ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ การผลิตต้นกล้วยไม้เพื่อติดต้นไม้ใหญ่ตามบ้านและจัดสวน (ตอนที่ 5) ประสบการณ์การติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ในสนามกอล์ฟ ของสวนหยวนหนานออร์คิด

เป็นที่น่ายินดีและขอบคุณที่หลังจากบทความชุดนี้ตอนแรกได้รับการตีพิมพ์ ผู้เขียนได้รับการประสานงานมาจาก คุณวีระเดช บุญยืนเวทวัฒน์ หรือที่ในวงการกล้วยไม้รู้จักกันในนาม คุณฮั้ว แห่ง Yuannan Orchids อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ผู้ที่อยู่ในวงการกล้วยไม้มาร่วม 40 กว่าปี

คุณวีระเดชเห็นด้วยกับการประชาสัมพันธ์และขยายความรู้ในเรื่องธุรกิจการผลิตต้นกล้วยไม้เพื่อติดต้นไม้ใหญ่ตามบ้านและจัดสวน อีกทั้งได้ให้ข้อมูลเสริมเพิ่มเติมในเรื่องการเตรียมต้นกล้วยไม้ในแง่การให้ความสำคัญกับการให้ปุ๋ยที่สร้างความแกร่งของเซลล์ใบกล้วยไม้ให้ทนแดดดีขึ้น และได้แชร์ประสบการณ์ที่ช่วงหนึ่งของชีวิตเมื่อ 20 กว่าปีก่อนได้ไปรับจ้างหรือรับงานการติดกล้วยไม้ในสนามกอล์ฟ พร้อมทั้งการให้คำปรึกษาและแนะนำการดูแลรักษาแก่พนักงานของสนามกอล์ฟเพื่อการดูแลรักษาให้ต้นกล้วยไม้มีการเจริญเติบโตต่อไปนานๆ ผู้เขียนจะขอถ่ายทอดข้อมูลที่คุณวีระเดชส่งมาให้ผมทาง messenger ตรงๆ ก่อน เพื่อไม่ให้ข้อมูลตกหล่นหนึ่ง และเป็นการให้เกียรติคุณวีระเดชที่เต็มใจเปิดเผยเป็นข้อมูลสาธารณะ

เอื้องสามปอยดง ไม้ไทยพันธุ์แท้ หอมมากกลิ่นเลม่อน กอนี้เคยขึ้นเกาะอยู่กับต้นหมากเขียว แต่ต้นหมากเขียวตายไปหลายปีแล้วจนต้นผุหายไปแล้ว แต่กอกล้วยไม้นี้ก็ยังกองสุมอยู่กลางแดดวางคร่อมอยู่บนตอผุๆ ที่เหลือ ใบสวยอวบ รากเดินดี เพราะถูกรดน้ำทุกวันที่ไม่มีฝน ให้ปุ๋ยตามโปรแกรมทุกสัปดาห์

คุณวีระเดช เปิดมาอย่างนี้ครับ

“สวัสดีครับอาจารย์ ผมมีแนวคิดในเรื่อง การใช้ปุ๋ยช่วยต้นกล้วยไม้ให้พร้อมที่จะออกแดดแทนการเพิ่มแสงและงานนี้ได้ทำการทดลองได้ผลมาแล้วสัก 20 ปีก่อน ผมเปิดโรงงานผสมปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้ในสมัย 45 ปีที่แล้ว ขายให้สวนตัดดอกใหญ่ในสมัยนั้นจึงมีการทดลองปุ๋ยกับกล้วยไม้หลายสูตรพบว่า การให้สูตร 6-20-30 สลับกับ 16-21-27+แมกนีเซียม+แคลเซียมโบรอน เป็นเวลา 1 เดือน ต้นกล้วยไม้ตัดดอกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แข็งแรงมาก ทนต่อแดดได้มากขึ้น ให้ตาดอกเพิ่มขึ้นมากสำหรับไม้ที่สุดลำ ผมโชคดีที่ได้ อาจารย์ ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน เป็นผู้ให้คำแนะทุกขั้นตอน ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาปฐพีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงนั้น”

ผมตอบคุณวีระเดชว่า ประเด็นสำคัญคือแวนด้าที่เลี้ยงใต้ซาแรน เอาไปผูกต้นไม้ถูกแดดกราดใส่ช่วงใกล้เที่ยง-บ่าย ใบช้ำแบบถูกนึ่งหมด แล้วถ้าไม่ตายก็ใบดำหรือเน่าเสีย เพราะฉะนั้น การกราดแดดล่วงหน้าจึงดูจำเป็นสำหรับการเอาไปโดนแดดตรงๆ แบบกะทันหันเลย ส่วนปุ๋ยที่คุณฮั้วทดลองและทำขายก็น่าแนะนำให้เขาใช้กันได้ ถ้าเรื่องสูตรไม่ถือเป็นความลับทางการค้า มีอะไรแนะนำเพิ่มยินดีที่จะนำไปเขียนเผยแพร่ให้นะครับ พวกเรานักกล้วยไม้เก่าก็จะมีประสบการณ์ติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่กันแทบทุกท่าน เพียงแต่ผมไม่มีเวลาไปสัมภาษณ์ จึงเอาจากประสบการณ์ลองผิดลองถูกของตัวเองเป็นหลักไว้ก่อน

เอื้องสามปอยดง ติดรวมกับกล้วยไม้อื่นบนต้นมะพร้าวพันธุ์เบา

คุณวีระเดช ตอบกลับว่า พวกแวนด้าที่สวนก็เลี้ยงแบบใบแข็งสั้นๆ ต้นตั้งตรงพร้อมออกแดด ไม่เหมือนแวนด้าที่เลี้ยงขายต้นเป็นการค้าทั่วๆ ไป ที่ส่วนมากเลี้ยงใบยาวต้นงาม ของที่สวนขนาดใบข่วนแขนบางทีเลือดออกเลยครับ ไว้ช้างที่ผมติดต้นไม้ออกดอกจะถ่ายให้ดู มีทั้งแวนด้า หวาย กุหลาบที่ติดต้นไม้และรั้วหน้าสวนได้แดด 100% ให้ดูครับ ผมเลิกทำปุ๋ยขายมานานแล้วครับ ผมปล่อยเชื่อมากไป บางสวนก็หนี้เสียเก็บเงินไม่ได้ เคยรับงาน คุณสุขุม นวพันธุ์ ติดกล้วยไม้ที่สนามกอล์ฟนวธานี (Navatanee Golf Course) สมัย 25 ปีก่อน คุณสุขุมดีใจมากบอกว่า เป็นคนแรกที่รับงานแล้วทำได้ยั่งยืน กล้วยไม้ออกดอกตลอด เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างประเทศที่มาเล่นในสนาม เราก็สอนเขาหมดทุกอย่างจนเขาดูแลเองได้

คุณวีระเดชได้ส่งภาพต้นกล้วยไม้ที่ติดต้นไม้ใหญ่และรั้วหน้าสวนกล้วยไม้ของท่านที่บางเลนมาให้หลายภาพ ซึ่งได้นำมาตีพิมพ์ประกอบกับบทความตอนนี้ด้วย โปรดสังเกตว่าหลายภาพถ่ายให้เห็นต้นกล้วยไม้โดนแดดตรงๆ คืออยู่กลางแดดเลย ต้องขอบคุณคุณวีระเดชที่เอื้อเฟื้อเป็นวิทยาทานนะครับ

เอื้องสามปอยดง

หลังส่งภาพคุณวีระเดชให้ข้อมูลเพิ่ม

“ปัจจัยสำคัญคือเวลาและฤดูที่จะทำการติดกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่ ที่สำคัญคือการจัดการกับต้นกล้วยไม้ที่จะใช้ 3 เดือนก่อนทำการติด เวลาที่ดีที่สุดของปีสำหรับการติดกล้วยไม้คือช่วง 15 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงที่ต้นกล้วยไม้ฟื้นตื่นจากการพักตัวในฤดูหนาว จะมีการเจริญทั้งทางใบและทางรากได้ดีเป็นพิเศษ อีกช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ คือช่วงฝนเริ่มจากเดือนกรกฎาคมไปจนถึงตุลาคมก่อนเข้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่แดดไม่รุนแรงมาก ส่วนช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคมไม่ควรทำเพราะแดดแรงมาก กล้วยไม้ที่นำมาติดต้นไม้ใหญ่จะโทรมและปรับตัวอยู่รอดยาก”

ส่วนที่กล่าวว่า “ที่สำคัญคือการจัดการกับต้นกล้วยไม้ที่จะใช้ติดต้นไม้ 3 เดือนก่อนทำการติด” คุณวีระเดช ขยายความว่า ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 10-20-30, 16-21-27 และ 6-20-30 สลับกันสัปดาห์ละครั้ง ฉีดพ่นกล้วยไม้ที่จะนำไปใช้ติดเป็นเวลา 3 เดือนก่อน ในช่วงนี้แนะนำให้ใช้อาหารเสริม เช่น แคลเซียมโบรอน แมกนีเซียมไนเตรตและไคโตซานผสมไปกับปุ๋ยด้วย อัตราปุ๋ยที่ใช้คือ 75-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนอาหารเสริมก็ใช้ตามฉลากคำแนะนำที่ขวด หลังติดต้นไม้แล้วก็ต้องให้ปุ๋ยที่ตัวหน้าต่ำ เช่น 10-20-30, 16-21-27 หรือ 12-27-27 และควรผสมอาหารเสริมดังกล่าวข้างต้นจะช่วยความแข็งแรงของต้นและใบจะสู้แดดได้สบาย

ลูกผสมไม้หอม 5 สายเลือด ประกอบด้วย ((เขาแกะxกุหลาบอินทจักร์)xสามปอยแดง)x( สามปอยชมพูxสามปอยอินเดีย) กลิ่นหอมมาก กลีบดอกเป็นมัน เกาะอยู่บนต้นคิงส์ปาล์ม

เพื่อขยายความเรื่องปุ๋ยด้วย ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะไม่คุ้นชินกับเรื่องสูตรปุ๋ย ปกติปุ๋ยที่ใช้กับกล้วยไม้จะเป็นปุ๋ยเคมีที่ละลายน้ำได้ โดยระบุชนิดของธาตุอาหารหลักหรือแม่ปุ๋ย 3 ตัวเรียงตามลำดับ โดยระบุแต่ตัวเลข ธาตุอาหาร 3 ตัว คือ ไนโตรเจน (N)/ฟอสฟอรัส (P)/โพแทสเซียม (K) โดยจะระบุปริมาณสัดส่วน 3 ตัวเลขของ N, P และ K ตามลำดับ เช่น 10-20-30 สูตรอย่างนี้ผมเรียกให้เข้าใจง่ายว่าสูตรไต่บันไดดารา คือตัวหน้าต่ำ กลางสูงขึ้น และตัวหลังสูงขึ้นอีก เราจะพบว่าทั่วๆ ไปเขามักจะแนะนำปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 20-20-20 หรือบางสูตร ตัวหน้าต่ำ ตัวกลางสูง และตัวท้ายลดลง เช่น 15-26-20 เพื่อกระตุ้นการออกดอก ด้วย P สูงกระตุ้นการออกดอก ส่วน N เสริมสร้างโปรตีน เพื่อการเจริญเติบโต และ K เสริมสร้างความแข็งและแกร่งให้เซลล์

