ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จันทบุรี ปลูก-ส่งออกพลู ตลาดไต้หวัน ทำเงินแสน

เกษตรกรรุ่นใหม่ หัวใจรักการเกษตร มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการบริหารจัดการ สามารถต่อยอดเป็นผู้ประกอบการและผู้นำการเกษตรได้ ตามโครงการ Young Smart Farmer (YSF) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสบความสำเร็จในหลายๆ จังหวัด สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะของสังคม เศรษฐกิจ แม้กระทั่งยุคของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกษตรกรรุ่นใหม่ ลูกหลานของเกษตรกรที่มีความรู้ ประสบการณ์ ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด นำความรู้อาชีพของรุ่นพ่อแม่มาประยุกต์เป็นอาชีพใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น แตกต่างจากวิถีเดิมๆ คุณจุรียพร วงษ์แก้ว หรือ คุณตั๊ก เจ้าของ บริษัท ใบพลู เฮอร์เบิล จำกัด หนึ่งในผู้นำเกษตรกรกลุ่ม YSF ของอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี พัฒนาการปลูกพลูและต่อยอดเป็นผู้ประกอบการส่งออกตลาดไต้หวัน ได้เล่าถึงกระบวนการปลูก การผลิต และธุรกิจใบพลูส่งตลาดไต้หวัน ด้วยประสบการณ์ที่สร้างสมมา 7-8 ปี

ใบพลูขนาดใหญ่
ใบพลูสวย สีเขียว มัน ไม่มีจุดด่าง

ปลูกพลูทางรอดใหม่ ปัญหาช้างป่าบุกรุก ราคายางตกต่ำ

บรรจุกล่องโฟม ส่งเครื่องบิน
คัดไซซ์

คุณจุรียพร วัย 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53/1 หมู่ที่ 15 บ้านคลองใหม ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า หลังจากจบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ได้ทำงานในสถานศึกษาก่อนจะหันมาทำอาชีพเกษตรเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ด้วยใจรักและเป็นลูกเกษตรกรชาวสวน พ่อแม่ทำสวนยางพารา แต่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ และในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมวมีช้างป่าบุกรุกสวนผลไม้และทำอันตรายกับคนกรีดยางพาราตอนกลางคืน จึงสนใจจะปลูกพลูเป็นอาชีพใหม่อย่างจริงจัง ได้ไปเรียนรู้ลงมือปลูกพลูและการจัดการด้านตลาดกับเพื่อนที่ภาคใต้ 1 ปี พร้อมกับการไปดูงานที่ไต้หวัน จนกระทั่งแน่ใจว่าพลูจะเป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างอาชีพใหม่ได้ จึงตัดสินใจโค่นสวนยางพารา 15 ไร่ ทำแปลงปลูกพลูเป็นพืชเชิงเดี่ยว เริ่มจากทดลอง 1 ไร่ ขยายเป็น 2-3 ไร่ และในปัจจุบันมี 8-9 ไร่ และรวมกลุ่มชาวสวนรุ่นใหม่ YSF ปลูกพลูเพื่อการส่งออก สร้างโรงงานที่ทำแพ็กกิ้งส่งออก ทำให้ชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่ามีงานทำมีรายได้

“จังหวัดจันทบุรี อำเภอแก่งหางแมว ภูมิประเทศติดกับภูเขา ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกับภาคใต้ มีโรคและแมลงค่อนข้างน้อยการจัดการง่าย สามารถปลูกเป็นพืชหลักเชิงเดี่ยวและปลูกแซมได้ในสวนยางพารา สวนพริกไทย รอบๆ บริเวณบ้านได้เป็นรายได้เสริมและน่าจะแก้ปัญหาการบุกรุกและอันตรายจากช้างป่าได้ เพราะใบพลูเมื่อนำมาขยี้มีกลิ่นฉุน แสบร้อนของน้ำมันหอมระเหย ใบมีรสเผ็ด ช้างป่าน่าจะไม่ชอบ และไม่เคยมีช้างป่าบุกรุกเข้ามาในแปลงพลู” คุณจุรียพร กล่าว

หมาก พลู ที่ไต้หวันนิยมกิน

พลูปลูกง่าย ลงทุน 30,000-50,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 6 เดือนได้ทุนคืน   

