บ่อน้ำบาดาลชุมชน มก. บทพิสูจน์ความยั่งยืนจากสภาวะแล้ง 2558-2559

วิกฤตการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วง ปี 2558-2559 จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อน มีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแพร่หลายและหนักเป็นประวัติการณ์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา น้ำบาดาลจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งของชุมชนที่ขาดแคลนน้ำใช้ในครัวเรือนอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี การดำเนินการภายใต้โครงการเกษตรศาสตร์ช่วยภัยแล้งที่ผ่านมา ประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ใน 4 อำเภอ (หนองปรือ เลาขวัญ ห้วยกระเจา และบ่อพลอย) ของจังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี จนช่วยลดสภาวะวิกฤตภัยแล้งให้กับชุมชน มากกว่า 30 แห่ง และยังได้ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ของวัดอีกหลายแห่ง เช่น วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) จังหวัดสระบุรี หรือวัดธรรมยาน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

ส่วนสำคัญของการดำเนินโครงการคือ ค่าใช้จ่ายในการเจาะมาจากหลายส่วน เช่น งบประมาณของ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเอง สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และผู้ใจดีช่วยบริจาค เช่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก., กลุ่มนักศึกษา ปศส. 10 สถาบันพระปกเกล้า, รศ.ดร.ธงไชย โรหิตะดิษฐ ศรีนพคุณ และ รศ.ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ, กลุ่มศิษย์เก่า วทอ. 19 มก. และ IDYLLIC Concept Resort (เกาะหลีเป๊ะ) เป็นต้น

บ่อน้ำบาดาลชุมชน มก. ส่วนใหญ่จะตั้งบริเวณพื้นที่หาน้ำยากมีศักยภาพของน้ำใต้ดินต่ำอยู่แล้ว พบว่ายังได้น้ำใช้จากบ่อบาดาลจากโครงการให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงแล้ง 2 ปีที่ผ่านมา จากเหตุผล 2 ความยั่งยืน คือ

ยั่งยืน 1 หาระบบชั้นน้ำใต้ดินอย่างละเอียด ทำให้เข้าใจในการเลือกตำแหน่งเจาะที่มีศักยภาพน้ำมากที่สุด ด้วยการประยุกต์เทคนิคการสำรวจประสิทธิภาพสูงในการหาแหล่งน้ำใต้ดิน มก. ได้พัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิค วิธีการเฉพาะ ใช้เครื่องมืออ่านค่าอัตโนมัติหลายขั้ว (60 ขั้วไฟฟ้า หรือมากกว่า) แล้วทำการวัดค่าแบบ 2 มิติ ระยะห่างขั้วไฟฟ้า 10 เมตร ออกแบบระบบขั้วไฟฟ้าแบบชลัมเบอร์เจร์ ศึกษาชั้นน้ำได้ลึกกว่า 100 เมตร ตามแนวเส้นสำรวจ ยาว 600 เมตร (หรือมากกว่า ในการตั้งอ่านค่า 1 ครั้ง) จึงประหยัดเวลาในการสำรวจ เมื่อทำการประมวลผล ทั้งแบบเชิง 2 มิติ ได้เป็นภาพแบบภาคตัดขวาง แสดงผลโดยรวมของพื้นที่ และแบบเชิง 1 มิติ เสมือนการวัดค่าแบบหยั่งลึก (เป็นการสำรวจที่ใช้โดยทั่วไปในประเทศไทย) ทุกๆ ระยะห่าง 10 เมตร

การวิเคราะห์ผลที่ให้ความต่อเนื่องและละเอียด ทำให้ประสิทธิภาพของการแปลความหมายข้อมูลที่จะวิเคราะห์ชั้นน้ำทั้งในรอยแตกของหินแข็งและชั้นน้ำในหินร่วนได้ผลสัมฤทธิ์สูง เช่น การวิเคราะห์ชั้นน้ำจากค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า ประมาณ 30-50 โอห์มเมตร แยกจากชั้นหินที่มีค่าสูง มากกว่า 100 โอห์มเมตร ส่วนบางบริเวณที่เป็นชั้นหินผุ หรือมีชั้นดินเหนียวแทรกที่ไม่ให้น้ำมีค่าต่ำ น้อยกว่า 10 โอห์มเมตร ผลการเจาะหาน้ำจึงประสบผลสำเร็จทุกพื้นที่ ได้น้ำดิบใช้ในปริมาณที่เพียงพอกับการใช้เป็นประปาหมู่บ้านและสามารถได้ใช้ตลอดช่วงแล้งที่ผ่านมา (และน่าจะยังได้น้ำใช้อีกนาน)

ยั่งยืน 2 เป็นความร่วมมือของชุมชนเองในการบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาล เช่น การกำหนดเวลาในการสูบน้ำต้องสัมพันธ์กับศักยภาพของน้ำใต้ดินหรือปริมาณน้ำที่ได้จากแต่ละบ่อ การตรวจคุณภาพของน้ำรวมทั้งมีการแนะนำการใช้น้ำให้เหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อสุขภาพของคนในชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนทุกขั้นตอนเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นผู้บริหารจัดการการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ เช่น ควรติดตั้งมิเตอร์เก็บค่าใช้น้ำของชุมชน (ไม่ควรเป็นการใช้น้ำฟรี) เพื่อเป็นค่าการจัดการโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ การออกช่วยเหลือชุมชนแก้ปัญหาภัยแล้งของ มก. ยังมีการนำนิสิตออกฝึกปฏิบัติจริงในสนาม สามารถหาแหล่งน้ำใต้ดินได้อย่างมืออาชีพ จากทั้งการฝึกใช้เครื่องมือชั้นสูงรุ่นใหม่และการประมวลผลข้อมูลด้วยโปรแกรมที่ทันสมัย เป็นการช่วยให้นิสิตนำความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนการสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานช่วยเหลือสังคมของเยาวชนอีกทางหนึ่ง ตามกิจกรรมลงพื้นที่บริเวณตำบลช่องสาริกา จังหวัดลพบุรี เป็นกิจกรรมช่วยภัยแล้ง ปี 2560 โดยมีสำนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร เป็นผู้ประสานงาน ค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะ ได้รับการสนับสนุนจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มก.

มากกว่า 30 บ่อน้ำบาดาลชุมชน จากโครงการเกษตรศาสตร์ช่วยภัยแล้ง ในช่วง 2558-2559 ได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ในเชิงประจักษ์ เป็นผลจากการประยุกต์งานวิจัยของ มก. ทำให้สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ขาดแคลนน้ำใช้อย่างแสนสาหัสในช่วงวิกฤตการณ์แล้งให้มีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง และเน้นความเป็นเจ้าของเพื่อรักษาสภาพบ่อน้ำบาดาลให้ใช้งานได้ยาวนาน

จึงขอเชิญชวนเจ้าของกิจการและผู้ใจดี ร่วมสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งช่วยเหลือชุมชนในท้องถิ่นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยภัยแล้งสู่ชุมชน นอกจากเป็นน้ำที่ใช้ในครัวเรือน ยังได้แหล่งน้ำใต้ดินช่วยส่งเสริมให้มีอาชีพหลังเก็บเกี่ยวเพิ่มรายได้ของชุมชน เช่น ปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง เป็นต้น โดยการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ปี 2560 หรือในปีต่อๆ ไปมากกว่า 30 บ่อน้ำบาดาลชุมชน จากโครงการเกษตรศาสตร์ช่วยภัยแล้ง ในช่วง 2558-2559 ได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ในเชิงประจักษ์ เป็นผลจากการประยุกต์งานวิจัยของ มก. ทำให้สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ขาดแคลนน้ำใช้อย่างแสนสาหัสในช่วงวิกฤตการณ์แล้งให้มีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง และเน้นความเป็นเจ้าของเพื่อรักษาสภาพบ่อน้ำบาดาลให้ใช้งานได้ยาวนาน