วช. ผนึก ม.หาดใหญ่ พลิกฟื้น “ป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา” เสริมระบบนิเวศ และอาชีพยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ดูผลสำเร็จโครงการ “การจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ” ของนักวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ช่วยชุมชนดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ โดยพึ่งพิงธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีขนาดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 8,729 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทะเลสาบ พื้นที่ 1,042 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีระบบนิเวศลักษณะเฉพาะตัวแบบ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่เนื่องจากการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกในปัจจุบัน ทะเลสาบสงขลาจึงถูกคุกคามอย่างรุนแรง มีการใช้ประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน

นักวิจัยและหน่วยงานในพื้นที่ จึงได้นำนโยบายและยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ มาต่อยอดปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ลงพื้นที่ทำข้อตกลง MOU ระหว่างเทศบาลตำบลชะแล้ และ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย เช่น กลุ่มชุมชนรักษ์ชะแล้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (เกาะยอ) โรงเรียนวัดชะแล้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรม สร้างการรับรู้และตระหนักในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง สู่การลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้แนวคิด “บางเหรียงโมเดล” ผ่านการปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสาน

ซึ่งแต่เดิม พื้นที่ตำบลชะแล้ส่วนหนึ่งไม่สามารถปลูกพืชใดๆ ได้ เนื่องจากเป็นป่าพรุ ดินจึงมีลักษณะเปรี้ยว นักวิจัยจึงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสาน โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้แต่ละชนิดที่เหมาะสมกับสถานที่ เตรียมกล้าไม้เพื่อเพาะชำอย่างเหมาะสม ลงปลูกอย่างถูกวิธี และดูแลบำรุงรักษา โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน เช่น การทำไม้ไผ่กันลม การรณรงค์ร่วมกันเก็บเศษขยะทิ้งออกจากพื้นเป็นระยะๆ พร้อมทั้งอบรมให้ชุมชนกำจัดหนอน หอย หรือสัตว์ที่ทำลายพันธุ์กล้าป่าชายเลน อนาคตยังมองแนวทางที่จะพัฒนาให้ป่าชายเลนริมทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้วิถี “โนด นา ป่า เล” และเป็นแหล่งเพาะลูกกุ้ง ลูกปลาที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย

“พันธุ์กล้าไม้ที่ทีมวิจัยและชุมชนร่วมกันปลูกในโครงการนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่ ต้นจิก ตีนเป็ดทะเล จาก หยีน้ำ สารภีทะเล เสม็ดขาว และโกงกางใบเล็ก จำนวน 3,650 ต้น ซึ่งต้องดูผลลัพธ์ต่อไปอีก 4-5 ปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเกิดผลพวงจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากขึ้นแล้ว อาทิ ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากกว่าแต่ก่อน ต้นเสม็ดที่ปลูกมาแล้ว 2-3 ปี ออกดอกให้เกสรเป็นอาหารชั้นดีแก่ผึ้งชันโรง ซึ่งชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีแนวโน้มจะเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้จำนวนมากได้ เกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 3 กลุ่ม การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนวัยใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้เกิดการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนชะแล้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ผู้สนใจ และสามารถส่งต่อเป็นโครงการให้แผนพัฒนาตำบลต่อไปได้ โดยกลุ่มคนในท้องถิ่น และทีมวิจัยยังคงร่วมกันปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาคีชุมชนที่เข็มแข็งขึ้น ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความหวงแหนและพึ่งพิงธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.นุกูล กล่าว