ส่งตลาดไต้หวัน

คุณจุรียพร อธิบายว่า พลูที่ปลูกใช้พันธุ์พัทลุงเป็นพันธุ์ไต้หวันผสมกับพลูทางใต้ที่ตลาดไต้หวันต้องการ ลักษณะใบสีเขียวเข้ม รสชาติไม่เผ็ด หวานกว่าพลูไทย การปลูกพลูจะปลูกเป็นพืชแซมสวนยาง สวนพริกไทย หรือรอบๆ บ้านเป็นรายได้เสริมก็ได้ แต่ถ้าปลูกเป็นอาชีพหลักพืชเชิงเดี่ยว มีขั้นตอนหลักๆ 5-6 ขั้นตอน

1. การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมควรเป็นที่สูง ไม่เป็นที่ชื้นแฉะ น้ำขัง และอากาศร้อนชื้น และตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานแพ็กกิ้ง เพราะเก็บแล้วต้องนำมาแพ็กกิ้งเพื่อให้ใบสดๆ

2. การเตรียมดิน ถ้าพื้นดินราบหรือที่ต่ำควรยกร่องดิน การปลูกระหว่างร่องระยะห่าง 1 เมตร ในร่องปลูก 2 แถวคู่ ระยะห่างระหว่างต้น 1 เมตร ระหว่างแถว 1.5 เมตร ใช้เสาปูน เสาไม้ หรือไม้ไผ่ ปักให้ยอดพริกไทยพัน ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ให้น้ำได้กระจายหัวละ 4 ต้น และใช้ซาแรนสีดำขนาด 50%, 60%, 70% คลุมแปลงต้นพริกไทยลดความร้อนจากแสงแดด

3. การปลูก ยอดพริกไทยที่ตัดมาปลูกแช่น้ำไว้ก่อน 25 วันให้แตกราก ทำโคนพริกไทยใช้ปุ๋ยคอกหมักปักเสา เมื่อปลูกได้ 1 เดือนยอดพริกไทยจะเติบโตแข็งแรงพอที่พันรอบค้างไม้ได้ ใช้เชือกมัด และเมื่อยอดแตกพันยาวขึ้นไปยอดเสาต้องคอยมัดเป็นระยะๆ ให้ยอดสูงประมาณ 3 เมตร ไม่ให้สูงเกินไปจะเก็บลำบาก

4. การให้น้ำ เปิดสปริงเกลอร์ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที ถ้ามีฝนตกดินชื้นเว้น 2 วัน ให้ 1 ครั้ง

5. การเก็บเกี่ยว เมื่อพลูอายุ 1 ปีจะเก็บใบได้ จะใช้แรงงานในชุมชนเก็บเกี่ยวด้วยมือ เลือกเก็บใบเขียวๆ ไม่มีจุด ที่เป็นเกรด 2 เช่น ใบกรอบ แก่ มีจุดเลือกออกส่งขายให้พ่อค้าที่ฉะเชิงเทราทำ “ใบพลูนาบ” (นาบในกระทะร้อนๆ) ส่งออกอินเดีย บังกลาเทศ กิโลกรัมละ 30 บาท และ

6. การแพ็กกิ้ง ควรทำในห้องแอร์หรือที่ร่มเพื่อให้ใบสด สีสวย ถ้าส่งทางเครื่องบินใช้กล่องโฟมบรรจุวันเดียวถึง (จริงๆ 3 ชั่วโมง) ถ้าส่งทางเรือบรรจุใส่ตะกร้า 13 วันถึง

“ใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000-50,000 บาทต่อไร่ ต่างกันที่ใช้เสาปูนหรือเสาไม้ไผ่ เสาปูนจะใช้ได้นาน 10-15 ปี ถ้าเป็นเสาไม้ไผ่ถูก อายุการใช้งาน 3-4 ปีจะผุพัง ขึ้นอยู่กับต้นทุนของเกษตรกร นอกนั้นเป็นค่าพันธุ์ยอดละ 15-20 บาท ค่าปุ๋ยคอก พลูอายุ 1 ปีจะเก็บใบขายได้ไปถึง 10-15 ปี ให้ผลผลิต 300-500 กิโลกรัมต่อไร่ 1 เดือนเก็บได้ 3 รอบ (10 วันเก็บครั้ง) ใช้ระยะเวลา 4-5 เดือนไม่เกิน 6 เดือนจะได้ทุนคืน ตอนนี้ราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท บางครั้งสูงถึง 100 บาท 240-250 บาทแต่เป็นช่วงสั้นๆ ถ้าปลูกแซมมีรายได้ 1,000-2,000 บาทต่อเดือนพอเป็นค่ากับข้าว แต่ถ้าปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพหลัก 8-9 ไร่ จะมีรายได้เดือนละ 200,000-300,000 บาท เฉลี่ยไร่ละ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน” คุณจุรียพร กล่าว

