สาวพิจิตรเจอพิษโควิด ชีวิตพลิก เปลี่ยนนาข้าวเป็นนาบอน สร้างรายได้เฉียดล้าน

สาววัย 32 ปี อยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เปลี่ยนนาข้าว มาเป็นแปลงนาบอน หนึ่งเดียวในประเทศไทย กลายเป็นความสำเร็จ ชีวิตเปลี่ยน

คุณสุจิตรา เขียวหอม จบด้านนิติศาสตร์ แต่ไม่ได้ทำงานด้านกฎหมาย ชีวิตหักเหไปทำงานกับคุณพ่อที่จังหวัดภูเก็ต งานก็ไม่ราบรื่นก็ออกมาขายลูกชิ้นทอดสักพักใหญ่ พอเกิดโรคโควิด-19 ระบาด การค้าขายก็แย่ลง นักท่องเที่ยวหดหาย ทำให้รายได้ก็หดหายตามไปด้วย จึงกลับบ้านเกิดที่จังหวัดพิจิตร ด้วยใจรักต้นไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วชีวิตที่พลิกผันเพราะความมุ่งมั่นของเธอ ตอนแรกก็คิดอย่างเดียวว่าใจรักต้นไม้และต้องการมองหาอาชีพนี้ จึงเก็บไม้ทั่วไปภายในบ้านของตนเอง ที่ขึ้นตามธรรมชาติไปขาย เช่น บอนเขียว ที่มีทรงต้นสวย แต่ก็ยังขายได้ดี

คุณสุจิตรา เขียวหอม กับนาบอนที่เธอสร้างสรรค์

พลิกชีวิต เปลี่ยนนาข้าวเป็นนาบอน

ในเมื่อราคาข้าวตกต่ำสุดๆ แล้ว แถมยังเจอพิษโควิด ทำให้เธอตกงาน ประกอบเล็งเห็นว่า กระแสไม้ด่างกำลังนิยม บอนกระดาดกำลังมาแรง ก็ลงทุนไปซื้อไม้ด่างมาต่อยอด ขายดีจนไม่พอขาย จึงคิดที่จะเริ่มเพาะพันธุ์เอง ตัดสินใจแบ่งเอาที่นาบางส่วนของคุณพ่อที่มีกว่า 10 ไร่ มาแบ่งแปลงเพาะเป็นนาบอน ที่เพาะทั้งตระกูลบอนด่าง และบอนดำ หรืออะโลคาเซีย และโคโลคาเซีย เพราะบอนบางตัวชอบแดดและชอบน้ำ สามารถปลูกบนดินก็ได้ในน้ำก็ได้ เห็นว่าขยายพันธุ์ง่ายและสีสวยสะดุดตา เช่น บอนดำ แบล็คเมจิก ความดำเขาสวยสะดุดตา ก็ทำไว้ในที่นาที่แบ่งบางส่วนปลูก ปรากฏว่าในช่วงที่บอนกำลังโต อยู่ในช่วงตลาดกำลังมาแรงพอดี ก็ทำให้มีคนมาสั่งซื้อมากมายทำให้ยิ่งมีกำลังใจที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

เธอจึงเปลี่ยนที่นาข้าวมาเป็นนาบอน กลับสร้างรายได้เฉียดล้านต่อเดือน ที่นาถ้าเปรียบเทียบกับปลูกข้าวมาปลูกบอนรายได้ต่างกันลิบลับ

ปัจจุบันมีแม่พันธุ์บอนกระดาดด่างกว่า 50 ต้น บอนโคโลคาเซีย อีกกว่า 10 สายพันธุ์ เธอจึงต้องทำเรือนเพาะชำมุงด้วยซาแรน จากจุดเริ่มต้นที่ค่อยเป็นค่อยไป จนถือว่าประสบความสำเร็จขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นไปอีก แบ่งบางส่วนมาทำแม่พันธุ์ ที่สวนจะปลูกจำพวกบอนกระดาดด่าง อะโลคาเซีย และบอนจำพวกโคโลคาเซีย และไม้ด่างอีกหลายชนิด

