54 ปี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสู่ TISTR 4.0

SONY DSC

จากโมเดล Thailand 4.0  เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง  มั่งคั่ง และยั่งยืน ของรัฐบาลนั้น ส่งผลให้ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องปรับระบบการทำงาน ให้ตอบรับกับสภาวการณ์บริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หรือ Thailand Institute of Scientific and Technological Research (TISTR) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้ดำเนินงานในเส้นทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศมาเป็นเวลารวม 54 ปี  มีนโยบายที่ชัดเจนและได้ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างการบริหารองค์กรใหม่   เป็นกลไกในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Thailand 4.0  และ TISTR 4.0 เพื่อให้มีความเหมาะสมคล่องตัวและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน นำไปสู่การผลักดันให้เกิดผลงานในมิติต่างๆ ด้วยการใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ช่วยเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนในกระบวนการผลิต  ดังนี้

7การให้บริการวิจัยและพัฒนายุค 4.0  ได้แก่  การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม  โดยการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมด้านเกษตร อาหาร สมุนไพร และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีกลไกการทำงานที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางด้วยการใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนให้แก่สินค้า

ทำการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตหุ่นยนต์ แขนกล ระบบการผลิต/การตรวจสอบอัตโนมัติ ที่มีความเฉพาะ (customization) สำหรับแต่ละสายการผลิต/การตรวจสอบมาตรฐาน และการผลิตพลังงานชีวภาพ/เคมีชีวภาพ (ไบโอดีเซล ไบโอมีเทน ไบโอเจท และไบโอเมทานอล)

รวมถึงการใช้กลไกของภาครัฐต่างๆ ได้แก่ คูปองนวัตกรรม, ITAP, STIM  หรือกลไกของ วว. เช่น STIM หรือ OTOP Product Champion โดยบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดต่างๆ ในการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการส่งเสริม/สนับสนุนผู้ประกอบการด้านแหล่งทุน การจัดทำรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่เหมาะสม ตลอดจนการสร้าง/ขยายตลาดของสินค้า ฯลฯ ด้วยกลไก TISTR & Friends ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น ตุ๊กตา เครื่องประดับ และของใช้จากเซรามิค และถุงมือผ้าเคลือบยาง ตัวอย่างเครื่องมือ เช่น แม่พิมพ์และโต๊ะพิมพ์ผ้าบาติก ตู้อบแห้งสมุนไพร เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ธนาคาร บริษัทไปรษณีย์ไทย และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยผลักดันผู้ประกอบการให้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้จะมีการจัดทำ Technology  Roadmap เพื่อชี้นำทิศทางนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนาให้ก้าวหน้าภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้แก่  โครงการ Food  Innopolis  การพัฒนาเครื่องจักรกลอาหาร  การเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ (เพื่อช่วยลดต้นทุนการปลูก เพิ่มผลผลิต) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างครบวงจร  การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยทั้งในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองตามมาตรฐานสากล  การทดสอบ Biocompatibility ของเครื่องมือแพทย์ได้ครบวงจรแห่งเดียวของประเทศ

Advertisement
SONY DSC

รวมทั้งดำเนินงานโดยตรงด้านวิจัย พัฒนา บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ  และกลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ทั้งในลักษณะรายอุตสาหกรรมตามความต้องการของภาคเอกชน/อุตสาหกรรม หรือเชิงพื้นที่ เช่น Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ที่อยู่ระหว่างพัฒนาตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การสำรวจ/การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน/โรงงาน/อุตสาหกรรมต่างๆ การผลิตพลังงานทดแทนจากของเสีย/วัสดุเหลือทิ้ง/น้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม การผลิตวัสดุเพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้ง การพัฒนาวัสดุเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ

7การให้บริการภาคอุตสาหกรรมยุค 4.0  ได้แก่  การทดสอบอาหารนวัตกรรม  วว. โดย  ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ให้บริการการทดสอบด้านอาหารมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ วว. ทดสอบอาหารนวัตกรรมด้วยวิธีวิเคราะห์ทดสอบตามมาตรฐานสากล  มาตรฐาน มอก.  และมาตรฐาน codex ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ(functional food) อาหารใหม่ (novel food) ส่วนผสมหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร (Food ingredient) วัสดุสัมผัสอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารทางการเกษตร  นอกจากนี้ยังทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการแก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิตเพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0