ตัดขั้วด้วยกรรไกร
กล่องโฟมบรรจุ 12-15 กิโลกรัม ส่งเครื่องบิน

ปลูกเอง ขยายระบบเครือข่าย ตั้งบริษัทส่งออก

คุณจุรียพร เล่าว่า เมื่อได้ปลูกพลูอย่างจริงจัง สำนักงานเกษตรอำเภอแก่งหางแมวได้ส่งเสริมให้มีการปลูกพลู ในกลุ่ม Young Smart Farmer และสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้จัดอบรมทางด้านวิชาการ การตลาด และควบคุมไม่ให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสนับสนุนโครงการผู้ปลูกพลูแปลงใหญ่ ต่อมาได้แนะนำกับชุมชนให้ปลูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยขยายเครือข่ายในอำเภอแก่งหางแมว อำเภอคิชฌกูฏ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดที่อยู่ใกล้เคียง และที่จังหวัดนครปฐม โดยสร้างโรงงานแพ็กกิ้ง ที่อำเภอแก่งหางแมว และจังหวัดนครปฐม เมื่อปี 2561 ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ใบพลู เฮอร์เบิล จำกัด เพื่อส่งใบพลูไปตลาดต่างประเทศ  

เก็บพลู

ปัจจุบันได้ปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว 8-9 ไร่ มีเครือข่าย 30 ราย พื้นที่เป็นรวมๆ ประมาณ 60 ไร่ ผลผลิตประมาณ 300-500 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถจัดเก็บได้ 3 รอบ ใน 1 เดือน 10 วันต่อ 1 รอบ ได้ผลผลิตเดือนละ 3-4 ตัน ยังน้อยมาก ไม่เพียงพอกับบริษัทที่รับซื้อส่งออกไปตลาดไต้หวัน บริษัทรับซื้อต้องการให้ขยายพื้นที่เครือข่าย 200 ไร่ ผลผลิต 100 ตันต่อเดือน ซึ่งการขยายเครือข่ายทำได้ค่อนข้างยาก ต้องค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ได้ผล ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายด้าน เกษตรกรต้องมีใจรัก สภาพพื้นที่ภูมิอากาศเหมาะสม และระยะเวลาขนส่งไม่ไกล จากพื้นที่เครือข่ายเมื่อเก็บแล้วต้องนำมาทำแพ็กกิ้งที่โรงงานอำเภอแก่งหางแมว ถ้าปริมาณ 500 กิโลกรัมต้องทำให้เสร็จภายใน 5-7 วัน ก่อนเกษตรกรที่ร่วมเครือข่ายจะปลูกจะไปช่วยดูพื้นที่ นำพันธุ์ไปให้ปลูก การให้เครดิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเอง ตลอดจนการให้คำปรึกษาดูแล การเก็บใบ การทำแปลงที่ได้ใบรับรอง GAP เพื่อให้ผลผลิตได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก

หมาก พลู เป็นคำๆ ที่ไต้หวันกิน
แรงงานเก็บพลู วัย 60 ปีเศษ

ตลาดหลักไต้หวัน กิโลกรัมละ 80-100 บาท เคยพุ่งสูงถึง 250 บาท   

คุณจุรียพรกล่าวถึงตลาดรับซื้อใบพลู มีไต้หวัน อินเดีย ปากีสถาน และทางยุโรป แต่ส่งออกตลาดไต้หวันเป็นหลัก เพราะมีพ่อค้าไต้หวันทางใต้มาติดต่อทำตลาดทำสัญญาซื้อขาย แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอ ส่วนตลาดอินเดียมีความต้องการสูงเช่นกันระยะแรกๆ เคยส่งไปบ้าง กระบวนการส่งออกพลูมีหลักๆ 3 ข้อ คือ 1. คุณภาพใบพลูที่ส่งออก ใบต้อง “สีเขียวสวยมันเรียบ” ลักษณะใบไม่บิด เบี้ยว ไม่มีลาย จุด ไม่มีสีเหลือง 2. คัดขนาด 3 ไซซ์ ขนาดเล็ก 3-4 นิ้ว ขนาดกลาง 4-5 นิ้ว ขนาดใหญ่ 5-6.5 นิ้ว 3. การแพ็กกิ้ง ต้องนำมาราดน้ำก่อนให้สด คัดขนาด ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ซ้อนใบเรียงให้สวยงามแล้วตัดขั้ว บรรจุใส่กล่องโฟมน้ำหนัก 12-15 กิโลกรัม ส่งทางเครื่องบินและบรรจุตะกร้าน้ำหนัก 25-30 กิโลกรัม ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ส่งทางเรือ