คุณสุจิตรากับต้นแบล็คเมจิกที่สวยงาม ปลูกได้ดีทั้งบนบกและในน้ำ

ทำไมอะโลคาเซียจึงเป็นไม้ใบมาแรง

Advertisement

เชื่อกันว่าอะโลคาเซียหรือบอนกระดาด เป็นไม้ประดับที่แสดงถึงให้ความสงบร่มเย็น เป็นไม้ประดับบารมี ด้วยความด่างเป็นด่างเฉพาะตัว หายาก ความต้องการในตลาดมีสูง จึงทำให้ราคายังอยู่ในระดับบน คือหลักหมื่นถึงหลักล้านได้ แล้วแต่รูปทรงและความด่างของต้นไม้นั้นๆ ด้วยลักษณะของรูปลักษณ์ เป็นไม้มงคลที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ชอบร่มรำไร อากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างส่องถึง ชอบน้ำและความชื้น เหมาะสำหรับจัดสวนภายในบ้าน

บอนกระดาดด่างขาว

ต้องเข้าใจบอนอะโลคาเซีย กับโคโลคาเซีย

Advertisement

โคโลคาเซีย (Colocasia) เป็นบอนอีกหนึ่งประเภท มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Colocasia esculenta (L.) Schott จัดอยู่ในวงศ์ Araceae มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชีย พบได้ทุกภาคในประเทศไทย และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น อาทิ ตูน บอนจีนดำ ออดิบ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะอยู่ตามบริเวณใกล้แหล่งน้ำ มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ จัดอยู่ในวงศ์ อะราซีอี้ (Araceae)

โคโลคาเซียเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปจากพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของเอเชีย จาก วงศ์ อะราซีอี้ (Araceae) โคโลคาเซียปัจจุบันมากกว่า 25 ชนิด (มีประมาณ 15 ชนิดที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน) ที่สามารถปลูกได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงการปลูกในน้ำได้ ปัจจุบันมีแยกประเภทที่เกิดมากมาย โดยคนนิยมเอาไปปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านกันอย่างแพร่หลาย

โคโลคาเซีย แบล็คโครอล

โคโลคาเซีย Colocasia มีหลายชนิดหลายสายพันธุ์ แต่ที่สวนตอนนี้มีจำพวก เช่น โคโลคาเซีย แบล็คคอรัล (colocasia black coral) โคโลคาเซีย แบล็คบิวตี้ (colocasia black beauty) โคโลคาเซีย โมจิโต้ (colocasia mojito) โคโลคาเซีย เลม่อน (colocasia lemon lime gecko) โคโลคาเซีย ไวท์ลาวา (colocasia white lava) โคโลคาเซีย อโลฮ่า (colocasia aloha) โคโลคาเซีย แบล็คเมจิก (colocasia black magic) โคโลคาเซีย เยลโล่สแปลช (colocasia yellow splash)

โคโลคาเซีย ราคาจะมีตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักแสนหลักล้านบาทเลยทีเดียว สำหรับบางชนิดถึงแม้จะมีราคาหลักร้อยแต่ดูแลดี ฟอร์มสวย จากไม้หลักร้อยก็จะเป็นหลักพันและหลายพันบาทได้ บางชนิดราคาสูงเป็นไม้นำเข้า ใบมีลักษณะโดดเด่นสวย เป็นเอกลักษณ์ และในตลาดเมืองไทยยังมีไม่มาก จึงทำให้ราคาสูง ส่วนบางชนิดที่ราคาหลักร้อย ก็มีความสวยไม่แพ้กับต้นที่ราคาแพง แต่เป็นชนิดในตลาดมีมากแล้ว สามารถหาซื้อได้ทั่วไป โคโลคาเซียจะมีกลุ่มคนรักโคโลคาเซียที่นิยมสะสมไม้แต่ละชนิดในกลุ่มนี้ ทำให้มีกลุ่มลูกค้าต้องการสนใจสั่งซื้อไปปลูกไว้ตลอดทั้งปี

การปลูกโคโลคาเซีย เราสามารถปลูกเป็นไม้ประดับและสามารถแบ่งออกจำหน่ายสู่คนรักโคโลคาเซีย นักเก็บสะสมพันธุ์ไม้ด้วยเช่นกัน

