อาชีพดาวรุ่ง รับซื้อขายหมากสด หมากแห้ง 100% ส่งต่างประเทศ พ่อค้ารับซื้อถึงที่ ไม่อั้น

ภาคตะวันออก นอกจากจะเป็นแหล่งผลไม้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองแล้ว ผล “หมาก” ยังเป็นพืชเศรษฐกิจ มีพื้นที่ปลูก 5,565 ไร่ คิดเป็น 15% ของประเทศ 4 อันดับจังหวัดที่ปลูกมากที่สุด คือ ฉะเชิงเทรา 2,879 ไร่ จันทบุรี 903 ไร่ ระยอง 888 ไร่ ตราด 826 ไร่ (สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง) หมากทำรายได้เงียบๆ ให้ประเทศปีละกว่า 5,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูก พ่อค้าที่รับซื้อ-ขายส่งให้พ่อค้าต่างประเทศ จีน อินเดีย พม่า เวียดนาม ดูไบ ที่มารับซื้อถึงบ้าน หมากนอกจากบริโภคแล้วยังเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง เส้นใย ทำสีย้อมแห ย้อมอวน สกัดทำยาสมุนไพร ยารักษาโรค ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 2-3 ปีราคาพุ่งสูงขึ้นทุกปี ทำให้เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะมีการปลูกเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นพืชแซมสวนผลไม้

คุณปุณยวัจน์ สุธาทิพย์ (ขวา)

คุณณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ อยู่บ้านหนองป่าหมาก หมู่ที่ 7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า มีอาชีพหลักทำสวนผลไม้ และหันมาทำอาชีพเสริมรับซื้อ-ขายหมากสด หมากแห้งมาเป็นปีที่ 5 โดยมีลูกสาว คือ “น้องหนิง” คุณจุฑามณี สุธาทิพย์ ที่ช่วยดูแลสวนอยู่ และลูกชาย “ดวงดี” คุณปุณยวัจน์ สุธาทิพย์ ที่เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2 กลับมาเรียนออนไลน์ที่บ้านเป็นผู้ช่วยเพิ่ม โดยเห็นว่าพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงมีหมากจำนวนมาก และเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างประเทศ ร้านหรือแผงรับซื้อรายใหญ่ๆ ยังมีไม่มาก มีเครือข่ายพ่อค้ารายย่อยที่จะรับซื้อจากชาวบ้าน ทั้งหมากสุกและหมากแห้ง เพื่อทำหมากแห้งคุณภาพ 100% ขายให้พ่อค้าไทยที่ส่งออกและพ่อค้าต่างประเทศที่รับซื้อโดยตรง เช่น อินเดีย จีน พม่า เวียดนาม ดูไบ

คุณดวงพร เวชสิทธิ์

การทำหมากแห้งให้ได้มาตรฐาน 100% จะขายได้ราคาดีและมีลูกค้าเชื่อมั่นเป็นลูกค้าประจำ ราคาหมากแห้งในช่วง 2-3 ปีมานี้ตลาดมีความต้องการสูงทำให้ราคาตลาดดีมาก ตั้งแต่ช่วงก่อนถึงฤดูกาลในเดือนธันวาคม-มกราคม ปี 2564 ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท สูงกว่าปีที่แล้ว ราคา 35-40 บาท และราคาเฉลี่ยทั้งปี 60 บาทมีช่วงสั้นๆ ที่หมากขาดจะสูงถึง 100 บาท คาดว่าปีนี้ราคาเฉลี่ยน่าจะถึง 70 บาท