Advertisement

วว. โดย ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ศพว. มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในห่วงโซ่คุณภาพ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการพัฒนาด้าน Thailand 4.0 โดยการเพิ่มขีดความสามารถด้วยการปรับตัวให้เป็น “โซลูชั่นทั้งหมดสำหรับการทดสอบวัสดุและการบริหารความเสี่ยง” โดยมีเป้าหมายในการให้บริการของ ได้แก่  การให้บริการทดสอบ ด้วยเครื่องมือร่วมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยใช้ไอทีมาช่วย เพิ่มความรวดเร็วในการบริการ โดยสามารถให้บริการกระบวนการทดสอบที่เป็นเฉพาะความต้องการ (customized) สอดรับกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การให้คำปรึกษาด้านการออกแบบการทดสอบและการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรม  โดยงานบริการที่มีความชำนาญ ได้แก่ การวิเคราะห์ความเสียหาย  การตรวจสอบแบบไม่ทำลาย ด้วยวิธีต่างๆ การประเมินอายุการใช้งานที่เหลือ การทดสอบการกัดกร่อน การทดสอบการสึกหรอ การตรวจสอบหม้อน้ำและภาชนะรับความดัน และการให้บริการด้าน Risk Based Inspection (RBI) / Risk Base Maintenance (RBM)

นอกจากนี้ยังมุ่งเป็นแหล่งข้อมูลทางการทดสอบตั้งแต่ต้นน้ำ (วัตถุดิบ) จนถึงปลายน้ำ (ผู้ใช้) การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคอกชน ในการสร้างเครือข่ายการวิเคราะห์ทดสอบที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร  รวมทั้งการเพิ่มทักษะของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมโดยผ่านการอบรมเทคโนโลยีหลักสูตรต่างๆ ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง เพื่อเปลี่ยนจาก Traditional SMEs ไปสู่การเป็น Smart  Enterprises

บริการบำบัดทางชีวภาพสำหรับแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืช    การตกค้างของสารเคมีอันตรายในสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศในโลก สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชหลากหลายชนิดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงการปนเปื้อนของสารเหล่านี้ในน้ำทิ้งจากโรงงานผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย แม้ว่าจุลินทรีย์ในพื้นที่จะสามารถย่อยสลายสารเคมีอันตรายได้บางส่วนแต่ก็ไม่สามารถย่อยสลายได้หมดในระยะเวลาอันสั้น วว. โดย ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีการบำบัดทางชีวภาพ (Bioremediation) โดยการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมของกลุ่มจุลินทรีย์ในการลดปริมาณและความเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนในน้ำ สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในพื้นที่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ เป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน

งานวิจัยด้าน Intelligent  packaging  วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) กำลังดำเนินการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ฉลาด (Intelligent  packaging)  2 โครงการ คือ โครงการบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความหืนอาหารทอดน้ำมันท่วม เป็นการพัฒนาอินดิเคเตอร์เพื่อใช้วัดระดับความหืนของอาหารทอดน้ำมันท่วมซึ่งได้แก่ทุเรียนทอด  โดยอินดิเคเตอร์ที่พัฒนาขึ้น สามารถใช้งานง่ายจากการเปลี่ยนแปลงสีได้เมื่อทำปฏิกิริยากับสารเมทาบอไลท์ที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันซึ่งเป็นสาเหตุของความหืนของอาหารทอด  โครงการวิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ฉลาดบ่งชี้ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยเพื่อการส่งออก โดยพัฒนาอินดิเคเตอร์เพื่อตรวจสอบปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เหลือตกค้างบนผิวลำไย เมื่อก๊าซระเหยสัมผัสกับอินดิเคเตอร์ ปฏิกิริยาบนอินดิเคเตอร์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสี

วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ยกระดับห้องปฎิบัติการเป็น Smart Integrative Test Laboratory โดยใช้เทคโนโลยีสาระสนเทศในการให้บริการงานทดสอบด้านระบบรางอย่างมีมาตรฐานในระดับสากล ครอบคลุมวัสดุและผลิตภัณฑ์ในงานโครงสร้างทางและตัวรถไฟ

การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการรับรองผลิตภัณฑ์และบริการ   วว. โดยสำนักรับรองระบบคุณภาพ ขยายขอบข่ายการบริการตรวจประเมินและให้การรับรองผลิตภัณฑ์และบริการด้านบริการการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เกษตรตามหลัก GAP (Good agricultural practice)และ เกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture) ที่มีการดำเนินงานสอดคล้องตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล ISO/IEC 17065 เพื่อการให้บริการแบบครบวงจรทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และบริการทั้งต่อผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้า

“54 ปี วว.” พร้อมนำพาองค์กรสู่ Thailand 4.0  และ TISTR 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุน ส่งเสริมและผลักดันให้ก้าวสู่ “องค์กรชั้นนำระดับอาเซียนในด้านการวิจัย พัฒนา และบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”