ไม้ตระกูลอะโลคาเซีย หรือบอนกระดาด

ไม้ตระกูลอะโลคาเซีย หรือบอนกระดาด อะโลคาเซีย ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alocasia cucullata (Lour.) G. Don. เป็นไม้ใบเขตร้อน ปลูกง่ายโตไว มีใบที่สวยงามคล้ายรูปหัวใจดวงใหญ่ ปัจจุบันมีกว่า 70 สายพันธุ์ ส่วนที่ได้รับความนิยมนำมาปลูกมีราว 40 สายพันธุ์ ความงามของใบอะโลคาเซีย ถูกเคลือบไว้ด้วยสารพิษหรือสารออกซาเลต ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงต้องปลูกให้ห่างไกลจากเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันการกัดหรือกลืนเข้าไป ซึ่งหากกัดหรือกลืนเข้าไปจะเข้าไปจับตัวกับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ปากบวม และหายใจลำบาก เพราะฉะนั้น ควรปลูกให้ห่างจากเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยงไว้เป็นดีที่สุด

นอกจากจะปลูกต้นอะโลคาเซียไว้ประดับบ้าน แถมยังช่วยดูดซับความชื้นได้ดีแล้ว ส่วนต่างๆ ของต้นอะโลคาเซีย ไม่ว่าจะเป็นราก เหง้า ไหล และใบ ต่างก็มีประโยชน์ทางยา สามารถใช้เป็นยาระบาย ช่วยแก้ท้องผูก ห้ามเลือด และขับพยาธิได้อีกด้วย

แต่เนื่องจากต้นอะโลคาเซีย มีลักษณะคล้ายต้นไม้ตระกูลโคโลคาเซีย (Colocasia) เช่น เผือกและบอน อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน ซึ่งมีจุดสังเกตคือ ใบโคโลคาเซียจะมีปลายมน ใบแผ่กว้าง นอกจากนี้ โคโลคาเซียมีแค่หัวใต้ดินแต่ไม่มีลำต้น

(ที่มา https://www.thespruce.com/grow-alocasia-indoors-11902735           https://coastlinesurfsystem.com/111/alocasia-6/)

ราคาของบอนอะโลคาเซียและโคโลคาเซียในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างราคาคร่าวๆ ของอะโลคาเซีย เช่น อะโลคาเซียฟรายเด็คด่าง ราคาต้นใหญ่จะอยู่ที่ 35,000-50,000 บาท โคโลคาเซียไวท์ลาวา ราคาอยู่ที่ 5,000-12,000 บาท หูช้างด่างเหลือง (อะโลคาเซีย เกจิน่า) อาจจะไปถึงหลักแสนได้ไปได้ถึง 5 ใบ ราคา 19,900 บาท เป็นไม้ที่น่าเล่นน่าสะสม อะโลคาเซียโอกินาว่า ซิลเวอร์ด่าง 39,900 บาท โคโลคาเซีย แบล็คโครอล (black coral) สองใบเล็กกระถาง 6 นิ้วราคาอยู่ที่ 1,550 บาท โคโลคาเซีย แบล็คเมจิก (black magic) ราคาหลักร้อยถึงหลักพัน เป็นต้น

การทำนาบอนอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกง่ายดูแลง่ายราคาไม่สูงแต่ยอดสั่งซื้อจำนวนมาก เช่น โคโลคาเซีย เลมอน-ลาม เก๊กโก จะมีใบออกเขียว แต้มด้วยสีเหลืองเลมอนและเขียวมะนาว ราคาอยู่ที่ 450-500 บาท ปลูกในน้ำได้บนบกได้ แบ่งที่นาปลูกเช่นกัน ตอนแรกปลูกเพราะใจรักในความด่างมิ้นท์ แต่กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่มีเงินหลักร้อยแต่ได้บอนด่างไปครองได้

ที่สวนก็จะมีต้นไม้ด่างราคาหลักพันจนถึงหลักแสนและหลายๆ แสน ก็จะมีอะโลคาเซีย เช่น โอกินาว่า ซิลเวอร์ด่าง อะโลคาเซียดำด่าง ที่สวยงาม และโตได้ถึง 2 เมตร ความด่างและเส้นใบนั้นเป็นเสน่ห์ของไม้ตระกูลนี้ และราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ติดลมบนอยู่ ก็มีการแยกปลูกใส่ท่อซีเมนต์และขยายพันธุ์ไว้หลายต้นมาก

