ขมิ้นขาว ผักสมุนไพรรสกลิ่น กินได้ใจ

ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ชาวบ้านเรามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่ได้ตามศักยภาพ และสถานภาพของแต่ละยุค แต่ละสมัย วิถีชีวิตแบบไทยๆ ไทยแท้ไม่มีใครที่จะสามารถแปรเปลี่ยนได้ ความเป็นสามัญไทยนั้น ฝังแน่น ฝังลึกในสายเลือด กระแสสังคม ค่านิยมโลกใหม่ เข้ามาสะกิดเปลี่ยนได้แต่เปลือกนอก และกับพวกชังชาติ พวกไม่ศรัทธาตนเอง แก่นแท้ของไทยแท้ ยังแข็งแรงแกร่งอยู่ อบอุ่นอยู่ในอ้อมกอดของ “ภูมิปัญญาไทย” ตลอดมา และคงตลอดไป เรายังมีศรัทธาในคุณค่าของสิ่งที่บรรพชนฝากส่งต่อไว้ให้ เป็นต้นว่า ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ของกินของใช้ สมุนไพรใกล้ตัว หัวว่านอัศจรรย์ พรรณไม้มงคล

พืชพื้นบ้านชนิดนี้ ชาวบ้านรู้จักกันมานานแล้ว เรียกว่า “ขมิ้นขาว” เป็นทั้งยาสมุนไพร เป็นพืชมงคล และเป็นพืชผักที่นิยมกินกันแพร่หลาย ขมิ้นขาว หรือ White Turmeric ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma Mangga Valeton & Zijp เป็นพืชในวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE มีชื่อเรียกกันตามคุณประโยชน์ที่ได้ ได้แก่ การเป็นพืชผัก เรียกว่า ขมิ้นขาว เป็นสมุนไพรรักษาโรค หรือใช้ในการมงคล เรียก ว่านม่วง หรือ ขมิ้นม่วง เป็นพืชหัว มีหัวใต้ดิน เป็นลักษณะที่เรียกว่าไหล หรือเหง้า หรือลำต้นใต้ดิน ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ประโยชน์ เจริญเติบโตได้รวดเร็วกับดินร่วนปนทราย ไม่ชอบที่มีน้ำขัง อายุเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ได้ 6-10 เดือน คนที่นิยมแบบอ่อนๆ ปลูก 4-5 เดือน ไม่ต้องรอต้นใบเหนือดินเหี่ยวแห้ง ก็ขุดตัดหัวใต้ดินมากินได้ หวาน กรอบ อร่อย รสหอมเผ็ดอ่อนๆ ถ้าปล่อยไว้ผ่านแล้ง ใบเหี่ยวแห้ง เหง้าหัวไหลใต้ดินจะเยอะมาก ต้นหนึ่งมากเป็นกิโลกรัมกว่าๆ บางต้นที่อยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น อยู่ข้างกำแพง ข้างตอไม้ จะถึงขั้นงอกต้นไหลโผล่บนดิน หรืออาจแทงทะลุไปถึงดินกระถางใกล้ๆ ก็มี เพราะฉะนั้นการปลูกต้องหาพื้นที่ดินที่โล่งกว้างๆ ให้เขาด้วย

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า “ขมิ้นขาว” ที่กล่าวถึงนี้ เป็นขมิ้นที่ใช้เป็นอาหาร ซึ่งขมิ้นขาวชนิดนี้จะมีต้น ใบที่สมบูรณ์ โตใหญ่กว่าขมิ้นชัน ใบมีลักษณะและกลิ่นคล้ายกัน แต่หัวและเหง้าหัวไหลจะโต สีขาวน่ากินมาก ส่วนขมิ้นชันหรือขมิ้นเหลืองจะมีหัวและแง่งเล็กๆ ขมิ้นขาวจะต่างกับ “ว่านขมิ้นขาวเสน่ห์” ซึ่งเป็นว่านที่เป็นของขลัง มีอานุภาพในด้านเมตตามหานิยมเข้มขลัง และคงกระพันชาตรี คุ้มครองอันตราย และคนละอย่างกับ “ว่านดอกทอง” ซึ่งทั้ง 2 ว่านต้น หัว หัวไหลจะเล็ก แกร่งแกร็นมากกว่า

