เล่าเรื่องเมืองเกษตรอินทรีย์-บ้านสวาสดิ์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงยิ่ง ขอเป็นกำลังใจให้ท่านที่ประสบอุทกภัยในหลายๆ พื้นที่จนถึงขณะนี้นะครับ บางส่วนน้ำก็เริ่มลดจนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว บางส่วนก็ยังอยู่กับน้ำต่อไปอีก กรุงเทพฯ และปริมณฑลในพื้นที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เรียกว่าน้ำได้เกลี่ยไปหาผู้คนอย่างเท่าเทียม ไม่แยกว่าเป็นคนเมืองหรือชนบท เป็นอีกโจทย์ใหญ่ให้ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป แต่ตอนนี้ ลมหนาววอยๆ เริ่มพัดมาให้ได้ชื่นใจกันบ้างแล้ว บ่งบอกถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวของพี่น้องชาวไร่ชาวนา

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ผลจันทร์ ประธานกลุ่ม

พูดถึงเกษตรกรแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องได้ทราบข่าวคราวอยู่เสมอ นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว เรื่องราคาผลผลิตก็ส่งผลกระทบไปถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนนั้นผลไม้หลายอย่างราคาตกต่ำ มาถึงตอนนี้ข้าวเปลือกที่บางคนบอกว่าราคาถูกกว่าอาหารสุนัข ซึ่งก็เถียงไม่ออกเช่นกัน เพราะผมเองก็ซื้อทั้งข้าวและอาหารสุนัขเช่นกัน คำถามที่เราต้องหาคำตอบคือ “จะทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรได้กินอิ่ม นอนอุ่น ลืมตาอ้าปากได้บ้าง”

แรกก่อตั้ง 14 กุมภาพันธ์ 2562

ผมได้เจอและพูดคุยกับ (อดีต) ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ผลจันทร์ ประธานกลุ่มศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ หนุ่มใหญ่ผู้ได้ริเริ่มรวบรวมคนและก่อตั้งศูนย์ขึ้นมาตามแนวคิดที่ศรัทธาตามศาสตร์พระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยรวบรวมคนที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกันในหมู่บ้านสวาสดิ์ ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร รวมถึงพี่น้องกัลยาณมิตรหลายกลุ่มอาชีพที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มาร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างสังคมที่พึ่งพาตนเอง พึ่งพาอาศัยกันบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง

สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง

“เราขับเคลื่อนงานตามศาสตร์พระราชา โดยอ้างอิงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้โดยการพัฒนาคนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์”

“หมายถึงใช้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาใช่ไหมครับ”

“ใช่ครับ และรวมถึงการมีจิตอนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสม”

สภาพในปัจจุบัน เดือนตุลาคม 2564

การดำเนินงานของศูนย์เป็นกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยอาศัยแนวคิดการพัฒนาแหล่งน้ำ การทำกสิกรรมแบบไร้สารเคมี (กสิกรรมธรรมชาติ) โดยรับแนวคิดมาจาก อาจารย์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) รวมถึง อาจารย์อำนาจ ยอดหมายกลาง ผู้อำนวยการโครงการกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังน้ำเขียว) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดยโสธร ที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรแบบอินทรีย์ ในสโลแกนที่ว่า ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน

มีน้ำไว้ทำนาและใช้ในแปลง

การพัฒนาด้านการเกษตรของศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นสำคัญ มีการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำผิวดิน (ธนาคารน้ำ) และมีการขุดเจาะเพื่อสูบน้ำใต้ดินมาเติมเต็มบ่อธนาคารน้ำ เพื่อให้ได้มีน้ำไว้ใช้ได้ทั้งปีในพื้นที่กว่า 40 ไร่ ซึ่งพลังงานที่จะนำมาใช้ในครั้งนี้ก็คือโซลาร์เซลล์นั่นเอง