ถ้าราคาตกและไม่มีคนนิยม

การที่ทำด้วยใจรักต้นไม้ ถึงแม้จะไม่มีราคา ตนเองก็จะเลี้ยงและดูแลต่อไป เพราะต้นไม้ให้ความสงบ เย็นใจ สุขใจ เหมือนเราดึงเอาธรรมชาติเข้ามาหาเรา ตนเองจะไม่สนใจเรื่องราคา ก็จะเหมือนย้อนกลับไปแต่แรก เพราะเรารักต้นไม้ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ก็ให้อาชีพแก่ตนเอง ทำให้ตนเองมีชีวิตเปลี่ยนจนถึงทุกวันนี้ คำว่าปลูกต้นไม้ขายไม่มีคำว่าสาย เพราะเขาจะมีวิชาให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจที่ต้องการสร้างรายได้

ผู้ที่สนใจบอนกระดาดด่างคิดว่าตลาดยังไปได้อีกไกล สำหรับผู้ที่ต้องการหรือสนใจในธุรกิจนี้พอจะแนะนำคร่าวๆ อันดับแรกต้องรู้เรื่องต้นไม้ด่างหรือบอนกระดาดด่าง และเลือกราคาที่เหมาะกับการลงทุนของแต่ละคน เพราะราคามีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสน แต่ถ้าคุณเลี้ยงเขาให้สวยงาม ลำต้นแข็งแรง ตัดแต่งรูปทรงให้เป็นที่สะดุดตา นั่นแหละค่ะ ราคาก็จะมา อย่างน้อยก็ต้องเป็นกำไรได้ไม่มากก็น้อย ช่องทางขายส่วนใหญ่จะทางออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก การร่วมกลุ่มแลกเปลี่ยนต้นไม้ต่างๆ ออกตามงานขายต้นไม้บ้าง

นอกจากนั้น การแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มเพาะเลี้ยง นอกจากจะทำให้ตลาดไปได้ไกลแล้ว ยังได้กลุ่มเพื่อนที่รักต้นไม้ประดับรวมถึงไม้ด่างด้วย

ประสบการณ์มีไม่มากแต่เป็นคนที่มุ่งมั่นและประกอบกับใจรักและใฝ่รู้ อาจจะมีโชคช่วยด้วยระดับหนึ่ง เพราะว่าต้นไม้ทุกต้นกำลังโตและอยู่ในช่วงที่ตลาดกำลังต้องการอยู่พอดี ยังคงต้องศึกษาเรียนรู้ไปอีกเรื่อยๆ คิดว่าตนเองมาถูกทาง เพราะเป็นทางที่ชอบจริงๆ เพราะเป็นคนชอบต้นไม้ชอบสีเขียวชอบธรรมชาติ ถือว่าการดึงธรรมชาติเข้ามาหาตนเองนั้น คิดว่าหลายๆ ท่านก็คิดแบบนี้ การเริ่มต้นไม่มีคำว่าสาย

ปลูกอย่างไรให้สวยสมบูรณ์

อะโลคาเซียนิยมปลูกลงในกระถางและควรใช้วัสดุแห้งแต่มีความชื้นในตัว สามารถระบายน้ำได้ดี เช่น ดินร่วนหรือดินที่มีส่วนผสมของเศษใบไม้ผุหรือวัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของหินภูเขาไฟและดิน จะช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้สวยงาม ด้านการบำรุงรักษา สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์เดือนละครั้ง หรือปุ๋ยสูตรละลายช้าประมาณ 3 เดือนครั้ง ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว อย่าลืมเช็ดถูใบอะโลคาเซียเพื่อความเงางามอยู่เสมอ และยังช่วยให้ใบสังเคราะห์แสงได้ดีขึ้นด้วย

ถ้าท่านที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุจิตรา เขียวหอม โทร. 089-669-1895 เฟซบุ๊ก Mymint chewchew เพจ : สวนของพ่อ เพจ: บ้านบอน Line ID: 089-6691895