ชาวนาแห่ปลูกกล้วยแทนนาปรัง ซัพพลายล้นทุบราคาฮวบ ลูกละ 80 สตางค์

ห้องบ่มกล้วย

เกษตรกรทั่วประเทศแห่ปลูกกล้วยหอมทอง-น้ำว้า แทนทำนาปรัง ส่งผลปริมาณล้นตลาด ทำราคาตกจากเครือละ 180-200 บาท เหลือ 130-150 บาท คาดสารทจีน-ตรุษจีน ราคากระเตื้องขึ้น เกษตรกรปทุมฯ เผย หน่อกล้วยได้รับความนิยมสูง ภาคอีสาน-ภาคใต้-สปป.ลาว แห่ซื้อหน่อพันธุ์กล้วยหอมของปทุมธานี กว่า 1 แสนหน่อ/วัน

ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปี 2558 แหล่งเพาะปลูกกล้วยหอม 5 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ ปทุมธานี เพชรบุรี ชุมพร หนองคาย และสระบุรี โดยจะเก็บเกี่ยวผลผลิตมากช่วงเดือนเมษายนและธันวาคม ซึ่งตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ โดยมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น กว่า 50%

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ปี 2558 จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง 10,373 ไร่ มีเกษตรกร 688 ครัวเรือน โดยปลูกครอบคลุมทุกอำเภอ ซึ่งปลูกมากที่อำเภอหนองเสือ 9,404 ไร่ รองลงมาเป็นอำเภอธัญบุรี เมือง และคลองหลวง มีผลผลิตทั้งหมด 6.4 หมื่นตัน หรือเฉลี่ย 6,236 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่กล้วยน้ำว้า มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 9,754 ไร่ มีเกษตรกร 1,921 ครัวเรือน โดยปลูกครอบคลุมทุกอำเภอ ปลูกมากที่อำเภอหนองเสือ 6,623 ไร่ รองลงมาเป็นอำเภอสามโคก เมือง และลาดหลุมแก้ว มีผลผลิตรวม 3.3 หมื่นตัน หรือเฉลี่ย 3,444 กิโลกรัม/ไร่

ส่วนจังหวัดเพชรบุรี ปี 2558 มีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทอง 4,266 ไร่ มีผลผลิต 9,741 ตัน โดยปลูกมากที่อำเภอบ้านลาด และแก่งกระจาน ขณะที่กล้วยน้ำว้า มีพื้นที่ปลูก 49,681 ไร่ มีผลผลิต 92,074 ตัน ปลูกมากที่อำเภอบ้านลาด ท่ายาง และแก่งกระจาน

นายชัชวาล ทินประยงค์ ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เจ้าของสวนกล้วยหอมทอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันราคากล้วยหอมทองลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีประชาชนและเกษตรกรแห่ปลูกกล้วยหอมทองจำนวนมากแทบทุกจังหวัด ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด และราคาตก โดยปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีมีการจำหน่ายหน่อกล้วยหอมทองนับ 100,000 หน่อ ต่อวัน ราคาหน่อละ 8 บาท/หน่อ ขนาดประมาณ 20-35 เซนติเมตร ส่วนใหญ่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ต้องการจำนวนมาก รวมถึง สปป.ลาว

ประกอบกับช่วงนี้มีผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคผลไม้ในฤดูกาลมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคากล้วยหอมทองหน้าสวนจำหน่ายอยู่ที่ เครือละ 130 บาท ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 5 หวี/เครือ ราคาลดลงจากปี 2559 ซึ่งราคาหน้าสวนอยู่ที่ 180-200 บาท/เครือ ขณะนี้เกษตรกรต้องปรับตัวด้วยการลดการใช้ปุ๋ย แล้วหันไปใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาแทนปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอก เป็นต้น