หมากพันธุ์พื้นเมือง
หมากแห้ง 100% คุณภาพดี

รับซื้อหมากสุก หมากแห้ง

ทำหมากแห้ง 100% ส่งออก

คุณณรงค์สิชณ์ หรือเรียกกันคุ้นชินว่า “รองเหล็ง” เพราะเคยเป็นรองนายก อบต.สองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่มาก่อน เล่าว่า ในการหาซื้อวัตถุดิบและการตลาดมีน้องสาว “น้องโอ๋” คุณทิพวรรณ สิทธิประสงค์ เป็นผู้ช่วยทุกด้าน หมากที่ซื้อมี 2 ชนิด คือ หมากสุกที่ซื้อมาจากชาวบ้านหรือพ่อค้ารายย่อยเป็นลูกๆ ตอนนี้ราคากิโลกรัมละ 10 บาท และหมากแห้งแกะเปลือกออกตากแห้งแล้ว ราคา 50 บาท แต่หมากแห้งที่รับซื้อมาต้องคัดเกรด และรับซื้อราคาต่างกันแบ่งเป็น 3 เกรด คือ เกรดคุณภาพ A กิโลกรัมละ 50 บาท หมากลาย 10-20 บาท เป็นหมากอ่อนไม่สมบูรณ์มีน้ำหนักเบา สีดำ และหมากเสียกิโลกรัมละ 5 บาท ที่เม็ดยังติดเปลือกไม่ร่วง หากชาวบ้านคัดคุณภาพดีเกรด A มา จะได้ราคาดี ถ้ามีหมากเสีย หมากลายปะปนเล็กน้อยจะรับซื้อราคาถัวเฉลี่ย 48 บาทลงมา ซึ่งต้องนำมาคัดแยกออกให้หมด ทั้งหมากสุกและหมากแห้งที่รับซื้อต้องผ่านกระบวนการตากแดด อบแห้ง คัดไซซ์ เพื่อสร้างสินค้าคุณภาพ 100% ให้พ่อค้าส่งออกที่มารับซื้อเชื่อมั่น ให้ราคาดีและซื้อสินค้าของเราต่อเนื่อง

สต๊อกหมากแห้ง
ตากหมากสด

หมากภาคตะวันออก ลูกใหญ่กลม สวย เนื้อมาก

ได้ราคา สต๊อกแต่ละปี 60-80 ตัน

คุณณรงค์สิชณ์ เล่าว่า หมากภาคตะวันออกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นบ้าน ลักษณะลูกใหญ่กลม สวย เนื้อมาก เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศได้ราคาดี ต่างจากหมากจากภาคอีสาน หรือหมากอินโดนีเซียลูกเล็กกว่าและออกสีดำๆ ราคาจะต่ำกว่า 10-15 บาทต่อกิโลกรัม หมากภาคอีสานจะลูกเล็กกว่าราคาต่ำกว่า 5-10 บาท พ่อค้าที่รับซื้อบางรายนำมาผสมปะปนกัน การทำหมากแห้งนั้นต้องเน้นคุณภาพให้แห้ง 100% ปลอดภัยไม่มีมอด ใช้เครื่องคัดขนาด 3 ไซซ์ เล็ก กลาง ใหญ่ ให้ตรงกับความต้องการของพ่อค้า

คัดคุณภาพ

ซึ่ง ลูกชาย “ดวงดี” ลูกสาว “น้องหนิง” ช่วยดูแลกัน ทำเพจ เฟซบุ๊ก เพื่อทำการตลาดในโซเชียล ทั้งรับซื้อและขายให้พ่อค้าส่งออกและพ่อค้าต่างประเทศ มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ให้เห็นกระบวนการทำหมากแห้งคุณภาพ 100% การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับพ่อค้าต่างชาติให้รู้จักและติดต่อกลับมา ได้ผลดีมีพ่อค้าต่างประเทศจะติดต่อขอเข้ามาดูสินค้า เสนอราคาก่อนมีออเดอร์ ปีนี้ตลาดมีความต้องการสูงทำให้ราคาตลาดดีมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ และน่าจะราคาดีขึ้นเมื่อถึงฤดูกาลเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ตอนนี้ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท สูงกว่าปีที่แล้วราคา 35-40 บาท และราคาเฉลี่ยทั้งปี 60 บาท คาดว่าปีนี้น่าจะถึง 70 บาท เพราะมีการขายหมากสด หมากเขียวกันมาก ปริมาณหมากแห้งน่าจะน้อยกว่าปีก่อน

