คนตรัง เพาะเห็ดฟางง่ายๆ โดยใช้ทะลายปาล์มเหลือทิ้ง

“เห็ด” เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรนิยมเพาะปลูกเพื่อเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากใช้พื้นที่น้อย ดูแลค่อนข้างง่าย ราคาสูง อีกทั้งมีคุณค่าทางอาหารและโภชนาการสูง โดยมีปริมาณโปรตีนและเส้นใยสูง แต่มีไขมันต่ำ อย่างไรก็ตาม การเพาะเห็ดสามารถเลือกใช้วัสดุปลูกได้หลายชนิดซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีการปลูกปาล์มน้ำมันจำนวนมาก ดังนั้น การใช้ “ทะลายปาล์มน้ำมัน” จึงเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดได้ ซึ่งทะลายปาล์มเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากการสกัดน้ำมัน เกษตรกรสามารถหาได้จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่มีมากหรือใช้ทะลายปาล์มเปล่าในสวนปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ การเลือกใช้ทะลายปาล์มน้ำมันมาเพาะเห็ด เหมาะสมกับการหารายได้จากของที่มีอยู่ในท้องถิ่นในยุคที่เกิดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เกิดรายได้แก่เกษตรกร

ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยได้ถูกเลิกจ้างงานและเดินทางกลับภูมิลำเนาเข้าสู่ภาคการเกษตร ได้มีความสนใจเพาะเห็ดฟางด้วยทะลายปาล์มน้ำมันซึ่งใช้ระยะเวลาในช่วงสั้นก็สามารถให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

คุณสุบิน เกตุแก้ว เกษตรกรเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มน้ำมัน

คุณสุบิน เกตุแก้ว เกษตรกร หมู่ที่ 8 ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เผยว่า ตนเองเป็นเกษตรกรทำสวนยางพารา มีความสนใจเพาะเห็ดฟางด้วยทะลายปาล์ม ซึ่งพยายามค้นหาข้อมูลและคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการเพาะเห็ดจนได้ โดยได้มาลงมือทำด้วยตัวเองจนสร้างรายได้เดือนละ 5,000-8,000 บาทต่อเดือน

คุณสุบิน กล่าวว่า สภาพพื้นที่เราเหมาะสมหลายด้าน เช่น ทะลายปาล์มน้ำมัน หาได้ง่ายใกล้โรงงาน การขนส่งสะดวก และมีสวนปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วมากมาย นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่สวนยางพาราหรือสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นรอบการผลิตเห็ดฟาง ทำให้สวนยางและปาล์มโล่งเตียน และก่อให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์จำนวนมาก

แปลงเพาะเห็ด

คุณสุบินแนะนำการเพาะเห็ดฟางด้วยทะลายปาล์มให้แก่เกษตรกรที่สนใจ โดยมีขั้นตอนและวิธีการเพาะ ดังนี้

ขั้นที่ 1 การหมักทะลายปาล์ม ควรจัดกองทะลายปาล์ม สูงประมาณ 1.20 เมตร ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 5 กิโลกรัมต่อทะลายปาล์ม 1 คันรถสิบล้อ หว่านให้ทั่วหลังกอง แล้วฉีดน้ำที่มีแรงดันสูง ฉีดให้ทั่ว ประมาณ 15-20 นาที คลุมด้วยผ้าพลาสติกดำให้มิดชิด อย่าให้อากาศผ่านเข้า-ออกได้ วันที่ 3 เปิดผ้าพลาสติกดำ แล้วเก็บข้างกองขึ้นหลังกอง แล้วฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงอีกครั้งหนึ่ง แล้วปิดผ้าพลาสติกไว้เหมือนเดิม ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง ใช้เวลาหมัก 5-7 วัน ก็สามารถนำมาเพาะเห็ดได้

ขั้นที่ 2 การวางเรียงทะลายปาล์มบนแปลงเพาะ ใช้จอบพลิกหน้าดิน แล้วโรยปูนขาว เพื่อฆ่าเชื้อในดิน และปรับสภาพดิน นำทะลายปาล์มที่ผ่านการหมักแล้วมาวางเรียงในลักษณะทับเอน ให้หัวทะลายปาล์มอยู่ด้านล่าง จัดทะลายปาล์มให้กองสูง 20-30 เซนติเมตร ความกว้างของแปลง 75 เซนติเมตร (ขนาดประมาณ 3 ทะลาย) ความยาว 4 เมตรต่อร่อง เมื่อจัดทะลายปาล์มเสร็จแล้วให้ใช้น้ำที่มีแรงดันสูงฉีดพร้อมนวดทะลายปาล์ม จนกระทั่งน้ำที่ไหลออกมาจากกองเป็นน้ำใส และในการฉีดล้างเพื่อให้คราบน้ำมันทะลายปาล์มออกไปด้วย จะเห็นลักษณะกองจะเรียบ และสีของทะลายปาล์มจะซีดลง

