ไก่ไข่อารมณ์ดี เกษตรอินทรีย์สร้างรายได้เสริม

บ้านเขาไม้แก้ว จากการที่สมาชิกในครอบครัวบริโภคไข่ไก่เป็นประจำและได้คำนึงถึงความปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะจึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีของ คุณจิตติมา อุนันตา อยู่บ้านเลขที่ 21/1 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของอำเภอสิเกาและเป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่ายด้านเกษตรผสมผสาน โดยมีพื้นที่บริเวณที่ทำการเกษตรทั้งหมด 2 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกปาล์ม    1 ไร่ 2 งาน ส่วนพื้นที่อีก 1 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย บ่อเลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว ไม้ยืนต้น เลี้ยงไก่และเลี้ยงกบ

คุณจิตติมา อุนันตา เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี

คุณจิตติมา เล่าถึงวิธีการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีว่า เริ่มต้นสั่งซื้อไก่มา 10 ตัว จากร้านค้าใกล้บ้าน สาเหตุที่ซื้อจำนวนน้อยเพราะต้องการเลี่ยงความเสี่ยงจากการเกิดโรค อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่เน้นอาหารเม็ดและมีอาหารจำพวกหยวกกล้วยเศษวัสดุและเศษผัก ที่นำมาสับผสมกับรำ จากนั้นนำไปคลุกกับอาหารเม็ดและเติมเกลือเล็กน้อย เมื่อหมักทิ้งไว้ครบ 7 วันนำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ EM (Effective Microorganisms) ที่ผลิตเองเติมไปผสมแล้วหมักต่อไปอีก 7 วัน จึงนำไปให้ไก่กินได้ ซึ่งคุณจิตติมาได้รับความรู้ในเรื่องการทำอาหารไก่ด้วยตนเองจากการอบรมและได้นำมาลองปฏิบัติจริง ปรากฏว่าสามารถทำเองได้ ขั้นตอนไม่ซับซ้อนและลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี นอกจากอาหารเหล่านี้แล้วยังมีแหนแดงที่นำมาให้ไก่กินสัปดาห์ละ      2 ครั้งด้วย

ไก่ไข่อารมณ์ดี เลี้ยงแบบปล่อยลาน

ตาราง แสดงสูตรอาหารต่อไก่ 30 ตัว

ส่วนผสม ปริมาณ (กก.)     ต้นทุนต่อ กก.
หยวกกล้วย 9
รำข้าว 3 9
ปลายข้าว 0.6 11
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.6 10

หมายเหตุ : เพิ่มแหนแดงในปริมาณเล็กน้อย

เนื่องจากไข่ไก่อารมณ์ดีของคุณจิตติมาเป็นที่ถูกใจของกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ หากเป็นลูกค้าที่ซื้อครั้งแรกจะขาย 30 ฟอง ราคา 100 บาท แต่ถ้าเป็นลูกค้าประจำหรือซื้อครั้งที่ 2 จะเพิ่มให้อีก 2 ฟองในราคาเท่าเดิม กำไรเมื่อหักต้นทุนทุกอย่างแล้วคิดเป็นเดือนละประมาณ 800-1,000 บาท และถ้าหากในอนาคตมีการเลี้ยงเพิ่มขึ้นโดยการจัดการดูแลและใช้สูตรอาหารแบบนี้จะสามารถเพิ่มรายได้ต่อเดือนดังแสดงในแผนภูมิ

ไข่ไก่ใบโต

แผนภูมิแสดงแนวโน้มเปรียบเทียบระหว่างจำนวนไก่และรายได้

ในช่วงเช้าของทุกวัน คุณจิตติมาจะเปิดเพลงในเล้าไก่เพื่อให้ไก่ฟัง โดยจะเข้าไปล้างทำความสะอาดเล้า จานอาหาร และรางน้ำ รวมถึงเติมอาหารเอาไว้ พอถึงช่วงเวลาบ่าย 3 โมง จะปล่อยให้ไก่ออกจากเล้าโดยจะกั้นตาข่ายเฉพาะบริเวณที่อยู่อาศัยและปล่อยให้ไก่เข้าไปในสวนปาล์มอย่างอิสระ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ไก่มีสุขภาพดี ลดความเครียด ส่งผลต่อการออกไข่และคุณภาพของไข่ไก่โดยตรง ส่วนการดูแลเล้าไก่นั้นจะใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ EM ใส่บัวรดน้ำราดอาทิตย์ละครั้ง จะช่วยลดกลิ่นเหม็นได้

ไข่ไก่อารมณ์ดีมีจุดเด่นที่แตกต่างจากไข่ไก่ที่จำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปคือ ไข่ไก่มีขนาดใหญ่และปลอดภัยปราศจากยาปฏิชีวนะ เพราะว่าคุณจิตติมาจะคอยสังเกตไก่ทุกวัน หากมีไก่ที่พบอาการป่วยซึมก็จะแยกไว้อีกเล้าหนึ่ง บริเวณใกล้เล้าไก่ได้ปลูกฟ้าทะลายโจรไว้เพื่อให้ไก่ได้จิกกินในขณะที่ปล่อยไก่ออกจากเล้าในช่วงบ่าย ซึ่งด้วยสรรพคุณทางสมุนไพรของฟ้าทะลายโจรสามารถลดความเสี่ยงและโอกาสที่ไก่จะป่วยได้เป็นอย่างดี สำหรับไก่ที่มีอาการป่วยเป็นหวัดและถูกแยกเล้านั้น คุณจิตติมาจะให้กินฟ้าทะลายโจรแคปซูล 1 เม็ด ในช่วงเช้า เที่ยง และเย็น ซึ่งโดยปกติแล้วไก่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 วัน และถ้าหากเป็นช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงจะนำฟ้าทะลายโจรไปละลายน้ำให้ไก่กินเพื่อลดโอกาสเป็นหวัดเช่นกัน

คุณวินัย วรรธนะนาถ เกษตรอำเภอสิเกา และ คุณรติยา ก้องก่ำ เกษตรตำบล ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน

คุณจิตตติมา ยังแนะนำอีกว่า ในการเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีนั้นให้ยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชการที่ 9 เน้นให้เราได้กินก่อนเป็นอันดับแรก ยกตัวอย่างเหมือนช่วงนี้ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่ต้องดิ้นรนออกไปข้างนอกเพราะที่บ้านเรามีปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อ มีไข่ไก่อารมณ์ดี มีผักที่เราสามารถกินได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอสิเกา โทร. 075- 291-124