Thailand Rice 2017 ถกอนาคตข้าวไทย “สต๊อกลด ราคาขยับขึ้น”

นับเป็นระยะเวลา 3 ปีมาแล้วที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแบกภาระสต๊อกข้าวสารจากโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ด้วยปริมาณสต๊อกที่สูงถึง 18 ล้านตัน หรือเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการค้าข้าวในตลาดโลกในแต่ละปีที่มีปริมาณอยู่ระหว่าง 40-41 ล้านตัน โดยสต๊อกข้าวไทยดังกล่าวไม่เพียงสร้างภาระงบประมาณในการเก็บรักษาข้าวเดือนละ 1,000 ล้านบาทให้กับรัฐบาล แต่ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดข้าวในโลกมาอย่างต่อเนื่องด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามระบายข้าวในสต๊อกออกมาอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้สามารถระบายข้าวออกไปได้ประมาณ 13 ล้านตัน คงเหลือข้าวในสต๊อกอยู่ระหว่าง 5-6 ล้านตันเท่านั้น ส่งผลให้ทิศทางราคาข้าวในตลาดโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น

สต๊อกข้าวจำนำใกล้หมด

ที่ประชุม“ThailandRice Convention 2017” (TRC 2017) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงอนาคตของข้าวไทยด้วยการให้มองภาพว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ได้มุ่งเน้นการระบายสต๊อกข้าวออกไปได้มากถึง 13 ล้านตัน มูลค่า 100,000 ล้านบาท จากจำนวนสต๊อกโครงการรับจำนำข้าวที่รับมาจากรัฐบาลในอดีตถึง 18 ล้านตัน แม้ว่าการระบายข้าวจะได้เงิน “น้อยกว่า” งบประมาณที่ถูกรัฐบาลชุดที่แล้วใช้ไปในโครงการรับจำนำ แต่ “จำเป็น” ต้องเร่งรัดการระบายข้าวในสต๊อกให้หมดภายในสมัยรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้อุปทานข้าว (Supply ที่กดทับตลาด) จนทำให้กลไกการค้าข้าวปกติถูกบิดเบือนอย่างรุนแรง ได้ “กลับสู่ภาวะปกติ”

ต่อจากนี้ รัฐบาลจะมุ่งเดินหน้า “ยุทธศาสตร์ข้าว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าข้าวไทยตามแนวทาง ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมทั้งสร้างกลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงแผนพัฒนาตลาดร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) ขณะที่ชาวนาก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด“อย่าปลูกแต่พืชที่อยากจะปลูก” แต่ให้ชาวนามองโอกาสจากแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการนาแปลงใหญ่ แต่คืบหน้าช้าทั้งที่กำหนดแนวทางชัดเจน เนื่องจากชาวนาบางส่วนไม่ยอมปรับพฤติกรรมการทำนา

ด้านการส่งออกโดยเฉพาะการเจรจาซื้อ-ขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(Gto G ) กับจีนนั้น “ยังไม่มีความคืบหน้า” ในทางปฏิบัติว่าการจะคบหากับใคร “อย่ามองแต่เป็นผู้รับ แต่ให้มองการทำสัมพันธ์กับคู่ค้าด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวปีนี้ว่า “มีโอกาสทำได้ 10 ล้านตัน” เนื่องจากศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าข้าวไทยกลับมาฟื้นตัว บางตลาดที่เคยหายไปก็กลับมาสนใจซื้อข้าวไทยอีก เช่น อิรัก-อิหร่าน-แอฟริกา-จีน-ฮ่องกง ในจำนวนนี้บางประเทศได้ส่งตัวแทนมาเจรจาเพื่อนำเข้าข้าวและสร้างความร่วมมือกับไทยในงานครั้งนี้ด้วย จึงมองว่าทิศทางราคาข้าวมีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาเป็นผลจิตวิทยาจากรัฐบาลระบายข้าวในสต๊อกเกือบหมดแล้ว

