มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เยือนถิ่น มทร.ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม เรียนรู้การจัดการเกษตรสมัยใหม่ PTT RUTS Smart Farming

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)     ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ขนอม นำโดย อาจารย์ทวีศักดิ์ ศรีภูงา ผู้อำนวยการ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร อาจารย์ ร่วมกับ โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณจิรายุ จันทองแก้ว (Area Manager) ทีม PTT Smart Farming ต้อนรับคณะศึกษาดูงาน จาก หลักสูตรวิชาเกษตรและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ดร. จันทิรา วงศ์เณร, ดร. อรรถกร พรมวี, ดร. ธเนศ คอมเพ็ชร และนักศึกษา ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ PTT RUTS Smart Farming ซึ่งจัดตั้งอยู่ภายใน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับการศึกษาดูงานในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมแมสตลอดเวลาขณะลงพื้นที่ แบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ระบบ Onsite และ ระบบ Online รวมทั้งหมด 40 คน เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและการจัดการดูแลระบบการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ รวมทั้งการบริหารจัดการในส่วนของการตลาด การขยายกลุ่มเป้าหมาย ไปยังผู้ประกอบการได้ในทุกกลุ่ม เช่น พ่อค้า แม่ค้าในพื้นที่ ห้างร้านในพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้และเรียนรู้ภายในสาขาวิชา

 

ด้าน อาจารย์ทวีศักดิ์ ศรีภูงา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ กล่าวว่า เป้าหมายของความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ PTT RUTS Smart Farming โดย 4 ภาคีเครือข่ายหลัก คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), มทร.ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม, เกษตรอำเภอขนอม และเทศบาลตำบลท้องเนียน นั้น เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนและผู้สนใจ ได้มีพื้นที่ทำกิน สร้างงาน สร้างรายได้ ในการเข้าร่วมกิจกรรมทำเกษตรสมัยใหม่ ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย มุ่งหวังในการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน เพื่อสามารถนำไปสร้างอาชีพของตัวเองที่มั่นคงและยั่งยืน เพื่อร่วมกันพัฒนาการเกษตรให้เป็นเกษตรกรรมสมัยใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการแบบระบบ IoT เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงาน โดยส่งเสริมการทำงานในรูปแบบการสร้างภาคีเครือข่าย ให้เป็นพลังร่วมที่มีความเข้มแข็งในการช่วยเหลือดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และมุ่งหวังให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ และแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพร อันจะเกิดประโยชน์ในทางการแพทย์ ต่อชุมชนและประชาชน

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ถือเป็นความช่วยเหลือ และพัฒนาชุมชนโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทางกฎหมายต่อไป