เผยแพร่ |
---|
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกมีแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับระบบโลจิสติกส์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีสถานีขนส่งสินค้าที่ดำเนินการอยู่แล้วเพียง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการขนส่งเข้ามาเช่าใช้เต็มพื้นที่ แต่ยังไม่มีการพัฒนา สถานีขนส่งสินค้าในภูมิภาค
กรมการขนส่งทางบกจึงได้เสนอโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคให้ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558 – 2565 ประกอบด้วย สถานีขนส่งสินค้าในเมืองชายแดน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา และนราธิวาส และเมืองหลักอีก 8 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, พิษณุโลก, นครสวรรค์, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง
โดยในปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกอยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการจ้างศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโครงการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการหาแนวทางในการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคที่มีความเหมาะสมมากที่สุด
จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนผู้ประกอบการขนส่งสินค้า สถาบันการเงิน และผู้สนใจ เข้าร่วมสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) โครงการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการร่วมลงทุนในโครงการสถานีขนส่งสินค้าของภาคเอกชน ในวันที่ 9 มิถุนายน 2560