ที่มา | ภูมิปัญญาไทย |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นภาคใต้รู้จักพืชกระท่อมมานานกว่า 100 ปี ใช้เป็นยารักษาโรค เป็นของขบเคี้ยวระหว่างเพื่อนฝูง และเป็นของกินเพื่อต้อนรับแขกที่มาเยือน ไม่ต่างจากกินหมากพลูของชาวภาคกลาง การเคี้ยวใบกระท่อมอยู่ในวิถีชีวิตชาวปักษ์ใต้เช่นเดียวกับ “การดื่มกาแฟของคนเมือง” ก่อนการไปทำงานในแต่ละวัน เพราะเชื่อว่า การเคี้ยวใบกระท่อม จะช่วยให้ทำงานได้ยาวนานขึ้น
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์กระท่อมในฐานะพืชสมุนไพร พบว่า ความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ได้ถ่ายทอดสู่ลูกหลานรุ่นต่อรุ่นในการใช้ใบกระท่อมรักษาโรค ได้แก่อาการไอเรื้อรัง ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย ปวดท้อง แผลอักเสบ แก้ไข้ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมะเร็ง ฯลฯ อาจใช้ ใบกระท่อมเป็นยาหลักหรือยารอง ในการบรรเทาอาการท้องร่วง หรือบางตำรับ อาจผสมกับเครื่องยาที่มีรสฝาด และเครื่องยาลดอาการท้องอืดเช่นเดียวกัน
ภูมิปัญญาการใช้พืชกระท่อมในการรักษามีมานานมากแล้วและค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา ตายไปพร้อมกับหมอพื้นบ้าน แม้ว่ากระท่อมได้รับการบรรจุเป็นยาในตำราแพทย์แผนไทย แต่การนำมาใช้ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย
แต่อีกนัยหนึ่ง การใช้พืชกระท่อมตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน ขึ้นกับความเชื่อ วัฒนธรรม ของคนพื้นถิ่นผนวกเข้าไปด้วยกัน ดังนั้นรูปแบบการใช้พืชกระท่อมในแต่ละตำรับก็จะแตกต่างกัน ทั้งที่มีข้อมูลพิสูจน์ได้ หรือยังต้องหาหลักฐานมาสนับสนุนกันต่อไป
ปัจจุบันภาคเอกชนจำนวนมากสนใจนำพืชกระท่อมเป็นทางเลือกของยารักษาโรค ในแง่การรักษาคุณภาพวัตถุดิบของสมุนไพรที่จะนำมาผลิตเป็นยา จำเป็นต้องดำเนินการการเพาะปลูกตามหลักมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี (GAP: Good Agricultural Practice)
ศึกษาคุณภาพดินคุณภาพของสารเร่งการเจริญเติบโต ระยะเวลาของการเก็บผลผลิต อายุของใบ ขั้นตอนการเก็บรักษาวัตถุดิบ กระบวนการสกัดที่ได้มาตรฐาน นับเป็นข้อมูลสำคัญของการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อสามารถนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค ภายใต้มาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP: Good Manufacturing Practice) ในลำดับต่อไป







………………………..
แหล่งที่มา ข้อมูลและภาพข่าวจาก ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา (ปี 2563) สนับสนุนโดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)