เกษตรกรอ่างทอง ปลดหนี้ 10 ล้าน ใน 2 ปี ด้วยเทคโนโลยี เลี้ยงปลาช่อนแบบครบวงจร

กลุ่มสหกรณ์ประมงและการแปรรูปอ่างทอง ตำบลห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีสมาชิกซึ่งเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงปลาช่อนและแปรรูปปลาช่อนจำนวน 50 ราย มีบ่อเลี้ยงปลา 94 บ่อ ผลิตปลาช่อนได้ประมาณ 1,500,000 กิโลกรัมต่อปี สามารถขายปลาได้ในราคา 120-180 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมีค่าเท่ากับ 63 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีกำไรประมาณ 2-3 เท่าของต้นทุนการผลิต 

ปี 2561 มีปลาช่อนราคาถูกจากประเทศกัมพูชาเข้ามาขายในไทย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาประสบปัญหาราคาปลาตกต่ำ จากเดิมที่เคยขายได้หลักร้อย เหลือแค่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาประสบภาวะขาดทุนและมีหนี้สินก้อนโต ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักสิบล้านบาท

ฟาร์มเลี้ยงปลาช่อนในตำบลห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

มทร.สุวรรณภูมิ ร่วมแก้ไขปัญหา                 

คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ภายใต้การนำของ รศ.ดร.เจษฎา อิสเหาะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปรากฏว่า สามารถช่วยให้เกษตรกรผลิตปลาช่อนต่อปีได้มากขึ้นถึง 550,000 กิโลกรัม เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาช่อนอบแห้งปลาช่อนร้าปลอดภัย การพัฒนาฉลาก ตราสินค้า และบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตปลาช่อน พร้อมออกแบบและพัฒนาเครื่องอบปลาช่อนระบบปั๊มความร้อนประหยัดพลังงาน (Heat Pump Dyer) สำหรับชุมชน

เพิ่มออกซิเจนในน้ำให้ปลา โดยใช้เครื่องตีน้ำ และมีผักตบชวา ช่วยให้น้ำใส

ขณะเดียวกัน สามารถยกระดับการผลิตและรักษามาตรฐานการผลิต GAP ได้ 100% อย่างต่อเนื่อง และยกระดับมาตรฐานปรับปรุงสถานที่ผลิตอาหาร มาตรฐาน GMP ที่สำคัญ โครงการนี้สามารถช่วยปลดหนี้ให้กับเกษตรกรได้มากกว่า 10 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี และเกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใหม่ขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.เจริญ วิเศษฟาร์ม บ้านห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

ลูกปลาช่อนที่เลี้ยงในกระชังบ่อดิน แบบระบบปิด

เทคนิคอนุบาลชำลูกปลาช่อน

ในกระชังบ่อดิน ระบบปิด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.เจริญ วิเศษฟาร์ม ได้เรียนรู้เทคนิคการอนุบาลชำลูกปลาช่อนในกระชังบ่อดิน ในระบบปิด โดยนำลูกปลาขนาด 1 นิ้ว (ต้นทุนตัวละ 1 บาท) มาอนุบาลในกระชัง (ที่มีเนื้อกระชังนิ่ม) ประมาณ 2 เดือน สามารถเพิ่มอัตราการรอดตายในระยะเริ่มต้นเพิ่มขึ้น 20% ลดปัญหาปลาดาบ (หัวโต ตัวลีบ แก้มตอบ) ที่ทำให้ถูกพ่อค้ากดราคาจากเดิมเหลือเพียง 2.5% รวมต้นทุนการผลิตตลอดการเลี้ยง 2 บาทต่อตัว

เมื่อเปรียบเทียบกับการอนุบาลชำลูกปลาแบบเดิม (ปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงโดยตรงภายในบ่อดิน) โดยใช้ลูกปลาขนาด 3 นิ้ว ต้นทุนตัวละ 3 บาทแล้ว พบว่า เทคนิคใหม่สามารถลดต้นทุนการผลิตด้านลูกพันธุ์ได้ 33% เหลือแค่ตัวละ 2 บาทเท่านั้น ดังนั้น หากเกษตรกรเคยใช้ลูกปลาในการผลิตปีละ 2,200,000 ตัว เท่ากับวิธีนี้ ช่วยลดต้นทุนค่าลูกพันธุ์ได้ 2,200,000 บาทต่อปี