การแพ็กกิ้งส่งออกแต่ละครั้งต้องไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม ซึ่งต้องเก็บและทำให้เสร็จภายใน 5-7 วัน ใบพลูที่จะส่งออกทางเรือ จะจัดส่งไปที่บริษัทขนส่งบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ที่จังหวัดนครปฐม ส่วนทางเครื่องบินส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิจะไปลงที่ไทเป ทางบริษัทตลาดไต้หวันจะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขนส่ง ช่วงราคาใบพลูแพงจะให้ส่งทางเครื่องบิน เวลาปกติจะส่งทางเรือ เมื่อถึงปลายทางจะกระจายให้ร้านค้าต่างๆ ไปทำแพ็กกิ้ง แบรนด์ของตัวเองขายให้ลูกค้า

คุณจุรียพร วงษ์แก้ว
ใบพลู เตรียมทำขั้นตอนแพ็กกิ้ง

“ใบพลูที่ส่งออก ร้านค้าต่างๆ จะทำขายคู่กับหมากเขียวเป็นคำๆ ใส่ไส้ช็อกโกแลต ดีปลีในหมาก คำละ 20-30 บาท บรรจุกล่องมีแบรนด์ของตัวเอง ราคากล่องละ 250-500 บาทหรือ 1,000 บาท กลุ่มผู้บริโภคจะเป็นผู้ชายกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน นิยมเคี้ยวหมากกันทั้งวัน หมากพลู 1-2 คำเหมือนดื่มกาแฟ 3 แก้ว หรือเครื่องดื่มชูกำลังจนเคยชิน เชื่อว่าทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า จะซื้อหมากพลูติดกระเป๋าเป็นกล่องเคี้ยวแล้วคายทั้งวัน ร้านค้าที่ขายเป็นห้องกระจกริมถนนใหญ่ ที่ผู้คนผ่านไปมาหรือไปทำงาน กลยุทธ์การขายมีผู้หญิงสาวๆ แต่งตัวโป๊ๆ คอยโบกมือเรียกลูกค้า ร้านไหนขายดีรถจะติดเป็นแถวยาว กลุ่มลูกค้าไต้หวันมีกำลังซื้อสูงเพราะค่าแรงขั้นต่ำวันละ 1,500 บาท นอกจากไต้หวันแล้วยังมีตลาดอินเดีย ปากีสถานที่อยู่ในโซนยุโรป ออสเตรเลีย ที่ต้องการใบพลูจำนวนมาก ส่วนใหญ่ตลาดอินเดียปลูกเองและนำเข้าจากศรีลังกา พม่าที่อยู่    ใกล้เคียงและรสชาติถูกใจมากกว่าแต่กลุ่มผู้บริโภคเป็นระดับชาวบ้านทั่วๆ ไปกำลังซื้อน้อยกว่าและไม่กว้างเท่าตลาดไต้หวัน

ห้องแพ็กกิ้ง
ใบพลูส่งออก

ช่วงปลายปีไต้หวันมีอากาศหนาว หิมะตก ปลูกพลูเองไม่ได้ ราคาจะสูงกิโลกรัมละ 80-100 บาท ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ราคาเดียวกัน ปี 2564 ช่วงสั้นๆ เคยสูงถึง 240-250 บาท และช่วงราคาต่ำที่ไต้หวันปลูกเองได้เดือนมิถุนายน-กันยายน ราคาเคยลดลงเหลือ 40 บาท ถ้าต่ำกว่านี้จะไม่คุ้มทุน ตอนนี้มีออร์เดอร์อาทิตย์ละ 4 รอบ รอบละ 500-1,000 กิโลกรัม แต่ทำได้แค่ 1-2 รอบ ประมาณเดือนละ 3-4 ตันเท่านั้น อนาคตใบพลูน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตา สนใจสอบถาม คุณจุรียพร วงษ์แก้ว โทร. 081-004-4699

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565