ขมิ้นขาวเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ไม่ชอบที่ที่มีน้ำแช่ขัง ต้นเหมือนต้นขมิ้นชัน มีหัวกลมโต 2-3 x 4-5 เซนติเมตร เปลือกรอบหัวสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน มีรอยปล้อง มีปุ่มตา ที่พร้อมจะแตกตาหน่อหรือปุ่มรากมากมายรอบหัว มีรากหาอาหารออกมายาว แตกเหง้าไหลใต้ดินโต 2-3 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร ตาที่แตกเป็นหน่อจะพุ่ง กาบใบมีก้านใบยาวหุ้มต้น ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว แกนกลางสีเขียวอ่อน ใบรูปหอกหรือรูปรี ปลายใบและโคนใบแหลม เห็นเส้นใบชัดเจน ขนาด 12-15 x 30-40 เซนติเมตร ดอกมีก้านช่อแทงออกจากหัวใต้ดิน ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบประดับสีเขียวอมชมพู สวยงามมากทั้งทรวดทรงและสีสัน

ขมิ้นขาว 100 กรัม ประกอบด้วย กากใย 0.8 กรัม น้ำ 93.9 กรัม เถ้า 0.3 กรัม ให้พลังงาน 26 กิโลแคลอรี มีธาตุอาหารที่สำคัญคือ คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม โปรตีน 0.5 กรัม ฟอสฟอรัส 158 มิลลิกรัม เหล็ก 26 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.01 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 16 มิลลิกรัม ใช้เป็นผักสดกินคู่กับอาหาร เช่น น้ำพริก น้ำบูดู ปลาร้าสับ ยำ หลน กะปิคั่ว ใช้ปรุงเป็นอาหาร เช่น ยำกุ้งขมิ้นขาว ใส่ห่อหมกปลา ผัดปลา แกงไก่ แกงเนื้อ ฯลฯ

สรรพคุณทางสมุนไพร เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร ขับลม ลดการจุกเสียดแน่นท้อง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ ขับน้ำนมมารดา กระตุ้นการหลั่งน้ำดี รักษาโรคไข้ผอมเหลือง รักษาโรคผิวหนัง มีสาร Curcumin ที่มีคุณสมบัติกำจัดเชื้อหนอง อักเสบ มะเร็ง และเชื้อไวรัส รักษาโรคโควิด ที่เป็นภัยคุกคามคนไทยและคนทั่วโลกขณะนี้ได้ด้วย

“ขมิ้นขาว” เป็นที่นิยมกินของชาวปักษ์ใต้ รู้จักกันมานานแล้ว จนไม่ทราบถิ่นกำเนิด แต่สันนิษฐานว่า จะเกิดมาพร้อมๆ กับพืชในวงศ์ตระกูลเดียวกันกับขิง ข่า ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ซึ่งขมิ้นขาวถือว่าเป็นพืชมงคล เพราะสีสันที่ขาวบริสุทธิ์ เหมือนสีของไข่มุก เป็นสีที่บ่งบอกถึงความหวังดี ความปรารถนาดี ความบริสุทธิ์ใจ ที่ต่างมีให้แก่กัน ทรงต้นและดอกที่มีรูปทรงสีสันสวยงาม นำมาปลูกเป็นไม้กระถาง ตั้งวางไว้ทิศตะวันออกของบ้าน เป็นพืชมงคลที่มีมนตร์ขลัง เสริมบารมี ศักดิ์ศรี ความรัก เสน่หา เอื้ออาทร ความเจริญ ความยั่งยืน ให้แก่ผู้อยู่อาศัย ปลูกไว้ใช้ประโยชน์กันทุกบ้าน

แล้วเราจะสัมผัสได้ด้วยตนเอง ถึงความมหัศจรรย์ ความขลัง ปกป้องคุ้มภัยได้จริง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2565