ส่งจำหน่าย
เครื่องคัดขนาด

“การรับซื้อหมากแห้งมีทั้งหมากรายวันซื้อมาขายไป กับรับซื้อสต๊อกเก็บไว้แต่ต้องไม่สต๊อกข้ามปีเพราะจะมีมอดกิน มีพ่อค้าที่ติดต่อซื้อขาย 8-10 ราย ส่วนใหญ่ออเดอร์คนละ 4-10 ตัน ประมาณ 2 หรือ 4 สัปดาห์ครั้ง สต๊อกที่มีอยู่จะขายหมุนไปหมดทุกปี ปีที่แล้วสต๊อก 60-80 ตัน บางปีถึง 100 ตัน ดังนั้น ต้องใช้เงินหมุนเวียนแต่ละปีประมาณ 5 ล้านบาท” คุณณรงค์สิชณ์ กล่าว

หมากแห้งที่ชาวบ้านนำมาขาย กิโลกรัมละ 48 บาท
หมากเสียคัดออก

แนวโน้มราคาดี

เกษตรกรปลูกเพิ่มแซมผลไม้สร้างรายได้

คุณณรงค์สิชณ์ กล่าวว่า หมากในภาคตะวันออกเป็นพันธุ์พื้นบ้าน ต้นสูง 10-15 เมตร ผลผลิตปริมาณน้อยเพราะส่วนใหญ่ปลูกพืชแซมเป็นผลพลอยได้ น่าส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ตอนนี้เกษตรกรสนใจปลูกเพิ่มขึ้น มีการขายพันธุ์การเก็บลูกจากต้นพันธุ์ดีๆ ขายลูกละ 1.50-2 บาท และเพาะกล้าพันธุ์ชำต้น ต้นละ 10-15 บาท ขายเฉพาะต้นพันธุ์ 5 บาท ตอนนี้ทางเวียดนาม กัมพูชา เริ่มนำไปปลูกกัน และมีพ่อค้าเวียดนามมาซื้อหมากดิบและหมากสุกไปแกะเปลือกขาย

ลูกค้าประจำ

ด้าน คุณดวงพร เวชสิทธิ์ เกษตรกร อำเภอคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปลูกหมาก 3,000 ต้น แซมในสวนมังคุดพื้นที่ 30 ไร่ ทยอยปลูกเรื่อยๆ 3 รุ่นเพราะเห็นว่าราคาดีและไม่ต้องดูแลมาก รุ่นที่ 1 ให้ผลผลิตไปแล้วเมื่อ 2 ปีแล้ว และรุ่นที่ 2 จะให้ผลผลิตปีนี้ และที่เหลือ 1,500 ต้น อีกประมาณ 2 ปีจะให้ผล รุ่นแรกๆ ไม่ได้คัดเลือกพันธุ์เพราะไม่มีความรู้ รุ่นหลังๆ เลือกพันธุ์ลูกใหญ่เนื้อเยอะ 3 พันธุ์ คือ หมากเวียดนาม (ลูกเขียว) พันธุ์พื้นบ้านหรือตูดแตก และพันธุ์ 5 ดาว ส่วนหมากเตี้ยไม่นิยมกันเพราะลูกไม่ดก

หมากสด หรือหมากสุก

ช่วง 6 เดือนหมากจะทยอยออกตัดขายได้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเดือนมกราคม-มีนาคม ตัดหมากเขียวหรือหมากเวียดนามที่ส่งออกรับประทานผลสด ส่วนใหญ่ส่งไต้หวัน ช่วงที่ 2 เดือนที่ 3-4 มีนาคม-เมษายนหมากเหนียวหรือเขียวหน้าเต็มเนื้อแข็ง และช่วงที่ 3 เดือนที่ 5-6 พฤษภาคม-มิถุนายนหมากแดงหรือหมากสุก ช่วงปี 2563-2564 ราคาหมากแดงหรือหมากสุกดีมาก กิโลกรัมละ 4-5 บาท ปี 2564 ขึ้นมา 9-10 บาท เคยสูงถึง 20 บาท ราคาหมากเหนียว หมากแดงจะราคาใกล้เคียงกัน สลับราคาสูงบ้างต่ำกว่ากันบ้าง หมากเวียดนามราคากิโลกรัมละ 70 บาท และมีบางช่วงเพิ่มขึ้นสูงสุด 80 บาท และที่สวนขายหมากสุกทั้งหมดกิโลกรัมละ 8-10 บาท เพราะไม่มีแรงงานทำหมากแห้ง

