‘ก่อสร้าง-อสังหาฯ’ ใต้ยังไม่ฟื้น ฉุดลงทุนเอกชนโดยรวมหดตัว แม้รายได้ภาคเกษตรเพิ่มกว่า 30%

แบงก์ชาติเปิดตัวเลขภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนเมษายนพบขยายตัวดี เหตุราคาผลผลิตภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน ดันรายได้เกษตรกรเพิ่มกว่า 30% แต่การก่อสร้างและอสังหาฯ ยังแผ่ว ฉุดการลงทุนเอกชนโดยรวมหดตัว 0.6%

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนเมษายน 2560 ขยายตัวดี จากผลผลิตเกษตที่เพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อเดือนก่อน ทั้งยางและปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.4% จากราคายางและกุ้ง ซึ่งจากผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว 30.8% รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว 7.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากนักท่องเที่ยวรัสเซีย จีน และยุโรป ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.5% โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการซื้อสินค้ากึ่งคงทนเพื่อทดแทนที่ชำรุดเสียหายจากอุทกภัยในช่วงต้นปี

นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนเดือนนี้ยังหดตัว 0.6% แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว 2.2% สะท้อนจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงตามการลงทุนภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก รวมทั้งยอดเงินให้สินเชื่อแก่โครงการอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสแรกมีมูลค่า 2.17 หมื่นล้านบาท หดตัว 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อนที่อยู่ที่ 2.64 หมื่นล้านบาท และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัว 1.3% มูลค่าอยู่ที่ 2.20 หมื่นล้านบาท

นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับมูลค่าส่งออกขยายตัวดีถึง 48.8% จากด้านราคาเป็นสำคัญ แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 0.9% ตามการหดตัวในการผลิตยางพาราแปรรูป เนื่องจากการชะลอซื้อจากตลาดหลัก โดยเฉพาะจีนที่ได้เร่งซื้อไปก่อนหน้าแล้ว ขณะที่การผลิตอาหารทะเลกระป๋องลดลงต่อเนื่องตามคำสั่งซื้อจากตะวันออกกลางที่ลดลง เนื่องจากปัญหาการชำระเงิน อย่างไรก็ดี การผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวจากการผลิตกุ้งเป็นสำคัญ แม้ว่าผลผลิตกุ้งจะลดลง แต่ผู้ประกอบการบางรายก็ผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐลดลง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.98% จากเดือนก่อน 1.11% ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง ยกเว้นภาคโรงแรมและการค้าซึ่งยังมีการจ้างงานมากขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน