ไทยโคโครุกสินค้านวัตกรรม มะพร้าวอัดแก๊ส”สปาร์กลิ่ง”

“ไทยโคโค” ลอนช์โปรดักต์สปาร์กลิ่งมะพร้าว BLANC COCO-แป้งมะพร้าวอบกรอบ COCO Rice ชูนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม หวังดันยอดขายปี”60 โต 20% สวนทางปัจจัยเสี่ยงวัตถุดิบมะพร้าวแพง-ขาดตลาด
นางสาวชัญญา ธนศักดิภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด (มหาชน) (THAICOCO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มจากมะพร้าวมีการขยายตัวต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ขยายตัวกว่า 10% และในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 20% จากกระแสความนิยมสินค้าเพื่อสุขภาพที่ในตลาดส่งออกหลัก ทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มมากขึ้น หลังจากมีงานวิจัยระบุว่า ไขมันจากมะพร้าวไม่ใช่ไขมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยิ่งส่งผลทำให้ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์กะทิ โคโคนัทมิลค์
ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายทั้งปีจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% จากผลดีของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้มีการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้นำมาเปิดแสดงในงาน ThaiFEX 2017 คือ น้ำมะพร้าวสปาร์กลิ่ง “BLANC COCO” ทั้งแบบที่เป็นน้ำมะพร้าวธรรมชาติอัดแก๊ส (Natural) และแบบอัดแก๊สผสมแอลกอฮอล์ 5% ซึ่งบริษัทวางแผนส่งออก 100% โดยจำหน่ายในราคาขวดละ 70 บาท และสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากแป้งมะพร้าวอบกรอบ “COCO Rice” ภายในซองบรรจุมีซอสดิป 3 รสชาติ ได้แก่ รสซอสมะเขือเทศ รสซอสพริกศรีราชา และรสซอสพริกหยวก สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทส่งออกเกิน 90% ไปยังตลาด 60-70 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดหลักเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น
“จุดเริ่มต้นของไอเดียในการพัฒนาสปาร์กลิ่งจากพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในกลุ่มสหภาพยุโรปจะนิยมเครื่องดื่มสปาร์กลิ่งอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าช่วยย่อยไม่ให้ท้องอืด ซึ่งเค้าทานมานานมาก ใส่เฟเวอร์ลงไป แต่เรามีน้ำมะพร้าวของไทยรสชาติดีอยู่แล้ว แต่ทดลองอัดแก๊สลงไป ใส่นวัตกรรมเข้าไป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะพร้าว เราให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา มีทีมที่ทำวิจัยและพัฒนา เราตั้งเป้าอยู่แล้วว่าปีหนึ่ง ๆ ต้องพัฒนาสินค้าใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายจะขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังมองว่าอัตราผลกำไรปีนี้จะไม่เพิ่มมากเท่าที่ควร เนื่องจากตลาดกลุ่มนี้มีการแข่งขันสูง บริษัทเน้นทำตลาดส่งออกเป็นหลักจึงต้องเผชิญกับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก และค่อนข้างจะผันผวนสูง ทำให้แข่งขันได้ยาก เพราะค่าเงินบาทแข็งกว่าคู่แข่งทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับ 35.00-35.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปริมาณวัตถุดิบมะพร้าวในประเทศไทยมีไม่เพียงพอ และมีการปรับราคาขึ้นไปสูง เช่น มะพร้าวน้ำหอม ลูกละ 20 บาท จึงต้องปรับแผนการผลิต โดยการนำเข้าวัตถุดิบมะพร้าวสำหรับทำแกงจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นมะพร้าวลูกจากอินโดนีเซียเป็นตลาดหลัก ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้า 0% ตามกรอบอาเซียน
“ด้วยจุดเด่นของไทยโคโค คือ บริษัทให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ และออกผลิตภัณฑ์ใหม่สม่ำเสมอ ไม่ได้ขายเฉพาะมะพร้าวแต่มีการใส่นวัตกรรมลงไปทำให้ได้ทั้งกลุ่มลูกค้าเก่า และลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย เหมือนว่าขยายตัวฐานลูกค้าเดิมให้มีไอเทมโปรดักต์ใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะความต้องการในตลาดมี และเราพยายามเปิดจุดกระจายสินค้า (Distributor) ของเราเอง ในประเทศมาเลเซีย จีน และอังกฤษ ส่งออกโดยใช้แบรนด์ของเรา “Thai Coco” และยังมีรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับลูกค้าที่มีแบรนด์ด้วย”
บริษัทมีแผนขยายตลาดในประเทศ โดยขายช่องทางห้างค้าปลีกเครือเดอะมอลล์ เช่น พารากอน เอ็มโพเรียมก่อน มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยม กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในไทย