อุตฯทูน่าจี้รัฐแก้บาทแข็ง ผนึก”อาหารแช่เยือกแข็ง”ต้านIUU

สมาคมอุตฯทูน่าไทยคาดส่งออกปี”60 โต 5% มูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท ชี้กังวลค่าเงินเเข็งรัฐควรรักษาเสถียรภาพหวั่นกระทบส่งออกครึ่งหลัง อยากให้อยู่ในระดับ 35 บาท/เหรียญ พร้อมแสดงจุดยืนต้านไอยูยู-ค้ามนุษย์

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าและอาหารทะเลไทยว่า ภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมทูน่าปีนี้ยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว 5% โดยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท ปัจจัยบวกมาจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวบวกกับดีมานด์ที่ไม่มากนักแต่ผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดใหม่ที่ไม่ใช่ตลาดยุโรปเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทเเข็งในขณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารเนื่องจากค่าเงินบาทเป็นตัวแปรสำคัญหากรัฐบาลไม่รักษาเสถียรภาพอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมภาคเกษตร เนื่องจากอุตสาหกรรมประมงมีมูลค่าสูงมาก อย่างไรก็ดีสมาคมยังคงวางเป้าส่งออกปีนี้เพิ่ม 5% ซึ่งภาพรวม 4 เดือนแรกในปีนี้ดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 2-3%

“อุตสาหกรรมทูน่าไทยเป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคสูงและต่อเนื่อง จึงขอฝากรัฐดูแลค่าเงินบาท ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของอาหารและภาคเกษตร เงินบาทแข็งในรอบ 2 เดือน ยอมรับว่ากระทบออร์เดอร์บ้าง อยากให้อยู่ในระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จึงจะเหมาะสม ภาคเอกชนจำเป็นต้องเตือนรัฐเพราะไม่อย่างนั้นจะยิ่งแย่ ค่าเงิน

อย่าเเข็งเกินไปกว่านี้ หากไม่ดูตรงนี้ก็จะกระทบวงกว้างโดยเฉพาะภาคเกษตรและประมงที่มีมูลค่าสูง แม้ตอนนี้ยังมีไม่ได้รับผลกระทบมาก เป้ายังคงเดิม แต่ต้องดูสถานการณ์ครึ่งปีหลัง”

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยมีสมาชิกผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า จำนวน 25 บริษัท ครอบคลุมการส่งออกของไทยมากกว่า 90% ได้ร่วมกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย แสดงจุดยืนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และปัญหาการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) โดยสมาชิกของ 2 สมาคม มีความรับผิดชอบปฏิบัติตามหลักสากล และกฎหมายไทย ทางด้านการประมงและผลิตสินค้าอย่างยั่งยืน ปราศจากการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ เพื่อประสิทธิภาพในธุรกิจการส่งออกทูน่าและอาหารแช่เยือกแข็งรวมกันกว่าปีละ 1.8 แสนล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าการทบทวนใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) ยังตอบไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลมาถูกทางทั้งการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งภาคเอกชนเองไม่มีข้อขัดข้อง แต่อยากเรียกร้องให้จีน และประเทศส่งออกประมงลดการจับปลาด้วยเช่นกัน ขณะที่ไทยเองได้เข้าสนับสนุนการจัดการประมงระหว่างภูมิภาค (RFMOs) และ Indian Ocean Tuna Commission หรือ IOTC ในการแก้ไขไอยูยูมาโดยตลอด จึงเห็นว่าการมีส่วนร่วมซึ่งกันเเละกันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและรักษาทรัพยากรได้ดีอีกด้วย ทั้งนี้ ในอนาคตตนจะผลักดันอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้านให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 12,000-15,000/เดือน เพราะหากเทียบกับประมงพื้นบ้านต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา รายได้อยู่ที่ 40,000/เดือน ซึ่งจะเป็นการยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมกับยึดหลักการรักษาทรัพยากรของประเทศ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์