ไปใช้ (สามารถแจ้งทางระบบออนไลน์ เลือกเมนู แบบแจ้งสถานที่นำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุม) เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะไม่สุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ชุดนั้นๆ ไปตรวจสอบความงอกและความบริสุทธิ์

และกรณีนำเข้าเพื่อการค้าในขั้นตอนการแจ้งรายการนำเข้าทางระบบออนไลน์ ผู้นำเข้าต้องระบุเลขที่ใบอนุญาตนำเข้า และระบุเลขที่แบบแจ้งรายละเอียดเมล็ดพันธุ์นำเข้า ทุกรายการสินค้า เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ ส่งไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์นานาชาติ (International Seed testing Association ; ISTA) โดยอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากพบเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ ผู้นำเข้าสามารถส่งกลับประเทศต้นทางหรือส่งให้กรมวิชาการเกษตรทำลาย แต่ทั้งนี้ต้องชำระค่าปรับตามเงื่อนไขของกรมศุลกากรด้วย

การนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง จากต่างประเทศ นอกจากผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งตามกฎหมายฉบับดังกล่าวพืชในสกุล Cannabis จัดเป็นสิ่งไม่ต้องห้าม สามารถนำเข้ามาได้ โดยต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ซึ่งออกให้โดย National Plant Protection Organization ของประเทศผู้ส่งออก และแจ้งนำเข้า ณ ด่านตรวจพืช แต่เนื่องจากการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ถือว่าเป็นส่วนขยายพันธุ์ จะต้องมีหนังสือรับรองว่าเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าไม่ได้เป็นพืชที่ตัดแต่งสารพันธุกรรมเพิ่มเติมด้วย

 

จากข้อมูลของใบแจ้งการนำเข้า ณ ด่านตรวจพืช พบว่า มีการแจ้งนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชในสกุล cannabis ตั้งแต่ปี 2562 โดยในปี 2562 ปริมาณนำเข้ารวม 237.50 กิโลกรัม เป็นการนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ 37.50 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2.53 แสนบาท และสเปน จำนวน 200 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 0.12 แสนบาท ปี 2563 ปริมาณนำเข้ารวม 91.35 กิโลกรัม โดยนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ 75.23 กิโลกรัม มูลค่าราว 5.88 แสนบาท สเปน 0.03 กิโลกรัม มูลค่าราว 0.03 แสนบาท และสหรัฐอเมริกา 16 กิโลกรัม มูลค่าราว 0.08 แสนบาท และออสเตรีย 0.010 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 0.06 แสนบาท สำหรับปี 2564 ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 มีปริมาณการนำเข้ารวม 0.78 กิโลกรัม เป็นการนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ 0.50 กิโลกรัม มูลค่ารวม 2.45 แสนบาท และสหรัฐอเมริกา 0.28 กิโลกรัม มูลค่าราว 2.30 แสนบาท

 

 

ขั้นตอนการนำเข้า

เมล็ดพันธุ์กัญชงเพื่อการเพาะปลูก

  1. ยื่นคำขอรับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 เฉพาะกัญชง ที่ อย. พร้อมเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุในแบบคำขอ (แบบกัญชง 3) และแจ้งรายละเอียดของแผนการนำเข้า การจำหน่าย และการใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ (แบบข้อมูลนำเข้ากัญชง)

เมื่อรับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษใน ประเภท 5 เฉพาะกัญชงแล้วจึงจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้

  1. ยื่นคำขอรับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งกัญชง ในแต่ละครั้ง (แบบ NAR.5 HEMP) ที่ อย. พร้อมด้วยเอกสารประกอบการพิจารณา ดังนี้

– สำเนาใบคำสั่งซื้อ (Purchase Order) จากผู้รับอนุญาตปลูกกัญชง

– สำเนาใบอนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชงของผู้ที่แจ้งความประสงค์จะซื้อเมล็ดพันธุ์นำเข้า หรือรายงานการประชุมของคณะกรรมการจังหวัดเกี่ยวกับการอนุญาตปลูกกัญชงของผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์

– สำเนาใบรับรองผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้า

เมื่อได้รับใบอนุญาตนำเข้าซึ่งกัญชงในแต่ละครั้งแล้วจึงสามารถดำเนินการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงได้

  1. ดำเนินการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง นำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ณ ด่านตรวจพืช ผู้รับอนุญาตหรือผู้รับมอบอำนาจ แจ้งการนำเข้าพร้อมแสดงเอกสารประกอบ ได้แก่ ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งกัญชงในแต่ละครั้ง ใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบรับรองไม่เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม และเอกสารการนำเข้า

เมื่อผ่านการตรวจเอกสารประกอบ และสินค้า (เมล็ดกัญชง) แล้วจึงจะอนุญาตให้นำออกจากด่าน

ท่านผู้อ่านท่านใด หากประสงค์จะขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการกับกัญชา กัญชง ในฐานะเมล็ดพันธุ์ควบคุม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร โทร. 02-579-3635 ในวันและเวลาราชการ

ขอบคุณ : กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช กลุ่มวิชาการ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร/ข้อมูล