กล้าผักที่เตรียมลงแปลง

อย่างไรก็ตาม ในการเริ่มดำเนินงานด้านกสิกรรมธรรมชาติในระยะแรกก็ประสบปัญหาเรื่องความรู้ด้านการเกษตรแบบธรรมชาติ จึงได้เชิญชวน นายพรชัย บุญเรือง อดีตนักศึกษาจากโครงการกสิกรรมไร้สารพิษ วังน้ำเขียว ซึ่งเรียนจบมาจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาช่วยเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของศูนย์เกษตรแห่งนี้ จนสามารถผลิตพืชผักแบบธรรมชาติให้คนทั้งจังหวัดยโสธรได้รู้จัก ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์

ผลผลิตไร้สารพิษ

การทำเกษตรของศูนย์แห่งนี้ค่อนข้างหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรท่านอื่นๆ ที่สนใจผ่านฐานการเรียนรู้ ตั้งแต่ผลิตพืช สัตว์ กระทั่งการแปรรูปต่างๆ ยกตัวอย่างกิจกรรมทางด้านพืช เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ การปลูกผักไร้สารพิษ การปลูกพืชผสมผสาน การเพาะเห็ด การผลิตปุ๋ยชีวภาพ การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี การเพาะเลี้ยงแหนแดง กิจกรรมปลูกพืชหลังนา ได้แก่ ถั่วลิสงและงาดำ กิจกรรมด้านการประมง เช่น การเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงปลาดุกอุย กิจกรรมด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโคเนื้อ ในส่วนของการแปรรูปก็มีหลากหลาย เช่น การทำน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ การทำน้ำพริก การทำงาบด งาคั่ว การสีข้าวเพื่อจำหน่าย รวมถึงผักอบต่างๆ

ผักสดๆ กรอบๆ

“โห! ทำแบบวิสาหกิจชุมชนเลยนะครับ”

“เราได้จดทะเบียนชุมชนเรียบร้อยครับในชื่อ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เลิงนกทายั่งยืนตามศาสตร์พระราชา โดยได้รับการสนับสนุนจาก ท่านประสิทธิ์ สิงห์ชา ที่เป็นเกษตรอำเภอเลิงนกทาครับ”

“ทำเยอะๆ ตลาดมีรองรับไหมครับ”2

“ถือว่าเราโชคดีครับ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกิจกรรมและสนับสนุนครับ”

คันนาทองคำ ปลูกพืชผักผสมผสาน

สำนักงานเกษตรอำเภอเลิงนกทา ได้เข้ามาสนับสนุนในการใช้พื้นที่ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ เป็นสถานที่อบรมเกษตรกร
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร เข้ามาจัดงานคลินิกเกษตรและงานถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร

น้องๆ มาฝึกงานปลูกผักอินทรีย์

สำนักงานประมงจังหวัดยโสธร สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ

สถานีพัฒนาที่ดินยโสธร สนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการปรับปรุงบำรุงดินสำหรับเกษตรกร

เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัว มาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตร

เด็กๆ มาเข้าค่ายเยาวชน

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยโสธร สนับสนุนด้านการจำหน่ายสินค้าเกษตร

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการผลผลิต การแปรรูป ช่องทางการจำหน่าย

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยโสธร ร่วมยกระดับสินค้าเกษตรของศูนย์ขึ้นสู่มาตรฐานอาหารและยา (อย.)

ปลูกเอง เกี่ยวเอง สีเอง ขายเอง

นอกจากนี้ ยังมีครูพานักเรียนนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบค่ายเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของภาคเอกชนก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ฮีโนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการผลิตรถไถ และ บริษัท segum จำกัด สนับสนุนเครื่องบินโดรนมาใช้เพื่อการเกษตร

เครือข่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกษตรอินทรีย์

ผมเองได้เจอตัวและพูดคุยกับ (อดีต) ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ในงานที่ศูนย์มติชนอคาเดมี ได้เห็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของศูนย์แล้ว ไม่อยากเชื่อเลยว่าในช่วงเวลา 2 ปีเศษๆ (ก่อตั้งศูนย์เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562) จะเดินหน้ามาได้ถึงขั้นนี้ โดยเฉพาะสินค้าแปรรูปต่างๆ และเซอร์ไพรส์กว่านั้น ในภาคพืชนั้น ยังมีการเพาะเนื้อเยื่อเพื่อผลิตต้นกล้าจำหน่ายอีกด้วย

ออกบู๊ธที่มติชนอคาเดมี

 

วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2564