เตาอบ

“ภาคตะวันออกมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น มีความเหมาะสมปลูกหมาก แต่ยังปลูกกันน้อยเมื่อเทียบกับภาคใต้ ควรส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเพิ่มพื้นที่การปลูก ให้ความรู้การทำคุณภาพ การพัฒนาสายพันธุ์ เพิ่มผลผลิต และส่งเสริมให้มีการลงทุนใช้นวัตกรรมเพื่อแปรรูปหมากสดเป็นหมากแห้งลดขั้นตอนและระยะเวลา ซึ่งภาคตะวันออกมีช่วงฝนตกยาวนาน 7-8 เดือน” คุณอุดมพร กล่าว

ลานตากหมากแห้งก่อนนำไปอบ

เห็นอย่างนี้แล้ว “หมาก” คือพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ภาครัฐและเกษตรกรน่าจะกลับมามองและพัฒนาเพิ่มมูลค่ามากกว่าเพิ่มปริมาณเพียงอย่างเดียว

สวนหมากของคุณดวงพร เวชสิทธิ์

ทำหมากแห้ง 100%

คุณณรงค์สิชณ์ เล่าว่า หมากที่รับซื้อมี 2 ประเภท คือ หมากสุกและหมากแห้ง

ซึ่งหมากแห้งมี 2 อย่าง คือ หมากรายวันคือซื้อมาขายไปในแต่ละวัน ไม่ต้องเก็บไว้ในสต๊อก และหมากแห้งที่ต้องเก็บไว้ในสต๊อก ต้องทำหมากแห้งคุณภาพ 100% ถ้าหมากสุกต้องนำตากแดดเป็นหมากแห้งก่อน วิธีการทำมี 6-7 ขั้นตอน ดังนี้

1. การตากแดด นำหมากสุกที่รับซื้อมาเป็นลูกๆ ไปตากแดดไว้ 1 เดือนให้หมากแห้ง สังเกตได้จากการเขย่าลูก ฟังให้มีเสียงเม็ดหมากคลอน

2. การแกะเปลือกออก เพื่อนำเม็ดไปตากแดดต่ออีก 10 วัน เป็นหมากแห้ง ซึ่งตั้งแต่ขั้นตอนที่ 3 เป็นต้นไป หมากแห้งที่รับซื้อมาต้องทำเหมือนกัน

3. การอบแห้ง ใช้เตาอบ อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซียลเซียส 2 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมง รอบแรกพลิกกลับโดยถ่ายเตาอบอีกเตา 1 วันจะอบได้ชุดเดียวน้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน

4. การคัดไซซ์โดยเครื่องคัดเป็น 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ตามความต้องการของตลาด

5. การคัดคุณภาพด้วยมืออีกครั้ง เพื่อแยกระดับคุณภาพ 3 เกรด คือ เกรด A คุณภาพดีเยี่ยม หมากลาย หมากเสีย และ

6. การบรรจุกระสอบ กระสอบละ 52 กิโลกรัม เตรียมส่งขายให้พ่อค้าตามออเดอร์ หรือเทกองเก็บไว้ในสต๊อก

“หมากแห้งขั้นตอนทำจะน้อยกว่าหมากสุกๆ เมื่อนำทำหมากแห้งน้ำหนักจะหายไป 60% หมากแห้งน้ำหนักหายไป 20% ถ้าเป็นหมากรายวันซื้อมาขายไปน้ำหนักจะไม่สูญเสียแต่ต้องคัดเกรดให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่มีหมากลาย หมากเสีย ส่วนใหญ่ลูกค้าที่เป็นชาวบ้านมักแกะเปลือกตากแห้งมาเสร็จเพราะใช้เวลาว่างทำอยู่กับบ้านได้ เป็นรายได้ที่ดี เพราะหมากปลูกแล้วไม่ต้องดูแลมาก” คุณณรงค์สิชณ์ กล่าว