กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ฟาร์มเกษตรกรแก้ไขปัญหาราคาสุกร

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร เพื่อหาแนวทาง “มาตรการเพิ่มกำลังผลิตสุกรขุนเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาสูง ” ในวันพุธที่ 5 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี


นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เมื่อมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผ่อนคลาย ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น หากร่วมกับปัจจัยที่มีปริมาณการเลี้ยงลดลง อีกสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัวจึงทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาดจะส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงซึ่งมั่นใจว่า มาตรการสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคซึ่งจะขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ให้ผลิตลูกหมูให้รายย่อยและรายเล็กไปเลี้ยง ทั้งยังมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพอีกด้วย


นายภวพรรธน์ ปฐมโพธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม (สะพานหิน) กล่าวว่า เป็นฟาร์มขนาดกลาง มีการจัดการฟาร์มที่ดี เป็นระบบปิด มีมาตรการระบบป้องกันทางชีวภาพ มีสุกรประมาณ 2,500 แม่ จำหน่ายสุกรขุน ลูกสุกร มีโรงผสมอาหารเอง มีโรงฆ่าสุกรมาตรฐาน GMP มี Shop ขายเนื้อสุกรเองอีกด้วย