สอดคล้องกับมุมมองของMr.JeremyZwinger ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท The Rice Trader เห็นว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ ทิศทางราคาข้าวจะปรับขึ้นประมาณ 20-30% จากราคาปัจจุบัน โดยราคาข้าวเวียดนามปรับขึ้นมาตันละ 400-410 เหรียญสหรัฐ หรือห่างจากข้าวไทยตันละ 70-80 เหรียญสหรัฐ และแนวโน้มอาจปรับเพิ่มขึ้นอีก “ปริมาณซัพพลายข้าวอยู่ในภาวะตึงตัว เริ่มหาซื้อลำบากมากขึ้น ผลผลิตข้าวในหลายประเทศลดลง ประกอบกับสต๊อกข้าวไทยเริ่มปรับตัวลดลงจึงมีผลทางจิตวิทยาต่อการปรับราคาข้าวในตลาดโลกแต่ตลาดเช่น จีน ฟิลิปปินส์ แอฟริกา มีความต้องการซื้อข้าวมากขึ้น”Mr.Jeremy กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ Demand-Supply ข้าว เช่น ภาวะสิ่งแวดล้อม ทิศทางราคาการผลิตธัญพืชโลก

Supply ข้าวโลกลดลง

ด้าน Mr.Amit Gulrajani Senior Vice President, Rice Division, Olam International Limited, Singapore ให้ความเห็นว่า ตลาดค้าข้าวครึ่งปีหลังของปีนี้ “จะอยู่ในช่วงขาขึ้น” ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ระบุว่า การผลิตข้าวในตลาดโลกปี 2560/2561 มีปริมาณ 481.3 ล้านตัน หรือ“ลดลง” จากปีก่อนที่ผลิตข้าวได้ 481.5 ล้านตัน โดยสหรัฐผลิตลดลง 10% อียิปต์และอินเดียก็ปรับลดผลผลิตลง ประกอบกับสต๊อกข้าวโลกกำลังเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากไทยไม่มีสต๊อกข้าวคงเหลืออีกแล้ว

ส่วนปริมาณการบริโภคข้าวในตลาดโลกปี2561จะเพิ่มขึ้นเป็น 42.2 ล้านตันจากปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 41.3 ล้านตัน โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า ศรีลังกาได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทำให้เริ่มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น 5-6 เท่า จากข้าวที่บริโภคภายในประเทศ

“ในช่วงที่เหลือของปีนี้คงต้องติดตามทิศทางปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งอาจจะมีผลต่อกำลังซื้อและราคาข้าวการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว นโยบายพึ่งตนเองลดการนำเข้า ปัจจัยจากปัญหาสิ่งแวดล้อม อัตราแลกเปลี่ยน การขนส่งก็จะมีผลด้วยเช่นกัน” Mr.Amit กล่าว

Mr.Kenneth Chan Kin Nin, Chairman, The Rice Merchants” Association of Hong Kong กล่าวว่า ตลาดข้าวไทยในฮ่องกง “เริ่มปรับตัวดีขึ้น” โดยขณะนี้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70% และมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 100% ในอนาคตด้วยความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ไทยควรมุ่งเน้นขยายตลาดข้าวหอมมะลิเกรดพรีเมี่ยม ออกไปยังมณฑลหรือเมืองรอง ๆ ในจีนให้มากขึ้น เนื่องจากประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น และการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ประกอบกับการใช้นโยบายลดการพยุงราคา จึงทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ประมาณ 4.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของตลาดโลก

ผลผลิตข้าวไทยต่ำสุด

ส่วน นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แม้ไทยจะรักษาการส่งออกข้าวปีละ 10 ล้านตันได้ แต่ “จำเป็น” ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวให้ได้มากขึ้น จากเดิมไทยดำเนินการผลิตรูปแบบเดิมทั้งขบวนการและห่วงโซ่การผลิต ทำให้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยไทยได้ 2.8 ตัน/เฮกตาร์ หรือ “ต่ำกว่า” มาตรฐานโลกเฉลี่ย 4.2 ตัน/เฮกตาร์ เทียบกับประเทศอื่นโดยเฉพาะเวียดนาม ได้ผลผลิต 5.3 ตัน/เฮกตาร์, จีน 6.5 ตัน/เฮกตาร์, อียิปต์ 9.4 ตัน/เฮกตาร์, อินเดีย 3.3 ตัน/เฮกตาร์ และปากีสถาน 3.5 ตัน/เฮกตาร์

ดังนั้น ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม และบริหารจัดการการเพาะปลูกข้าว รวมถึงการผลักดันนโยบายนาแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์