การใช้ปุ๋ยตัวท้ายสูงเช่นแบบไต่บันไดดารา จะทำให้ทรงต้นกระชับ ใบสั้นลงดูป้อมๆ หนาๆ ใบไม่อวบน้ำแบบใช้ตัวหน้าหรือ N สูง หรือแม้สูตรเสมอ เรื่องปุ๋ยกล้วยไม้จะได้นำมากล่าวอีกครั้งในรายละเอียดเมื่อถึงตอนเกี่ยวกับการดูแลรักษากล้วยไม้หลังการติดบนต้นไม้ใหญ่แล้ว ซึ่งเป็นดั่งที่คุณวีระเดชกล่าว นั่นคือ เมื่อติดกล้วยไม้ไปแล้ว การดูแลรักษาให้เขาอยู่รอด เจริญเติบโตออกดอกให้ชื่นชมต่อๆ ไปเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ

คุณวีระเดช Yuannan Orchids

 สรุป

ข้อเสนอเรื่องปุ๋ยสูตรไต่บันไดตามที่คุณวีระเดชแนะนำ ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นประโยชน์มากด้วยที่สวนของผู้เขียนก็ใช้ปุ๋ยในระบบคล้ายๆ กันนี้ด้วยตามอย่างการใช้ปุ๋ยของสวน AS Orchids ของ คุณอดิศักดิ์ ห้องศิลป์ พบว่าใบแข็งและสั้นขึ้น แต่ที่เขียนแนะนำเรื่องการกราดแดดกล้วยไม้ให้ค่อยๆ รับแดดที่แรงขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งให้เขาปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มแดดแบบสร้างความเคยชินใหม่ ก็ยังน่าจะสำคัญและต้องการ ถ้าระบบธุรกิจการติดกล้วยไม้บนต้นไม้เชิงปรับภูมิทัศน์นี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา ด้วยจุดสำคัญแรกที่จะสร้างปัญหาคือ เมื่อติดกล้วยไม้เสร็จแล้ว มุมแสงมุมแดดที่กราดใส่กล้วยไม้ จะมีความเข้มที่จะแผดเผาให้ใบกล้วยไม้ช้ำเน่าได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ผู้รับจ้างคุมไม่ได้ เช่น ฤดูที่ต้องติดกล้วยไม้ ทรงพุ่มและเปอร์เซ็นต์แสงที่ลอดผ่านต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นๆ แนวทางเดินของตะวันที่อ้อมไปทางทิศใต้มากขึ้นทุกวันในหน้าหนาวที่ทำให้จุดที่แสงกราดใส่ใต้พุ่มหรือต้นไม้ใหญ่เปลี่ยนไปในสองสามสัปดาห์ที่ทำงานอยู่ นั่นคืออาจเกิดความเสียหายจากต้นที่ใบช้ำเน่าเพราะแดด ที่ทำให้มีปัญหาของการเซ็นรับงานได้ และในช่วงเวลาต่อๆ มาเมื่อรับจ๊อบการดูแลรักษา ตะวันที่เดินอ้อมทางใต้เปลี่ยนแนวไปมา บางจุดโดนแดดกราดตอนกลางวันจัดๆ ก็จะเสียหาย เกิดปัญหาที่ผู้รับงานเหมือนกับจะต้องรับผิดชอบมากๆ ดูวุ่นวายอยู่

การติดกล้วยไม้ตามต้นไม้ใหญ่ถ้าไม่เคยทำอย่างจริงจังและติดตามดูความสำเร็จ อีกทั้งถ้าไม่มีระบบการให้ปุ๋ยเป็นประจำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ไม่มีฝน ก็มักจะหลงผิดว่า งานติดกล้วยไม้นี้จิ๊บๆ บทความตอนหน้าจะเอาตัวอย่างงานการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ที่สำเร็จดีและไม่ประสบความสำเร็จมาศึกษากัน และวิเคราะห์ดูว่าเหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จและที่ไม่สำเร็จคืออะไร เพื่อให้งานนี้ในอนาคตเป็นงานแบบมืออาชีพมากขึ้นครับ สวัสดี