ทั้งนี้มองว่าราคากล้วยหอมทองจะตกต่ำยาวไปจนถึงสิ้นปี 2560 และอาจจะกลับมาราคาสูงขึ้นถึง 180-200 บาท/เครือ ในช่วงเทศกาลสารทจีนและตรุษจีน ซึ่งปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่จะเป็นตลาดในประเทศ ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท และบางส่วนส่งให้กับโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม มองว่าหากมีตลาดต่างประเทศเข้ามา ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น น่าจะช่วยให้ราคากล้วยหอมทองสูงขึ้นได้ นอกจากนี้พืชผักชนิดอื่นๆ เช่น ฝรั่ง ราคาก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลง โดยปี 2560 กล้วยน้ำว้า ขนาดเล็ก ราคา 10 บาท/หวี ขนาดกลาง 12 บาท/หวี ใหญ่ 15 บาท/หวี ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10 บาท

ด้าน นายสุริยา ธรรมธารา สมาชิก อบต. บึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เจ้าของสวนและผู้ค้ากล้วยหอมรายใหญ่ในจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ราคากล้วยหอมทองในจังหวัดปทุมธานีลดลงไปมาก เหลือเพียงเครือละ 150 บาท หรือหวีละประมาณ 25 บาท จากปีที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 200 กว่าบาท ซึ่งถือว่าราคาตกลงไปมาก ปัจจัยหนึ่งมาจากเกษตรกรจังหวัดต่างๆ หันมาปลูกกล้วยมากขึ้น บางส่วนเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพด ซึ่งขณะนี้ราคาตกลงเช่นกัน หันมาปลูกกล้วยแทน และอีกปัจจัยมาจากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการลดการทำนาปรัง แล้วให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งเกษตรกรบางส่วนก็เลือกปลูกกล้วย ทำให้มีปริมาณล้นตลาดส่งผลให้ราคาตก ทั้งนี้ คาดว่าราคาน่าจะดีขึ้นในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ไม่เพียงแต่กล้วยหอมทองที่ราคาตกเท่านั้น กล้วยน้ำว้าและพืชชนิดอื่นก็ราคาตกเช่นกัน โดยตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท และแม็คโคร

นายมานะ บุญสร้าง หัวหน้าฝ่ายการตลาด สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด เพชรบุรี เปิดเผยว่า จากราคากล้วยที่พุ่งสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้คนหันมาปลูกกล้วยเป็นจำนวนมาก ทุกสายพันธุ์ อีกทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชอื่นทดแทนการทำนาปรังยิ่งทำให้หันมาปลูกกล้วยกันเกือบทุกพื้นที่ ส่งผลให้เกิดผลผลิตล้นตลาด ราคาตกมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง ปีนี้มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอม ประมาณ 800 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่มากนัก ปัจจุบันมีผลผลิตวันละประมาณ 7 หมื่นลูก โดยเรามีการวางแผนการตลาด หาตลาดให้กับสมาชิก เป็นตลาดส่งแน่นอน แบ่งเป็น 10% ส่งออกประเทศญี่ปุ่น อีก 90% ส่งขายภายในประเทศไปยังโมเดิร์นเทรด ได้แก่ เซเว่น-อีเลฟเว่น, ท็อปส์ มาร์เก็ต, บิ๊กซี, แฟมิลี่มาร์ท และจัสโก้ เป็นต้น

นายมานะ กล่าวอีกว่า โดยปกติสหกรณ์รับซื้อผลผลิตจากสมาชิกตามราคาตลาดขณะนั้น หากกล้วยแพงก็ให้ราคาสูง แต่หากราคาตกก็จะมีการประกันราคาขั้นต่ำอยู่ที่ ลูกละ 1.60 บาท ถือเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป ที่ปัจจุบันตกลูกละ 0.80-1.50 บาท หรือหวีละ 12-21 บาท เท่านั้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมากล้วยหอมราคาดี ลูกละ 3-4 บาท อย่างไรก็ตาม จากราคาที่ตกต่ำลงคาดว่าจะมีผู้ที่ปลูกลดลง คาดว่าอีก 9 เดือน สถานการณ์ราคากล้วยน่าจะกลับเข้าสู่ปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ราคากล้วยหน้าสวนตกลงอย่างมาก ได้ส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับลดลงด้วย โดยกล้วยหอมมีราคาเฉลี่ย หวีละ 80-100 บาท ขณะที่กล้วยน้ำว้าหวีเล็ก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 บาท ส่วนหวีใหญ่ราคาอยู่ที่ 25-30 บาท

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