ปลาช่อนคุณภาพดีที่ตลาดต้องการ

ข้อดีของการเลี้ยงปลาช่อนในกระชังที่แขวนในบ่อดิน สามารถช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานการจ้างเหมาคนจับปลาขายให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งโดยปกติในการเลี้ยงปลาช่อน การจับปลาช่อนขายจะไม่จับขายแบบคว่ำบ่อครั้งเดียวเหมือนกับสัตว์น้ำอื่นๆ นิยมทยอยจับตามความต้องการของพ่อค้าประมาณ 3 ครั้ง โดยครั้งแรก จับปลาไซซ์ปลาเค็ม (4-5 ตัวต่อกิโลกรัม) ครั้งที่ 2 จับปลาไซซ์ปลาย่าง (2-3 ตัวต่อกิโลกรัม) ครั้งที่ 3 จับปลาไซซ์ปลาโบ้ (ขนาดมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อตัว) ซึ่งการจับแต่ละครั้งต้องเสียค่าแรงงานประมาณ 9,000-10,000 บาทต่อครั้ง จับ 3 ครั้งก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 บาท

การเลี้ยงปลาในกระชังสามารถลดต้นทุนการจ้างเหมาคนจับได้ เพราะเกษตรกรสามารถช่วยกันยกกระชังขึ้นจากบ่อได้เอง โดยไม่ลำบาก ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 30,000 บาทต่อบ่อต่อรุ่น เมื่อคิดต่อรุ่นในปีนี้มี 22 บ่อ มีค่าเท่ากับ 660,000 บาทต่อกลุ่มต่อรุ่น

รศ.ดร.เจษฏา อิสเหาะ กับผลงานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาช่อน

เพิ่มออกซิเจนให้ปลา โดยใช้เครื่องตีน้ำ

ในอดีตเกษตรกรส่วนใหญ่เชื่อว่าปลาช่อนเป็นปลาที่อดทน สามารถอยู่ในแหล่งน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำค่อนข้างต่ำได้ดีกว่าปลาชนิดอื่นๆ เพราะปลาช่อนมีอวัยวะช่วยหายใจ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องตีน้ำภายในบ่อเลี้ยงปลา

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.เจริญ วิเศษฟาร์ม หันมาเลี้ยงปลาช่อนในกระชังที่แขวนในบ่อดินที่ติดตั้งเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen; DO) ภายในบ่อแล้ว การใช้เครื่องตีน้ำจะทำให้เกิดกระแสน้ำภายในบ่อ ทำให้ปลาได้ออกกำลังกาย มีกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เนื้อแน่น สามารถลดปริมาณไขมันในตัว คุณภาพเนื้อที่ได้ไม่ต่างจากปลาเขมร ซึ่งปลาเขมรจะเป็นปลาที่เลี้ยงในกระชังแม่น้ำเป็นหลัก

ปลาช่อนแดดเดียว สินค้าขายดีของตำบลห้วยคันแหลน

ซึ่งทางหลักทางวิชาการพบว่า ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) มีผลต่ออัตราการกินอาหารของสัตว์น้ำเป็นอย่างยิ่ง โดยพบว่าเมื่อ DO มีค่าต่ำกว่า 3.0 มิลลิกรัมต่อลิตร จะทำให้ปลาไม่กินอาหารหรือกินอาหารได้ลดลงเพราะระบบการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์

โดยทั่วไป เกษตรกรมักให้อาหารปลาวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า-เย็น เกษตรกรมักให้อาหารปลาช่วงเช้าประมาณ 06.00 น. ก่อนออกไปทำนา ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสมเพราะปลาไม่กินอาหาร แล้วยังส่งผลเสียต่อเกษตรกรมาก เพราะสูญเสียต้นทุนการผลิตโดยเปล่าประโยชน์ และอาหารปลากลายเป็นขยะ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำภายในบ่อ น้ำเกิดสีเขียวเข้มอย่างรวดเร็วเนื่องจากการบลูมของแพลงตอนพืช ทำให้น้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง ให้อาหาร 2 มื้อใน 1 วัน แต่ปลากินอาหารแค่มื้อเดียว ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลา ต้องใช้ระยะเวลาการเลี้ยงยืดยาวกว่าที่ควรจะเป็น

คณะวิจัย มทร.สุวรรณภูมิ ตรวจวัดค่า DO ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ประมาณ 06.00-08.30 น. ค่า DO ที่ตรวจวัดได้มีค่าเป็น 0 และจะมีค่าค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์เริ่มส่องแสง เนื่องจากเริ่มมีการสังเคราะห์แสงของแพลงตอนพืชภายในบ่อ และค่า DO จะเริ่มมีค่ามากกว่า 3.0 มิลลิกรัมต่อลิตร หลังเวลา 08.30 น.ไปแล้ว ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรจึงหันมาเริ่มให้อาหารปลามื้อแรกประมาณ 08.30 น. ของทุกวัน

เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาช่อนประเภทคุกกี้

ใช้แอปพลิเคชั่นให้อาหารปลา

นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังได้ใช้แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ที่ มทร.สุวรรณภูมิ เป็นผู้พัฒนา เพื่อประเมินหาอัตราการให้อาหารที่เหมาะสมต่อวัน ให้เหมาะสมกับขนาดของปลาที่เลี้ยงและจำนวนปลาที่มีอยู่ในบ่อหรือที่มีอยู่ในกระชัง ประเมินปริมาณการให้อาหารต่อวันลง พบว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตค่าอาหารได้ประมาณ 27.41% (โดยปกติต้นทุนในการเลี้ยงปลาช่อน ต้นทุนค่าอาหารจะมีค่าประมาณ 60-80%)

ระบบตรวจสอบย้อนกลับ-โปรแกรมสั่งซื้อออนไลน์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ต้นแบบเลี้ยงปลาในกระชังแขวน

นอกจากเกษตรกรติดตั้งเครื่องตีน้ำภายในบ่อแล้ว ส่วนนอกกระชังภายในบ่อ ยังปล่อยตระกูลปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ลงไปในบ่อ เพื่อให้ปลากินแพลงตอนพืชและเศษสารอาหารต่างๆ สามารถควบคุมแพลงตอนพืชภายในบ่อได้ สีน้ำไม่เขียวเข้ม น้ำไม่เน่าเหม็น และนำผักตบชวามาใส่ในบ่อ โดยกั้นพื้นที่ไว้ตรงตำแหน่งหัวบ่อและท้ายบ่อ ประมาณ 10% ของพื้นที่บ่อทั้งหมด วิธีนี้ช่วยลดปริมาณแอมโมเนียภายในบ่อได้ 40% และผักตบชวายังเป็นอาหารให้กับปลากินพืชที่ปล่อยนอกกระชังได้อีกด้วย

คณะวิจัย มทร.สุวรรณภูมิ ยังแนะนำให้กลุ่มเกษตรกรบำบัดน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาช่อนด้วยเทคนิควิธีการถ่ายน้ำและการตกตะกอน ก่อนระบายสู่ภายนอกที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้ง โดยเกษตรกรวางท่อสูบน้ำ โดยดึงหัวกะโหลกของท่อสูบน้ำให้สูงกว่าพื้นก้นบ่อ โดยเริ่มต้นให้หัวกะโหลกอยู่ต่ำกว่าระดับผิวน้ำ 50 เซนติเมตร แล้วเปิดเครื่องสูบน้ำระบายน้ำทิ้งได้เลย พบว่าน้ำในระดับนี้จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งทุกตัว ไม่ว่าค่า BOD, TN, TP, TAN และค่า TSS เมื่อนำน้ำในระดับดังกล่าวมาทำการตกตะกอน เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง สุดท้ายก็จะเหลือเลนก้นบ่อ สามารถนำไปผสมกับปุ๋ยหมักและปุ๋ยมูลสัตว์ เพื่อปรับมาใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรต่อไป

เทคโนโลยีการจัดการคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาช่อน

แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

เดิมทางกลุ่มเกษตรในชุมชนแห่งนี้มีผลผลิตปลาช่อนต่อปี ประมาณ 1,500,000 กิโลกรัม ขายในรูปปลาสด 99% และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาช่อนแดดเดียว 1% ประมาณ 15,000 กิโลกรัม ในลักษณะแบบตากแดด จากจำนวนผลผลิต 15,000 กิโลกรัม คณะวิจัย มทร.สุวรรณภูมิ แนะนำให้ทางกลุ่มปรับกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาช่อนแดดเดียว โดยใช้เครื่องอบลมร้อนประหยัดพลังงาน และมีบรรจุภัณฑ์ที่ถูกหลักอนามัย และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าเดิม สามารถขายปลาช่อนแดดเดียวได้ราคาประมาณ 200-240 บาทต่อกิโลกรัม เฉลี่ยประมาณ 220 บาทต่อกิโลกรัม

รศ.ดร.เจษฏา กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.เจริญ วิเศษฟาร์ม

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลด้านการเลี้ยงปลาช่อนเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.เจษฎา อิสเหาะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง โทรศัพท์ 089-113-4991 หรือด้านการแปรรูป อาจารย์จันทร์เพ็ญ บุตรใส อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร โทรศัพท์ 085-900-6169 สนใจดูงานหรือสั่งซื้อสินค้า ติดต่อ วิสาหกิจชุมชน จ.เจริญ วิเศษฟาร์ม โทรศัพท์ 094-178-8833