ทะลายปาล์มน้ำมันเหลือทิ้ง

ขั้นที่ 3 การโรยเชื้อเห็ด คัดเชื้อที่มีคุณภาพ นำมายุ่ยก้อนเชื้อในภาชนะที่สะอาด โดยใช้เชื้อเห็ดประมาณ 3 ถุง (5 กิโลกรัมต่อถุง) ต่อร่อง (ยาว 4 เมตร) ในการเตรียมเชื้อเห็ดต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้ปนเปื้อน หรืออาจใช้อาหารเสริมผสมคลุกเคล้าเชื้อเห็ด อาหารเสริม 1 ถุง สามารถผสมในก้อนเชื้อ 10-12 ก้อน การโรยเชื้อ ให้หว่านห่างจากขอบแปลงเข้าไป 5 เซนติเมตร โดยหว่านให้รอบขอบแปลงก่อน แล้วหว่านให้ทั่วบนแปลง หลังจากนั้นใช้พลาสติกดำคลุมชิดติดกองไว้ 3 วัน เพื่อให้เส้นใยเห็ดเดิน

ขั้นที่ 4 การขึ้นโครง หลังจากคลุมพลาสติกดำชิดติดกอง 3 วันแล้ว วันที่ 4 ก็ให้ทำการขึ้นโครง โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก ขนาด 1 นิ้ว ยาว 2 เมตร ปักให้ห่างจากกองเพาะประมาณ 1 คืบ ระยะ 50 เซนติเมตรต่ออัน แล้วฉีดตัดเส้นใย โดยใช้น้ำ 20 ลิตร ปุ๋ยเกล็ด (ทุ่งเศรษฐี) 1 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลกลูโคส 1 ช้อนโต๊ะ ฉีดเป็นละอองฝอย (การฉีดแบบฉีดผ่านๆ ไม่ต้องให้โชก) หลังจากนั้นคลุมด้วยพลาสติกดำที่ใช้คลุมชิดติดกอง คลุมกองโดยดึงให้หลังกองตึง แล้วใช้ทะลายปาล์มเปล่า หรืออิฐวางทับให้รอบแปลงเพื่อป้องกันลมกระพือผ้าพลาสติก

ขั้นที่ 5 การดูแลรักษาแปลงเพาะ วันที่ 5, 6, 7 ให้เปิดระบายอากาศวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ครั้งละ 10-15 นาที ในช่วงอากาศร้อนให้เปิดผ้าพลาสติกหัวท้ายขนาดฝ่ามือเพื่อระบายอากาศ คอยสังเกตความชื้นบนกองเพาะให้ความชื้นพอหมาดๆ อยู่เสมอ ถ้าหน้ากองเพาะมีสภาพแห้ง ให้รดน้ำข้างกอง (แต่อย่าเปิดผ้ายางออก) กองเพาะค่อยๆ ดูดความชื้น เฝ้าระวังอย่าให้ลมกระพือผ้าพลาสติกคลุมกองออก ระวังสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่อาจเข้าไปทำลายแปลงเพาะ ประมาณวันที่ 9 และ 10 กองเห็ดเริ่มมีดอก และเก็บผลผลิตได้ในวันที่ 11, 12 ของการเพาะ

เห็ดฟางเตรียมจำหน่าย

คุณสุบิน กล่าวว่า การเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มน้ำมันให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วและคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยต้นทุนหลักการผลิตเห็ดฟาง 30 ร่อง ได้แก่ ค่าทะลายปาล์มน้ำมัน 1 คันรถหกล้อ 2,500 บาท ค่าหัวเชื้อเห็ด และอาหารเสริม 1,720 บาท ค่าผ้ายาง 1,590 บาท สรุปต้นทุนต่อรอบเท่ากับ 5,810 บาท โดยต่อรอบจะได้เห็ดฟาง 220-250 กิโลกรัม ทางคุณสุบินขายเห็ดฟางกิโลกรัมละ 50-55 บาท

สุดท้าย คุณสุบินแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจทำเกษตร ไม่ว่าจะปลูกพืชชนิดไหน ทำเกษตรต้องใส่ใจ ดูแล เรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งการเพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจ โดย “เพาะง่าย ใช้เวลาน้อย รายได้ดี”

หากใครสนใจการเพาะเห็ดฟาง สามารถติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอห้วยยอด โทร. 075-271-099

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565